กำลังขยายวงเหมือน “ไฟลามทุ่ง” สำหรับกระแสท้วงติง คัดค้าน การยอมรับ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ JCPP ของคณะพูดคุยดับไฟใต้ฝ่ายรัฐบาลไทย ที่เพิ่งปิดจ๊อบจับเข่าคุยกับบีอาร์เอ็น เมื่อ 6-7 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่บีอาร์เอ็นเรียกร้อง เพื่อเดินทางตามแผนนี้ต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การ “เปิดประตูบ้าน” รับแกนนำบีอาร์เอ็นเข้ามาทำกิจกรรม โดยเฉพาะการเปิดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ (public consultation) ซึ่งรัฐบาลไทยต้องงดดำเนินคดีชั่วคราว และคุ้มครองแกนนำเหล่านั้น ระหว่างเข้ามาทำกิจกรรม โดยบางคนหรืออาจจะทุกคน อาจจะมีหมายจับในคดีความมั่นคงของกระบวนการยุติธรรมไทย
เมื่อเวทีเปิด ก็จะก้าวไปสู่ขั้นต่อไป คือ วางแนวทางหยุดยิง ตั้ง “มอนิเตอร์ทีม” และสร้างกรรมการอีกชุดมาแสวงหาทางออกทางการเมือง นั่นก็คือ “รูปแบบการปกครอง”
คณะพูดคุยฯ แสดงท่าทีมั่นใจว่า งานนี้จะเดินหน้าสู่สันติสุขแบบยั่งยืน ทุกด้าน (แบบองค์รวม ตามชื่อ JCPP) เพราะบีอาร์เอ็นแสดงท่าทีว่า ไม่ได้ล็อกคำตอบว่าต้องเป็น “รัฐเอกราช” แถมทุกกระบวนการอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย (แยกดินแดนไม่ได้)
แต่ “ผู้รู้ - กูรู” และนักสังเกตการณ์ปัญหาไฟใต้อีกมากมายหลายภาคส่วน กลับแสดงความกังวลว่านี่อาจเป็นการ “หลงเกมบีอาร์เอ็น” ก็เป็นได้ และอาจทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบในที่สุด เผลอๆ อาจร้ายแรงถึงเสียดินแดน หรือเสียอำนาจการปกครองบางส่วนไป
หนึ่งในผู้ที่ออกมาแสดงความเป็นห่วง ก็คือ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากคนทำงานด้านความมั่นคงทุกองคาพยพ
อาจารย์สุรชาติ เขียนบทความแสดงความเห็นต่อปัญหาการเจรจาภาคใต้ของหัวหน้าคณะฝ่ายไทย โดยแยกย่อยเป็น 21 ประเด็น เท่ากับจำนวนปีของปัญหาไฟใต้รอบใหม่นับถึงปัจจุบัน...
1) การเจรจาปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาทางยุทธศาสตร์ของไทย จึงต้องการการคิดในทางยุทธศาสตร์
2) การเจรจาต้องมีการกำหนดทิศทางทางยุทธศาสตร์ถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของรัฐไทย
3) การกำหนดนี้ต้องถือเป็นหัวข้อทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ต้องการความชัดเจน ไม่ใช่การกำหนดเองและ/หรือคิดเอาเองของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงที่เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือความคิดของหัวหน้าคณะผู้เจรจาอย่างเป็นเอกเทศ
4) รัฐบาลต้องตระหนักเสมอว่า ผลการเจรจาผูกมัดรัฐไทยในทางกฎหมาย การตั้งประเด็นหรือหัวข้อการเจรจาจึงเป็นเรื่องสำคัญ
5) ประเด็น/หัวข้อเป็นสาระสำคัญที่รัฐบาลจะต้องรับรู้และรับผิดชอบ
6) ไม่ชัดเจนว่าแผนที่ปรากฏนี้ รัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบหรือไม่
7) ถ้ารัฐบาลให้ความเห็นชอบจริง มีกระบวนการพิจารณาสาระในเชิงรายละเอียดหรือไม่ เพราะบางประเด็นมีความคลุมเครือที่อาจนำไปสู่การตีความที่อาจมีผลอย่างมีนัยสำคัญได้ในอนาคต
8) ถ้ารัฐบาลกรุงเทพฯ ไม่ได้รับรู้ถึงสาระที่ปรากฏในรายละเอียดของแผน ใครจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
9) ถ้ารัฐบาลไทยยอมรับต่อแนวทางในแผนนี้ รัฐบาลควรจะแถลงให้เกิดความชัดเจน
10) แต่ถ้ารัฐบาลไม่ได้เป็นผู้กำหนดแนวทางดังกล่าว การกำหนดที่เกินเลยจากความรับผิดชอบของคณะผู้เจรจาย่อมไม่ผูกพันต่อรัฐ
11) รัฐบาลกรุงเทพฯ จะต้องไม่ยึดติดกับความเชื่อว่า การเจรจาจะทำให้เกิดการหยุดยิง/หยุดความรุนแรงในพื้นที่ได้ทั้งหมด เพราะไม่เคยมีขบวนติดอาวุธใดในโลกยอมรับการหยุดยิง และ/หรือการลดการก่อความรุนแรงลงอย่างเป็นเอกภาพ แต่รัฐบาลจะต้องแสดงให้สังคมเห็นถึงขีดความสามารถในการควบคุมความรุนแรงในพื้นที่ให้ได้
12) ชัยชนะในสงครามก่อความไม่สงบได้มาด้วยความเหนือกว่าทางการเมือง ไม่ใช่การเป็นยอมเป็นฝ่ายที่อ่อนแอเพียงเพื่อให้อีกฝ่ายเห็นใจ และลดระดับความรุนแรงลง
13) ความเหนือกว่าทางการเมืองไม่ใช่เรื่องของอำนาจทางทหาร กองทัพภาคที่ 4 ไม่ใช่ปัจจัยของชัยชนะ และหลายครั้งที่การใช้อำนาจทางทหารเกิดอย่างไร้ทิศทาง และเป็นตัวสร้างปัญหา
14) การเจรจาทางการเมือง-ความมั่นคงเช่นนี้ ต้องเลิกเอาข้าราชการประจำที่หวังว่า ผลการเจรจาจะทำให้ตนขึ้นเป็นหมายเลข 1 ของหน่วยงานความมั่นคงในระดับสูง และต้องตระหนักว่า กรอบคิดแบบราชการไทยไม่แก้ปัญหาทางยุทธศาสตร์ของประเทศ
15) ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องไม่เอาการหยุดยิงเป็นข้อต่อรองสำหรับการเดินทางเยือนภาคใต้ของนายกฯ เพราะนายกฯ ควรได้เห็นสถานการณ์จริงในพื้นที่
16) การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องคิดด้วยมิติทางยุทธศาสตร์ และต้องกล้า “ล้างแปลงผักชีใหญ่” ของทหาร-พลเรือนที่ปลูกกันมานานในภาคใต้
17) การควบคุมการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย และการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงเป็นหัวข้อสำคัญ และรัฐบาลควรแสดงให้เห็นถึงการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่การสร้างความมั่งคั่งให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐบางคน ต้องล้างภาพความเป็น “เหมืองทองภาคใต้” สำหรับหน่วยราชการ และหน่วยงานความมั่นคงลงให้ได้
18) รัฐบาลต้องกล้าแสดงให้สังคมในพื้นที่เห็นถึงความจริงใจในการจัดการปัญหา และแสดงถึงความใส่ใจต่อปัญหาของมวลชนในพื้นที่ ไม่ใช่การการกล่าวถึงหลักการอย่างเลื่อนลอย เพราะฝ่ายตรงข้ามสามารถขยายงานการเมืองผ่านเงื่อนไขการเมืองในระบบรัฐสภาได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
19) สงครามก่อความไม่สงบลดระดับลงมาก แต่คำถามทางยุทธศาสตร์คือ อะไรคือยุทธศาสตร์ที่จะทำให้สงครามชุดนี้ลดระดับลงได้จริงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
20) ก้าวสู่ปีที่ 21 แล้ว รัฐไทยได้สรุปบทเรียนมากน้อยเพียงใด และจะใช้บทเรียนนี้ในการกำหนดทิศทางการเจรจาอย่างไร
21) ในปีที่ 21 ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไทยยัง “คิดเก่า-ทำเก่า” แล้ว สิ่งที่เกิดจะเป็นการสุมไฟในพื้นที่ไม่จบ
และการพูดคุยในสภาวะเช่นนี้ คือ การสร้างความเสียเปรียบบนโต๊ะเจรจานั่นเอง!