กลายเป็นกระแสวิจารณ์ขึ้นมาแล้ว สำหรับกระบวนการ “พูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” ตามที่ “ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา” รายงานเอาไว้
กระบวนการที่ว่านี้เรียกง่ายๆ ว่า “พูดคุยดับไฟใต้” ซึ่งคณะพูดคุยฯชุดใหม่ นำโดย นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. ไปเปิดโต๊ะ-จับเข่าคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 6-7 ก.พ.67 ที่ผ่านมา
เรื่องนี้จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นข่าวใหญ่โตอะไร เพราะระยะหลังข่าวที่ออกมาเมื่อพูดคุยกันจบที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ก็มีการออกมาแถลงและให้ข่าวคล้ายๆ เดิมว่ามีความคืบหน้าเรื่องกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะการเห็นชอบร่วมกันที่จะเดินหน้า “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติสุขแบบองค์รวม” ซึ่งใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษว่า JCPP
โดยการพูดคุยช่วง 1-2 ปีมานี้ เวลาคุยจบ ก็จะแถลงแนวๆ เดียวกันตลอด แต่สังคมยังมองไม่เห็นว่าสถานการณ์ไฟใต้จะดีขึ้นได้อย่างไร ทำให้ไม่ได้รับความสนใจมากนัก
แต่สำหรับการพูดคุยฯหนนี้ เมื่อเสร็จสิ้นและเข้าสู่กลางเดือน ก.พ. ปรากฏว่ามีข่าวจากทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็น “ทีวีสาธารณะของประเทศไทย” ได้มีการส่งผู้บริหารสถานีไปสัมภาษณ์แกนนำบีอาร์เอ็นคนหนึ่งที่ร่วมอยู่ในโต๊ะพูดคุย จากนั้นก็นำข่าวและบทสัมภาษณ์มาเผยแพร่ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ก็เป็นรายละเอียดของ JCPP นั่นเอง
และในเวลาต่อมามีการนำเอกสารเนื้อหาของ JCPP ที่เป็นภาษาอังกฤษ มาขยายต่อในสื่อแพลตฟอร์มต่างๆ ด้วย
รายละเอียดโดยสังเขปของ JCPP จะครอบคลุม 3 ประเด็น คือ
- การลดความรุนแรง ซึ่งก็คือ หยุดยิง ยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งสองฝ่าย
- การปรึกษาหารือสาธารณะ หรือที่เรียกว่า Public Consultation
- การแสวงหาทางออกทางการเมือง พูดง่ายๆ ก็คือ การหารือเพื่อกำหนด “รูปแบบการปกครอง” ที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่ายนั่นเอง
@@ คณะพูดคุยรับไม่ได้ “ข่าว 4 ไม่ 3 ลด 4 ยอม”
ปัญหามาเกิด เมื่อศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา และเนชั่นทีวี นำข้อสังเกตจากอดีตผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานดับไฟใต้รายหนึ่ง ซึ่งวันนี้ปฏิบัติหน้าที่ใน “วุฒิสภา” และได้สรุปสาระของ JCPP เอาไว้ให้เข้าใจง่ายๆ มาเสนอสู่สาธารณะ
โดยในข้อ 1 เรื่องการลดความรุนแรง มีเงื่อนไขให้ฝ่ายรัฐไทย “4 ไม่ 3 ลด 4 ยอม”
4 ไม่ คือ ไม่ปิดล้อม, ไม่จับกุม, ไม่ตรวจดีเอ็นเอ, ไม่ติดประกาศหมายจับ
3 ลด คือ ลดลาดตระเวน, ลดจุดตรวจ, ลดพื้นที่ พ.ร.ก.
4 ยอม คือ ยอมให้บีอาร์เอ็นเปิดเผยตัว, ยอมให้เข้าเมืองได้, ยอมให้จัดเวทีประชุมได้, ยอมปล่อยคนที่ต้องคดีความมั่นคงทั้งหมด
ส่วนฝ่ายบีอาร์เอ็น มีเงื่อนไขที่ต้องทำคือ : ไม่ก่อเหตุ / ไม่ขนย้ายอาวุธปืน และระเบิด / ไม่ยั่วยุปลุกปั่น และไม่ทำผิดกฎหมายอาญา
เมื่อข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าทางคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย ส่งข้อความแจ้งไปยังผู้สื่อข่าวของเนชั่นทีวีว่า เป็นข้อความบิดเบือน เพราะใน JCPP ไม่มีเงื่อนไขเรื่องการ “ปล่อยคนที่ต้องคดีความมั่นคงทั้งหมด” แต่อย่างใด
@@ เจาะเอกสาร JCPP ใครบิดเบือน?
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบการนำเสนอข่าวของสื่อที่ถูกระบุว่า “บิดเบือน” พบว่ามีการให้ข้อมูลเอาไว้อย่างชัดเจนว่า เนื้อหาที่นำมารายงาน และทำกราฟฟิกเพื่อให้เข้าใจง่าย มาจากการสรุปเองของอดีตผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานดับไฟใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็น สว.
โดย สว.ท่านนี้ ได้สรุปเนื้อหาจากเอกสาร JCPP ทั้งหมด ซึ่งมีหลายแผ่น และประเด็นเกี่ยวกับการปล่อยตัวผู้ที่โดนจับกุม หรือปลดหมายจับในคดีความมั่นคง ก็มีอยู่ในเอกสาร JCPP เพียงแต่อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการที่ทั้งสองฝ่ายตั้งขึ้นร่วมกัน จะต้องไปหารือกันต่อ
หากดูในไทม์ไลน์ จะอยู่ในช่วงเดือน ส.ค.ปีนี้เป็นต้นไป (กรณีไม่มีอะไรติดขัดหรือสะดุด)
เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อเรียกร้องนี้ของบีอาร์เอ็นมีมานานแล้ว และเป็นข้อเรียกร้องหลักมาโดยตลอด เคยเสนอบนโต๊ะพูดคุยมาหลายครั้ง หลายยุค ในอดีตเคยมีการปล่อยผู้ต้องหาคดีความมั่นคงบางคนเพื่อแสดงความจริงใจด้วย จึงไม่ใช่ประเด็นอ่อนไหวที่เพิ่งเสนอครั้งนี้เป็นครั้งแรก
@@ แห่เตือนระวังหลงเกม BRN - ชงวิปวุฒิแจ้ง กมธ.เร่งสอบด่วน
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจก็คือ ภายหลังมีการนำเสนอรายละเอียดของ JCPP ปรากฏว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยออกมาแสดงตัว และแสดงความเห็นจำนวนมาก
ที่เปิดตัวแล้วก็เช่น พล.อ.อกนิษฐ์ หมิ่นสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการกองข่าว กองทัพภาคที่ 4, นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองเลขาธิการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
ล่าสุดยังมีการส่งข้อความต่อๆ กันในกลุ่มของนักวิชาการ ผู้รู้ และคนทำงานภาคใต้ เช่น ข้อความนี้จาก นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา
“ข้อเสนอ BRN ดับไฟหรือสุมไฟ ฝากเตือนไปยังรัฐบาลนายเศรษฐาและหน่วยความมั่นคง งานนี้ถ้าไม่เท่าทัน ยอมรับข้อเสนอจากฝ่าย BRN ที่คณะเจรจารับมานี้ ได้คืบเอาศอก หรือคิดแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้แบบตื้นๆ แค่หวังสร้างผลงานแบบไร้สติ! คงจะเข้าทางฝ่ายตรงข้าม
ในขณะที่นักการเมืองบางพรรคเล่นเกมยุยงบ่อนเซาะในพื้นที่ ในการแบ่งแยกดินแดน และอาจเลยเถิดไปในวันหน้า ถึงขั้นเขตปกครองตนเองหรือประกาศรัฐเอกราชใหม่”
นายสมชาย ยังเรียกร้องให้ทบทวนและตรวจสอบเป็นการด่วน ทั้งยังให้ข้อมูลว่า ได้เสนอเรื่องเข้าวิปวุฒิสภา เพื่อให้คณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา ช่วยตรวจสอบ และแก้ไขเป็นการด่วน
@@ แฉยุทธศาสตร์ “แต่งตัวใหม่” ยกระดับเจรจาไทย
มีรายงานว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันนั้น สาเหตุที่ดูดีขึ้น สถิติความรุนแรงมีแนวโน้มลดลง เพราะบีอาร์เอ็นเดินมาถึงจุดที่มีการ “ปรับยุทธศาสตร์การต่อสู้” เรียบร้อยแล้ว
กล่าวคือ ในระยะแรก ใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ กดดันรัฐบาลไทย สร้างความขัดแย้ง สร้างให้เกิด “สถานการณ์ข้ดกันทางอาวุธ” หรือ armed conflict ภายในประเทศไทย เพื่อหวังให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซง และเปิดการเจรจา หรือเสนอทางเลือกให้ยุติปัญหาด้วยการทำประชามติแยกตัวจากรัฐไทย
แต่ด้วยความพยายามของการทำงานด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของไทย ทำให้เป้าหมายนี้ไม่บรรลุ ส่งผลให้บีอาร์เอ็นปรับแนวทางใหม่ ใช้การแต่งตัวใหม่ให้ดูดี และตัดสินใจเข้ากระบวนการพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย (เดิมเคยประกาศไม่เจรจา)
วิธีการแต่งตัวใหม่ ก็เช่น เข้าร่วมลงนามและยอมรับเงื่อนไขของ “เจนีวา คอล” (Geneva Call) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนอิสระ มีบทบาทในการสานเสวนากับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อส่งเสริมให้เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เช่น ห้ามกระทำรุนแรงต่อเด็ก, ห้ามการละเมิดทางเพศ, ห้ามใช้กับดักระเบิด เป็นต้น
@@ ลงนามฝ่ายเดียวปี 63 รับเงื่อนไขปกป้องเด็ก
เว็บไซต์ thierword.org ซึ่งเป็นสารบบของ Geneva Call เคยเผยแพร่การลงนาม เมื่อวันที่ 15 ม.ค.63 ในคำแถลงฝ่ายเดียวของขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มติดอาวุธในประเทศไทย ว่าด้วยการปกป้องเด็กจากผลกระทบของการขัดกันทางอาวุธ
Deed of Commitment หรือ คำแถลงคำมั่นฉบับนี้ ลงนามโดย Zaid Bin Fadhhil สมาชิกสภาผู้บัญชาการ และ Anas Hamka Bin Haji Abudul Rahman สมาชิกสภาการเมือง ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani (BRN) ซึ่งลงนามร่วมกับ Alain Deletroz ผู้อำนวยการใหญ่ Geneva Call และ Nichelle Righnetti ผู้ว่าการสาธารณรัฐฯแห่งเจนีวา
@@ ทำดี หรือ ซ่อนนัย?
การเข้าร่วม “เจนีวา คอล” แม้จะเป็นเรื่องดีที่การต่อสู้ด้วยอาวุธจะถูกควบคุมไม่ให้ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนมากเกินไป โดยเฉพาะเกี่ยวกับเด็ก แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจอ่านเกมได้ว่า บีอาร์เอ็นกำลังยกสถานะตนเองให้นานาชาติยอมรับ เพื่อยกระดับเป็น “คู่เจรจากับรัฐบาลไทย” และต่อรองเรื่องการปกครองพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้…ใช่หรือไม่
แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดคือ รัฐเอกราช ซึ่งบีอาร์เอ็นประกาศมาตลอดในทุกๆ การแถลงข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แต่หากไปไม่ถึง ก็ต้องมีรูปแบบการปกครองที่ตนเองได้ประโยชน์
จุดนี้เองที่ทำให้หลายฝ่ายที่รู้ข้อมูลเบื้องลึก แสดงความกังวลกับปัญหาชายแดนใต้ ว่าหากเดินเกมผิด หรือไม่ทันเกมบีอาร์เอ็น อาจตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ถึงขั้นเสียดินแดน หรือเสียอำนาจการปกครองดินแดนบางส่วนได้เลย
@@ ย้อนสารพัดเหตุรุนแรง ฆ่าครู-พระ-เด็ก-กับระเบิด
ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่ง มีรายงานว่า ทางคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทยที่นำโดย นายฉัตรชัย บางชวด ให้น้ำหนักท่าทีของบีอาร์เอ็นที่พยายามสื่อว่า ไม่ได้ต้องการ “รัฐเอกราช” ซึ่งเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในคำสัมภาษณ์ของผู้บริหารไทยพีบีเอส
เหตุนี้เอง คณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย จึงเห็นด้วยกับเงื่อนไขต่างๆ ที่บีอาร์เอ็นเรียกร้อง เพื่อเดินหน้าพูดคุยในรายละเอียดต่อไป และหวังให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ ซ้ำยังมีการให้ข้อมูลทำนองว่า เงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะการลดด่านตรวจ ลดพื้นที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (เงื่อนไขในกลุ่ม 4 ไม่ 3 ลด 4 ยอม) เป็นการเสนอจากฝ่ายกองทัพของไทยเอง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำชี้แจงจากฝ่ายกองทัพ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา กองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ โจมตีโรงเรียน สถานศึกษา เคยทำให้เด็กเสียชีวิต ทั้งยังฆ่าพระ ฆ่าครูไปร้อยกว่าศพ เคยยิงคนท้องแก่ คนชราไม่มีทางสู้ และใช้กับระเบิดแบบเหยียบ ทำร้ายคนบริสุทธิ์ในสวนยางพารา
แม้ผู้ก่อเหตุเหล่านี้จะไม่ได้ประกาศว่าเป็นการกระทำในนามบีอาร์เอ็น แต่ในพื้นที่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าบีอาร์เอ็นไม่เคยประกาศความรับผิดชอบ ผิดกับกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้ในดินแดนอื่นทั่วโลก
และที่สำคัญในอีกด้านหนึ่ง บีอาร์เอ็นก็แทบไม่เคยปฏิเสธว่าเหตุรุนแรงต่างๆ เหล่านั้นไม่ใช่ฝีมือของกองกำลังหรือนักรบของตน แต่ในวงพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับตัวแทนฝ่ายไทยบางเวที ยังมีการกล่าวอ้างอย่างภูมิใจเกี่ยวกับเหตุรุนแรงบางเหตุการณ์ที่ก่อความสูญเสียอย่างหนัก ทั้งชีวิต ร่างกาย และเศรษฐกิจของพื้นที่
ทำให้เกิดคำถามว่า คำยืนยันของบีอาร์เอ็นว่าไม่ต้องการรัฐเอกราช เชื่อได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะเป็นคำกล่าวจาก “แกนนำที่สู้อยู่นอกประเทศ” ไม่ได้ร่วมอยู่ในปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ “สู้จริง-เจ็บจริง” เหมือนบรรดานักรบที่จับอาวุธเผชิญหน้ากับรัฐมาตลอด 20 ปี
@@ คณะพูดคุยฯ แพร่อินโฟกราฟฟิกแจง JCPP
วันเดียวกันนี้ เพจเฟซบุ๊กของคณะพุดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ The Peace Dialogue Panel ได้เผยแพร่อินโฟกราฟฟิกเกี่ยวกับ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan Towards Peace (JCPP) เพื่ออธิบายให้สังคมเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น
เนื้อหาโดยสรุปของอินโฟกราฟฟิกที่เผยแพร่นั้น มีหัวข้อว่า เปิดแนวคิดแผน JCPP เส้นทางสู่สันติสุขที่ยั่งยืน
EP.1 อธิบายว่า แผน JCPP ไม่ใช่ข้อตกลงเพื่อสันติสุข แต่เป็นแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงเพื่อสันติสุข ที่มีหลักการอันประกอบด้วย
1.การพูดคุยเพื่อยุติความรุนแรง
2.การสร้างกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ
3.การพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
ทั้งยังระบุว่า หัวใจของ JCPP คือ แผนการดำเนินการที่ครอบคลุมทุกมิติ นำไปสู่การบรรลุข้อตกลงสันติสุขที่ยั่งยืน มีส่วนร่วมและเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน นำไปสู่การแก้ปัญหาในพื้นที่ทั้งระบบอย่างถาวรภายใต้รัฐธรรมนูญไทย
ในโพสต์ยังมีการใช้ภาพแก้วกาแฟที่มีส่วนผสมของกาแฟ และนม พร้อมอธิบายว่า ส่วนผสมของข้อตกลงสันติสุขที่ยั่งยืน ประกอบด้วย การพูดคุยเพื่อยุติความรุนแรง และข้อเสนอแนะจากการปรึกษาหารือสาธารณะ ซึ่งจะรวมถึงข้อเสนอทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
และทิ้งท้ายกล่าวถึงหลักคิดของการพูดคุยเพื่อลดความรุนแรงที่อยู่ใน JCPP เพื่อให้ได้ติดตามในโพสต์ต่อไป