ผลการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ “แบบเต็มคณะ” ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 7 ที่ตัวแทนรัฐบาลไทยเปิดโต๊ะคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น หลังจบการพูดคุยใหม่ๆ ไม่ได้มีข่าวสารด้านความสำเร็จหรือความคืบหน้าอะไรมากมายนัก
การพูดคุยสันติสุขฯ รอบที่ว่านี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6–7 ก.พ.67 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยเป็นการพูดคุยแบบเต็มคณะครั้งแรกของคณะพูดคุยฯ คณะใหม่ของรัฐบาลไทย นำโดย นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช.
ส่วนฝ่ายบีอาร์เอ็น องค์ประกอบหลักๆ เป็นคณะเดิม นำโดย อุสตาซอณัส อับดุลเราะห์มาน
ขณะที่ผู้อำนวยความสะดวก คือ ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมาเลเซีย ซึ่งจัดเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” ของรัฐบาลนายกฯ อันวาร์ อิบราอิม เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือน ม.ค.66
นับเป็นผู้อำนวยความสะดวกคนที่ 3 ต่อจาก ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ซึ่งทำหน้าที่ตั้งแต่ปี 2556 ในการพูดคุยสันติภาพ ยุครัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทย โดยจัดเป็นโต๊ะพูดคุยแบบ “เปิดเผย-ทางการ” ครั้งแรกระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือจะเรียกว่าขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนก็คงไม่ผิด
และ ตันศรี ซุลกิฟลี ยังเป็นผู้อำนวยความสะดวกต่อจาก ตันศรี อับดุลราฮิม โมฮัมหมัด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งทำหน้าที่มาตั้งแต่ปี 61 ในการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผลการพูดคุยหนนี้ต้องบอกว่าไม่ใช่การเริ่ม “นับหนึ่งใหม่” แต่เป็นการ “นับต่อ” จากการพูดคุยที่ค้างอยู่ในยุคของ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช. เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย โดยการพูดคุยได้ยุติไปช่วงใกล้เลือกตั้งทั่วไปของไทย เมื่อปีที่แล้ว
สิ่งที่ยืนยันว่าเป็นการ “นับต่อ” ก็คือการตกลงกันของสองฝ่าย เห็นชอบหลักการของ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan Towards Peace (JCPP) และยังเห็นตรงกันว่าจะมีการรับรอง JCPP อย่างเป็นทางการในโอกาสแรกที่พบปะกันครั้งต่อไป
ส่วนการหารือในรายละเอียดเพื่อเดินหน้าต่อในภาคปฏิบัติ รวมถึงมาตรการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อการสร้างสันติสุข จะมีการพบปะพูดคุยกันของ “คณะทำงานเทคนิค” ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเริ่มหารือกันช่วงปลายเดือน ก.พ.67 เป็นต้นไป
@@ ลงลึก JCPP เดินหน้าหรือล่าถอย?
ข่าวหลักๆ ที่ออกมามีเท่านี้ แต่เรื่องที่กลายเป็นประเด็นขึ้นมา ก็คือมีสื่อมวลชนไทย ระดับผู้บริหารสื่อสาธารณะ ไปสัมภาษณ์แกนนำบีอาร์เอ็นที่ร่วมโต๊ะพูดคุยฯ และได้นำรายละเอียดของ JCPP ที่จะหารือกันในระยะต่อไปมาเปิดเผย และสรุปความ
คำถามคือ JCPP คืออะไร?
หากตอบในเชิงหลักการ โดยคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทย ก็คือ Road Map หรือ “แผนที่เดินทาง” ในการทำงานของคณะพูดคุยฯ ทั้งสองฝ่าย
หากกล่าวโดยสังเขป JCPP มีรายละเอียดครอบคลุม 3 ประเด็นสำคัญ คือ
- การลดความรุนแรง
- การปรึกษาหารือสาธารณะ
- การแสวงหาทางออกทางการเมือง
ฟังดูเผินๆ ก็ไม่น่ามีอะไรต้องกังวล ทว่าต่อมามีการเปิดรายละเอียดของ JCPP และข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่าย ปรากฏว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องของฝ่ายบีอาร์เอ็น ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ตามมา และเสียงวิพากษ์เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะประเด็น “หยุดยิง” หรือใช้ถ้อยคำที่เป็นทางการว่า “การยุติปฏิบัติการทางทหาร” ซึ่งเป็นประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลไทยเองเรียกร้องมาทุกยุค แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันก็คือ “กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ” หรือ Public Consultation เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่
“กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ” จะเป็นแกนกลางที่นำไปสู่ข้อตกลง หรือความคืบหน้าในอีก 2 ส่วนสำคัญของ JCPP คือ ยุติปฏิบัติการทางทหาร และการแสวงหาทางออกทางการเมือง หรือพูดแบบรวบรัดก็คือ “รูปแบบการปกครอง” ที่ยอมรับกันได้นั่นเอง
โดยสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องยอมแลกก็คือ ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับ “ผู้แทนบีอาร์เอ็น” ที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจัดทำหรือร่วมในกระบวนการ 2 ประการ คือ
หนึ่ง กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation)
สอง เป็น Monitoring Team ที่คอยตรวจสอบเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นแต่ละเหตุการณ์ว่าเกิดจากฝ่ายใดกันแน่ และ/หรือมีฝ่ายใดทำผิดข้อตกลงหรือไม่ อย่างไร
โดยรัฐบาลไทยต้องให้ความคุ้มครองทางกฎหมาย หรือ immunity กับผู้แทนบีอาร์เอ็นที่จะเข้ามาทำงาน
@@ “4 ไม่ 3 ลด 4 ยอม” ผู้รอมชอมคือรัฐบาลไทย?
สาระในส่วนนี้ ซึ่งก็คือ JCPP คณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย เคยหารือและกำหนดแนวทางร่วมกับคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐคณะก่อนหน้านี้มาแล้ว คือ “กลุ่มมารา ปาตานี” แต่ตกลงกันไม่ได้ จนการพูดคุยต้องหยุดชะงักลง และล้มไปในที่สุด เมื่อปี 62 โดยขณะนั้นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย คือ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
(ข้อเท็จจริงอาจมีปัญหาอื่นแทรกซ้อนอีก แต่การตกลงกันไม่ได้ในเรื่องนี้ ก็เป็นสาเหตุสำคัญด้วยเหมือนกันที่โต๊ะพูดคุยฯต้องล่มไป)
ล่าสุดมีการเผยแพร่เอกสารที่เป็นรายละเอียดของ JCPP ซึ่งสาระสำคัญบางเรื่องถูกตีความไปต่างๆ กัน โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลสำคัญที่เคยทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน ฝ่ายความมั่นคง
อดีตผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานดับไฟใต้รายหนึ่ง ซึ่งวันนี้ปฏิบัติหน้าที่ใน “สภาสูง” หรือวุฒิสภา ให้ความเห็นในมุมมองของตน และส่งแชร์ให้กับเพื่อน สว. ที่ไม่ได้เกาะติดกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้อย่างใกล้ชิด
เนื้อหาเป็นทั้งเชิงองค์ความรู้ ข้อสรุปหรือบทคัดย่อ และความเห็นของอดีตผู้บริหารองค์กรดับไฟใต้รายนี้
บทสรุปของ JCPP หลักการแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (อธิบายตามประเด็นหลัก 3 ประเด็น และรายละเอียดที่มีการเสนอกันของแต่ละฝ่าย)
1.การลดความรุนแรง
ฝ่ายรัฐ : 4 ไม่ 3 ลด 4 ยอม
4 ไม่ – ไม่ปิดล้อม, ไม่จับกุม, ไม่ตรวจดีเอ็นเอ, ไม่ติดประกาศหมายจับ
3 ลด – ลดลาดตระเวน, ลดจุดตรวจ, ลดพื้นที่ พ.ร.ก.
4 ยอม - ยอมให้บีอาร์เอ็นเปิดเผยตัว, ยอมให้เข้าเมืองได้, ยอมให้จัดเวทีประชุมได้, ยอมปล่อยคนที่ต้องคดีความมั่นคงทั้งหมด
ฝ่ายบีอาร์เอ็น : ไม่ก่อเหตุ, ไม่ขนย้ายอาวุธปืน ระเบิด, ไม่ยั่วยุปลุกปั่น, ไม่ทำผิดกฎหมายอาญา
2.การปรึกษาหารือสาธารณะคือข้อตกลงร่วม : จัดคณะตรวจสอบ 14 คน ได้แก่นักวิชาการท้องถิ่น / เอ็นจีโอ / ภาคประชาสังคม / CSO ใช้ระยะเวลา 3 เดือน
3.การแสวงหาทางออกทางการเมือง
การตั้ง “นครรัฐปัตตานี” 1 พ.ค.- 31 ก.ค.67 : เข้ามาจัดตั้งคณะทำงาน นำเสนอแนวการจัดรูปแบบสนับสนุนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
“นครรัฐปัตตานี” 1 ส.ค.-31 ต.ค.67 : กำหนดรายละเอียดนครรัฐปัตตานี การฟื้นฟู การรักษาเอกลักษณ์ ภาษา การจัดการศึกษา
ประเด็นที่ต้องหมายเหตุเอาไว้ก็คือ ในเอกสารไม่มีคำว่า “นครรัฐปัตตานี” แบบตรงไปตรงมา แต่เป็นการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องการกระจายอำนาจ และรูปแบบการปกครองในแบบที่มีธรรมาภิบาล หรือ “ธรรมาธิปไตย” (Democratic Governance)
@@ เตือนกับดัก “ซอฟต์พาวเวอร์ บีอาร์เอ็น”
อดีตผู้บริหารองค์กรดับไฟใต้ ให้ข้อสังเกตกับ JCPP โดยเฉพาะหลักการแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม เอาไว้แบบนี้
1.คนวางแผน - ไม่เข้าใจต้นตอปัญหา เหมือนหมอไม่รู้ว่าโรคเกิดจากเชื้อโรคใด แต่วางแผนรักษาโรคตามอาการ
2.คนปฏิบัติก็ทำตามหน้าที่และตำแหน่ง แค่ต้องลดเหตุรุนแรง ต้องพูดคุย แต่จริงๆ ทุกฝ่ายอยากได้คนปฏิบัติที่ทำงานด้วยจิตวิญญาณความรับผิดชอบ
3.คนที่ควรทำหน้าที่หรือมีบทบาทคือ “คนที่เป็นลูกที่ (คนพื้นที่)” เพราะรู้ทาง รู้วิธีคิดของบีอาร์เอ็น จึงต้องมีความรับผิดชอบ เพราะตัวเขา พี่น้องของคนเหล่านี้ต้องอยู่ในพื้นที่
4.บีอาร์เอ็น ใช้ซอฟต์พาวเวอร์ผ่านนักวิชาการ สื่อ การเมือง สรุปว่า ใครไม่ยอม หรือไม่คิดตามบีอาร์เอ็น ถือว่าไม่เข้าใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อสังเกตข้อ 4 ถือว่าแหลมคมเป็นอย่างยิ่ง และสะท้อนสภาพการณ์ในวงผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน โดยคนที่คิดเห็นแตกต่างจากแนวทางยอมรับการมีอยู่ และข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น จะถูกมองว่าไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ และถูกกีดกันออกนอกวง
@@ จี้ชงเข้า สมช.คณะใหญ่ที่มี ผบ.เหล่าทัพ
นันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) เสนอแบบตรงไปตรงมาว่า
1.เรื่องใหญ่อย่างนี้ควรนำเข้าที่ประชุม สมช.ใหญ่ (สภาความมั่นคงแห่งชาติคณะใหญ่ที่มีนายกฯเป็นประธาน) ซึ่งมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นกรรมการอยู่ด้วย
2.น่าจะให้คณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา เรียกประชุม พร้อมเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง และควรเชิญนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ มาช่วยวิเคราะห์
@@ หวั่นเป็นบันไดสู่ประชามติแยกตัวเป็นเอกราช
“ผมเกรงจะเป็นการรุกคืบแบบ creeping (ค่อยเป็นค่อยไป) การกระจายอำนาจ โดยเพิ่มอำนาจให้การปกครองส่วนท้องถิ่น ลดอำนาจส่วนกลาง เมื่อสร้างฐานได้แข็งแกร่งแล้ว ก็จะเรียกร้องให้ยอมให้มีประชามติว่าจะอยู่กับรัฐไทยหรือไม่ เรื่องที่มีนัยต่อดินแดนและอธิปไตยเหนือดินแดน ต้องนำเข้ารัฐสภา” อดีตรอง ผอ.สขช. กล่าว
@@ แนะทบทวนโต๊ะพูดคุย
ขณะที่ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการกองข่าว กองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยเป็นตัวจักรสำคัญในการพูดคุยเจรจายุติปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา แสดงทัศนะว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้เห็นต่างฯ เพราะประเทศไทยมีการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องมารับฟัง หรือมีกระบวนการปรึกษาหารือเรื่องรูปแบบการปกครอง
นอกจากนี้ยังอยากเสนอให้ทุกฝ่ายช่วยกันทบทวนว่ามีความจำเป็นแค่ไหน อย่างไร ในการจัดกระบวนการพูดคุย เพราะฝ่ายขบวนการก่อเหตุรุนแรงมานานกว่า 20 ปี ประชาชนทุกศาสนา รวมทั้งพี่น้องมุสลิมก็ได้รับอันตรายและเดือดร้อนอย่างมาก แต่แล้วจู่ๆ วันหนึ่งก็มาบอกให้หยุดยิง ซึ่งจริงๆ เป็นการยิงก่อนฝ่ายเดียว แล้วก็จะมาประชุม รับฟัง ออกแบบโมเดลเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ผ่านมา 20 ปี ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงยังไม่มีแนวโน้มเอาชนะรัฐบาลไทยได้เลย
@@ เชื่อไม่ลง! สั่งการระดับแกนนำในไทยได้จริงหรือ
ด้านอดีตผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานความมั่นคงระดับชาติ ให้ความเห็นว่า เรื่องที่หลายฝ่ายกังวล ล้วนเป็นความต้องการของฝ่ายบีอาร์เอ็นทั้งสิ้น และสำหรับคนที่ผ่านงานชายแดนใต้มาทุกคน ไม่มีใครเชื่อว่าเงื่อนไขของฝ่ายบีอาร์เอ็น เพราะแค่เรื่องหยุดยิง หรือยุติปฏิบัติการทางทหาร ก็ล้มเหลวมาทุกครั้ง โดยมีเหตุผลคือ
1.ตัวแทนบีอาร์เอ็นในคณะพูดคุยฯ เป็นฝ่ายการเมือง และพำนักอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้มีอิทธิพลหรือสั่งการแกนนำในประเทศไทยได้
2.การพูดคุยเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือในการต่อรอง กดดันทางการเมืองให้รัฐบาลไทยยอมตามข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น โดยฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่เคยให้หลักประกันใดๆ กับฝ่ายรัฐบาลไทยเลยว่าสามารถควบคุมฝ่ายทหารได้
3.การส่งตัวแทนมาพบประชาชน และการเข้ามารับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ คิดว่ารัฐบาลไทยยังไม่ตอบรับเรื่องนี้ และน่าจะเป็นข้อเรียกร้องฝ่ายเดียวจากบีอาร์เอ็นเพื่อผูกมัดคณะพูดคุยฯ
@@ ไหนว่าเป็นตัวแทนชาวปาตานี?
ด้านผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายหนึ่ง ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างมากในพื้นที่ กล่าวว่า ไม่เข้าใจทำไมบีอาร์เอ็นจึงต้องเข้ามารับฟังความเห็นคนในพื้นที่ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ
“ไหนคุณอ้างว่าเป็นตัวแทนชาวปาตานี ซึ่งสิ่งที่เคยพูด พูดแบบเหมารวมว่าเป็นตัวแทนทุกกลุ่ม ทุกศาสนาด้วยซ้ำ แล้วเหตุใดจึงไม่รู้ว่าชาวปาตานีต้องการอะไร ถึงต้องเข้ามาฟังความเห็น แบบนี้หมายความว่าอย่างไร”
@@ คณะพูดคุยฯมองต่างมุม เชื่อบีอาร์เอ็นไม่ได้หวังเอกราช
แต่ก็มีมุมมองที่สวนทางจากแกนนำในคณะพูดคุยฯ ฝ่ายรัฐบาลไทย ที่อ้างท่าทีและคำให้สัมภาษณ์ของแกนนำบีอาร์เอ็นผ่านสถานีโทรทัศน์สาธารณะของไทยว่า “ไม่ได้มีเป้าหมายการต่อสู้ว่าต้องเป็นรัฐเอกราช หรือการปกครองตนเองแบบที่มีกฎหมายรองรับรูปแบบการปกครองพิเศษ เช่น บังซา โมโร ที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ แต่ทั้งหมดต้องมาจากความเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เหตุนี้บีอาร์เอ็นจึงให้ความสำคัญกับกระบวนการ Public Consultation คือต้องปรึกษาหารือกับประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่”
@@ ย้อนรอยล้มโต๊ะ-ปัดตก 5 ข้อเรียกร้อง 11 ปีก่อน
เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะพูดคุยเพื่อสันติภาพฯ คณะแรกที่พูดคุยแบบ “เปิดเผย-บนโต๊ะ” กับกลุ่มบีอาร์เอ็น เมื่อปี 2556 ภายใต้การนำของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช. ก็เคยแสดงท่าทียอมรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นมาพิจารณาครั้งหนึ่งแล้ว เพราะเชื่อมั่นในหลักการของข้อตกลงร่วมกันในเบื้องต้นว่า ทุกอย่างจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย
แต่ฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้นมองว่า เป็นเพียงบันไดขั้นแรกที่จะรุกต่อไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงคือ แยกตัวเป็นรัฐเอกราช หรือไม่ก็ต้องได้รับอิสระในการปกครองตนเองมากที่สุด ซึ่งไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าปลายทางของการพูดคุยเจรจาจะไม่เดินไปสู่จุดนั้น
เพราะในข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นก็มีการพูดถึงสิทธิในการกำหนดใจตนเอง หรือ Self Determination ซึ่งครอบคลุมถึงกระบวนการทำประชามติแยกดินแดน รวมถึงการดึง “ปาร์ตี้ที่สาม” หรือ “คนกลาง” เข้ามาร่วมในกระบวนการเจรจา
ทั้งหมดนี้จึงย้อนกลับไปที่คำถามตั้งต้นว่า JCPP จะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้า หรือล่าถอยอีกครั้ง...กันแน่!?!