เหตุการณ์ “ป่วนขบวนเสด็จ” ส่งผลกระทบหลายมิติต่อสังคมไทย
ด้านหนึ่งที่วิจารณ์กันไม่แพ้แง่มุมอื่นๆ ก็คือ พฤติกรรมของ “ตะวันและพวก”
แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขากระทำเรื่องราวคล้ายๆ กันแบบนี้ แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับผู้คนจำนวนไม่น้อยก็คือ พฤติกรรมสวนทางสังคมกระแสหลักดูจะกำลังแพร่ระบาดไปในหมู่เยาวชน
ยิ่งกว่านั้นเหตุการณ์ล่าสุดถือว่ากระทบความรู้สึกร้ายแรง ทำให้หลายคนเห็นว่าไม่ควรปล่อยผ่าน และนำมาซึ่งคำถามของสังคมว่า พฤติกรรมของ “ตะวัน” และเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่แสดงออกแบบฮาร์ดคอร์ เกิดขึ้นจากอะไรกันแน่
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ศึกษาและเก็บข้อมูลเรื่องนี้ พร้อมถ่ายทอดเป็นบทความมาให้สังคมได้ช่วยกันพิจารณา
@@ เส้นทางนักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ @@
ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา คนไทยมักเห็นพฤติกรรมแปลกๆ จากคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบแสดงออก ประท้วงในเชิงที่ทําให้ตัวเองเป็นข่าวดังผ่านสื่ออยู่เสมอๆ ด้วยการกระทําที่คนทั่วไปมักไม่กระทํากัน เพราะเห็นว่าเป็นการไม่บังควร และน่าจะเข้าข่ายมีความผิดร้ายแรง
เช่น พฤติกรรมการป่วนขบวนเสด็จที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งและผู้ก่อเหตุมักเป็นบุคคลในกลุ่มเดียวกันที่เคยก่อเหตุมาแล้วก่อนหน้า (อ้างอิง1-3)
ผู้ก่อเหตุมักเป็นเยาวชนหรือเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อย มีการรับรู้และมีประสบการณ์ทางการเมืองเพียงช่วงเวลาอันสั้น ซึ่งถือว่าเป็นนักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เหตุที่การกระทําเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นทุกที เพราะการปล่อยปละละเลยของผู้รักษากฎหมายที่ไม่เข้มงวดกวดขัน จนทําให้คนกลุ่มนี้กล้ากระทําในสิ่งที่คนทั่วไปไม่พึงกระทํา ด้วยการให้ท้ายจากรรคการเมืองที่มีความใกล้ชิดกับคนกลุ่มนี้เสมอ
// คนเหล่านี้มาจากไหน //
พฤติการณ์เช่นนี้มิใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดจากตัวบุคคลหรือกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว แต่เกิดจากการเชื่อมโยงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากอดีตภายใต้อิทธิพลของผู้นําหรือกลุ่มก้อนทางการเมืองจํานวนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์และเพาะเชื้อความคิดให้คนเหล่านี้
จึงทําให้น่าเชื่อว่าความแปลกปลอมในสังคมไทยที่เกิดขึ้นในคนกลุ่มหนึ่ง เป็นผลพวงมาจากการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง และมาถึงจุดสูงสุดจากการเล่นใหญ่ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ชื่อ “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ซึ่งเป็นการชุมนุมที่ต่อเนื่องมาจากการชุมนุมย่อยซึ่งมีมาก่อนหน้า
เนื้อหาส่วนใหญ่ของการปราศรัยในการชุมนุมพุ่งตรงไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีข้อเสนอให้ทําการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ (อ้างอิง4)
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินในภายหลังว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการ "ล้มล้างการปกครอง" ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และศาลรัฐธรรมนูญยังมีคําสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 และกลุ่มองค์กรเครือข่าย เลิกกระทําการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย (อ้างอิง5)
คนกลุ่มนี้มักเรียกตัวเองว่า “พวกก้าวหน้า” “เดินไปข้างหน้า” “ฝ่ายประชาธิปไตย” (Progressive) หรือตั้งชื่อแปลกๆ แบบสุดขั้ว
เมื่อมีการทํากิจกรรม พวกเขามักเรียกพวกที่อยู่ตรงข้ามกับตัวเองว่า “พวกไดโนเสาร์” “พวกเผด็จการ” “พวกศักดินา” “พวกอนุรักษ์นิยม” และ สลิ่ม เป็นต้น
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือออสเตรเลีย พวกที่แสดงพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันกับคนกลุ่มนี้ มักเรียกกันว่าพวก “โวค” (Woke) ซึ่งหมายถึงผู้ตื่นรู้ในเรื่องความไม่เป็นธรรมและความไม่เท่าเทียมในสังคม หรือพวกตาสว่างทางสังคม ซึ่งเจตนาเดิมคือทําโลกนี้ให้ดีขึ้น และสร้างความยุติธรรมให้กับโลก
แต่ในภายหลังกลับกลายเป็นพฤติกรรมประท้วงที่กลายพันธุ์จากการถูกแทรกแซงของแนวคิดที่เบี่ยงเบนไปจากเจตนาเดิม จนเป็นการสร้างความเดือดร้อนรําคาญและคุกคามผู้ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของพวกเขา
// ความเท่าเทียม – คําตั้งต้นของการเรียกร้อง //
แม้ว่าการชุมนุมใหญ่ “ธรรมศาสตร์ไม่ทน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่เกิดมรรคผลใดตามข้อเรียกร้อง และศาลได้ชี้ชัดว่าการชุมนุมมีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
แต่การชุมนุมในครั้งนั้นน่าจะเป็นการจุดประกายให้เกิดแรงกระเพื่อมในการปลูกฝังแนวคิดและภาษาทางการเมือง รวมทั้งหล่อหลอมพฤติกรรมแก่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งมักชูความเท่าเทียมเป็นจุดขาย คล้ายกับผลพวงจากการชุมนุม ยึดวอลสตรีต (Occupy Wall Street) ในสหรัฐอเมริกาเมื่อหลายปี ก่อน
ดังนั้นการเรียกร้องในเรื่องความเท่าเทียมทางสถานะของชนชั้นก็ดี หรือการเรียกร้องความเท่าเทียมของขบวนเสด็จกับประชาชนทั่วไปก็ดี จึงถูกหยิบมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของพวกเขาบ่อยครั้งและมักเกินขอบเขตกว่าคนทั่วไปจะรับได้อยู่เสมอ จนทําให้เรื่องของความเท่าเทียมซึ่งมีความอ่อนไหวถูกยกขึ้นมากลายเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งขึ้นอีกครั้ง
นับแต่นั้นมาสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนไป บางครอบครัวจึงอาจพบประสบการณ์ที่ลูกหลานหรือเพื่อนฝูง หยิบจับความธรรมดาๆ ในชีวิตประจําวันของคนไทยมาตําหนิ ดูหมิ่น วิจารณ์ ด่าทอ ทั้งด้วยภาษาและการแสดงกิริยามารยาท ทั้งๆ ที่ไม่เคยปรากฏพฤติกรรมเหล่านี้มาก่อน
ความกล้าแสดงออกด้วยการประท้วงของเยาวชนกลุ่มหนึ่ง ทั้งตามสถานที่ต่างๆ และบนโลกออนไลน์ จึงเป็นความภาคภูมิใจที่พวกเขาเห็นว่าได้ปลดปล่อยสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าถูกกดทับไว้ด้วยอํานาจบางอย่าง และมีจํานวนไม่น้อยที่แสดงพฤติกรรมต่างๆ โดยการรับรู้จากโซเชียลมีเดีย
พวกเขาเชื่อว่าเสรีภาพในการแสดงออก (Free speech) คือเสรีภาพที่ไร้ขอบเขตที่ไม่ควรถูกปิดกั้นด้วยกฎเกณฑ์ใดๆ
การเรียกร้องในเรื่องความเท่าเทียมซึ่งโดยทั่วไปควรเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง แต่การกระทําของคนกลุ่มนี้กลับเบี่ยงเบนและเลยเถิดไปจนถึงการคุกคามและละเมิดกฎหมาย ซึ่งไกลจากข้อเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมออกไปทุกที เพราะความเท่าเทียมอย่างไม่มีเงื่อนไขในอุดมคติที่คนกลุ่มนี้เรียกร้องนั้นไม่มีวันที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะอยู่ในโลกแห่งความจริงหรือโลกเสมือนในโซเชียลมีเดียก็ตาม
ดังนั้น ทฤษฎี แมทธิว เอฟเฟกต์ (Matthew effect : ทฤษฎีที่ใช้อธิบายว่าทําไมคนที่เกิดมารวยก็จะยิ่งรวยขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนคนที่เกิดมาจนก็จะยิ่งจนลงไปเรื่อยๆ) จึงติดตามมนุษย์ไปทุกหนทุกแห่ง แม้แต่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใครๆ คิดว่าเท่าเทียม ก็ยังมีความไม่เท่าเทียมจาก แมทธิว เอฟเฟกต์ แฝงอยู่เสมอ
// นักเคลื่อนไหวไทย vs โวค – เส้นทางเดียวกัน //
ความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ที่คนบางกลุ่มถูกปลูกฝังและมีการแสดงออกตลอดหลายปีที่ผ่านมา สร้างความแปลกใจกับสังคมไทยอยู่ไม่น้อย เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในสังคมไทยมาก่อนและพวกเขามักแสดงออกโดยไม่แคร์ต่อสายตาของผู้ใดทั้งสิ้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับกลุ่มคนตาสว่างทางสังคม หรือพวกโวค ที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ เป็นต้นว่า (อ้างอิง7)
1.พวกเขาเห็นว่าคุณค่าของสังคม วัฒนธรรม และประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน หรือแม้แต่การเคารพบุพการี คือ ความล้าหลัง ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ หรือเป็นความผิดพลาดของอดีตที่ต้องแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง
ในเมืองไทยเราจึงมักเห็นการไม่ยืนเคารพธงชาติ การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และการไม่ให้เคารพผู้ใหญ่ พ่อ-แม่ ฯลฯ เกิดขึ้นบ่อยจนเป็นที่น่าสังเกต
2.พวกเขามักใช้คําหยาบคาย ก้าวร้าวกับผู้คนที่พวกเขาตั้งตนเป็นศัตรูด้วยอยู่เป็นนิจ ไม่ว่าใครคนนั้นจะมีอายุมากกว่าพวกเขาและปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความสุภาพ เมตตา และยับยั้งชั่งใจเพียงใดก็ตาม
3.พวกเขาจะไม่เรียกบุคคลด้วยยศหรือตําแหน่งนําหน้า หรือใช้สรรพนามที่เกี่ยวข้องกับการนับญาติ เช่น ลุง ป้า น้า อา แบบที่คนไทยเรียกกัน แต่มักจะเรียกเพียงชื่ออย่างเดียว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมแบบโลกในอุดมคติของพวกเขา
4.คนกลุ่มนี้มักจะมองทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวด้วยความขุ่นเคืองใจและก้าวร้าวอยู่เสมอ จนดูเหมือนว่าพวกเขากําลังต่อสู้กับสิ่งเลวร้ายหรือปีศาจที่วนเวียนอยู่รอบตัวพวกเขาอยู่ตลอดเวลา เราจึงแทบมองไม่เห็นรอยยิ้มอันสดใสของพวกเขาเลย
5.พวกเขามักแสดงออกถึงพฤติกรรมยกตนข่มท่านอยู่เสมอ เพื่อให้ตัวเองอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการของพวกเขา และพวกเขาจะสร้างความหวาดกลัวและหาทางปิดปากคนเหล่านั้นด้วยวิธีของพวกเขาเอง เช่น การใช้ม็อบออนไลน์รุมถล่มความเห็นที่ไม่ตรงใจพวกเขา หรือการรุมประชาทัณฑ์โดยม็อบออนไลน์ (Cancel culture) ใครก็ตามที่พวกเขาไม่ชอบใจ
6.คนกลุ่มนี้ไม่ชอบความประนีประนอมและขาดความยืดหยุ่น ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคนที่มองโลกผ่านเลนส์ที่พวกเขาสร้างขึ้นเพื่อให้เห็นเฉพาะสีดํากับสีขาว ความถูกกับความไม่ถูก ความดีกับความเลว หรือมองโลกในแบบไบนารี (0 กับ 1) เท่านั้น
ความตาบอดความหลากสีของเขาทําให้พวกเขาขาดโอกาสในการเห็นโลกที่ประกอบด้วยแถบสีอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน
7.พวกเขามองแต่ตนเองเป็นที่ตั้ง ใครที่มีความเห็นที่ต่างจากตนเองหรือพวกพ้องของตนเองจึงมักถูกชี้หน้าว่าเป็นคนผิดเสมอ กฎหมายบางมาตรา ระเบียบแบบแผนบางเรื่องจึงมักเป็นปัญหาของพวกเขาเสมอ ในขณะที่คนทั่วไปไม่ได้มีความรู้สึกว่าถูกลิดรอนใดๆ จากสิ่งที่คนกลุ่มนี้ยกขึ้นมาอ้าง
8.คนกลุ่มนี้ชอบและถนัดที่จะเรียกร้องความสนใจจากผู้คนโดยการส่งเสียงตะโกนหรือกรีดร้องไปตามที่ต่างๆ จนกลายเป็นกระแสบนสื่อ และหลายต่อหลายครั้งล้ำเส้นของคําว่ากาลเทศะ และกลายเป็นการละเมิดกฎหมายไป
9.พวกเขาชอบจับผิดและควานหาจุดอ่อนหรือความเสียเปรียบของคนในสังคมมาขยายผลเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม และหาประโยชน์ให้กับตัวเองโดยใช้ความไม่เป็นธรรมในสังคมบ้าง หรือความไม่เท่าเทียมบ้างเป็นข้ออ้าง แม้ว่าบางเรื่องแทบจะหาสาระอะไรไม่ได้เลยก็ตาม
10.คนกลุ่มนี้มักเสพติดอารมณ์ทางลบอยู่เสมอ พวกเขาไม่เคยพอใจสิ่งที่อยู่รอบตัว และมักพยายามหยิบฉวยประเด็นใหม่ๆ มาเพื่อเติมเชื้อความก้าวร้าวอยู่ตลอดเวลา และพยายามหาเหตุผลข้างๆ คูๆ เพื่อรองรับความไม่พอใจที่พวกเขาแสดงออก พวกเขาจึงต้องทําสงครามกับทุกสิ่งทุกอย่างในสังคม
11.พวกเขามักตั้งตัวเป็นศัตรูกับองค์กรตํารวจ ทหาร ข้าราชการ อยู่เสมอ เช่นไม่ให้ความสําคัญต่อ กองทัพ ข้าราชการ และด้อยค่าองค์กร ราวกับว่าองค์กรที่พวกเขาโจมตีเหล่านี้ไม่เคยทําประโยชน์ใดๆ ให้กับประเทศชาติเลย
12.พวกเขาเห็นว่าระบบทุนนิยม คือระบบที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้น การโจมตีทุนนิยมประเภททุนใหญ่ จึงมักพบเห็นอยู่เป็นประจําในการทํากิจกรรมของพวกเขา
13.คนกลุ่มนี้เป็นมนุษย์เจ้าปัญหา ความเจ้าปัญหาของพวกเขาทําให้คนเหล่านี้ฉวยโอกาสวิพากษ์วิจารณ์การกระทํา วัตถุ-สิ่งของ และบุคคลที่พวกเขาไม่ชอบ ในแทบทุกแง่มุม และเลือกที่จะไม่เอ่ยถึงปัญหาที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นปัญหาจริงๆ ซึ่งก็คือตัวของพวกเขาเอง
14.พวกเขามักเรียกร้องให้ทําลาย เปลี่ยนชื่อ ฯลฯ สิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมการกดขี่ข่มเหงและความไม่เท่าเทียม ตามสถานที่ต่างๆ เราจึงได้เห็นคนกลุ่มหนึ่งเข้าไปทุบทําลายอนุสาวรีย์ สมเด็จพระราชบิดา สมเด็จย่า กรมหลวงชัยนาทนเรนทร ที่กระทรวงสาธารณสุข ด้วยการสาดสีแดงและเอาเชือกดึงอนุสาวรีย์ให้พังลงมา จนได้รับความเสียหายหรือมีการพ่นสีที่กําแพงวัดพระแก้วที่เป็นข่าวดังเมื่อปีกลาย เป็นต้น (อ้างอิง 8 และ 9) ซึ่งเป็นการกระทําที่เหมือนกับในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลียไม่มีผิด (อ้างอิง 10)
15.ความเท่าเทียม ความเหลื่อมลํ้า และความไม่เป็นธรรมต่างๆ นานา เป็นภาษาตั้งต้นที่พวกเขาหยิบจับนํามาใช้เป็นสูตรสําเร็จในการแสดงออกเพื่อการเรียกร้องเสมอ
การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า เป็นสิ่งที่ดีงามและเป็นที่เข้าใจได้ แต่ควรเป็นการเดินในเส้นทางที่อยู่ในครรลองที่สังคมพอจะยอมรับได้
การเคลื่อนไหวโดยการใช้เส้นทางลัดเพื่อความเด่นดังเพียงช่วงเวลาอันสั้น โดยการนําเรื่องชนชั้น ความเท่าเทียม และปฏิบัติการสุดโต่งไปเป็นเครื่องมือในการไล่ล่า ลดทอนคุณค่า และบ่อนทําลายใครต่อใครนั้น แทนที่จะถูกยกย่องว่าเป็นฮีโร่หรือผู้ทรงอิทธิพล หรือเป็นแบบอย่างของนักปฏิรูป แต่กลับกลายเป็นได้แค่กิจกรรมการป่วนเมืองเท่านั้นเอง
// อ้างอิง //
1. ป่วนขบวนเสด็จ https://mgronline.com/onlinesection/detail/967000001118531
2. ป่วนขบวนเสด็จ https://today.line.me/th/v2/article/x2qJ8o831
3. ป่วนขบวนเสด็จ https://mgronline.com/politics/detail/9640000129023
4. การชุมนุม ธรรมศาสตร์จะไม่ทน โดย สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title
5. คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
6. ทฤษฎีแมทธิว เอฟเฟกต์ https://www.eef.or.th/392-2/
7. ตั้งสติ…ก่อนเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิม https://www.isranews.org/article/isranews-article/118894-punsak.html
8. การทําลายอนุสาวรีย์ กระทรวงสาธารณสุข https://mgronline.com/politics/detail/966000005459931
9. พ่นสีกําแพงวัดพระแก้ว https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/266627531
10. Woke, Banned, Censored & Cancelled โดย Steven D.Synder