หลายภาคส่วนไอเดียกระฉูด เสนอแนวทาง “ฉุดการท่องเที่ยวชายแดนใต้” หวังสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนา
จังหวะเวลาที่เสนอเป็นช่วงใกล้วันที่นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เตรียมลงพื้นที่ชายแดนใต้ช่วงปลายเดือน ก.พ.67 พอดี
โดยจุดหมายปลายทางหนึ่งคือ อำเภอเบตง จ.ยะลา เมืองใต้สุดแดนสยาม ที่กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในท้องถิ่น ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม รวมถึงฝ่ายความมั่นคง
แต่ “เบตง” ยังไปต่อได้อีก เพราะทุนทางสังคมซึ่งยังมีมากมาย
ล่าสุด ภาณุ อุทัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตผู้ว่าฯปัตตานี รวมถึงอดีต ผอ.และอดีตเลขาธิการ ศอ.บต. เสนอโรดแมปการพัฒนาเบตงเอาไว้อย่างน่าสนใจ
ภาณุ เล่าว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภา ได้ลงพื้นที่เบตง ตามโครงการ “สมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้” จึงได้นำเสนอแผน "บูมเบตงดึงจีนเที่ยวไทย" ให้กับ นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นำเสนอนายกรัฐมนตรี ที่มีกำหนดเดินทางในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ในวันที่ 28 ก.พ.ที่จะถึงนี้
แผน "บูมเบตงดึงจีนเที่ยวไทย" ได้แก่
1.เสนอมาตรการจูงใจให้สายการบินมาใช้สนามบินเบตง โดยมีสายการบินน้องใหม่ “อีซี่ แอร์ไลน์” เครื่องบินเล็ก 12 ที่นั่ง ให้ความสนใจเส้นทางหาดใหญ่-เบตง โดยมีกำหนดบินในเดือน ก.ย.2567
แต่กว่าจะถึงเดือน ก.ย. ควรมีข้อเสนอเงื่อนไขให้กับสายการบินต่างๆ ที่มีเครื่องบิน ATR โดยการลดหรือยกเว้นค่ารธรรมเนียมการใช้สนามบิน และไม่เก็บภาษีน้ำมัน สำหรับการบินไป-กลับหาดใหญ่-เบตง
2.การอำนวยความสะดวกด่านเข้าออกเบตง ทั้งคน/รถ/สินค้า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เพื่อส่งเสริมให้เข้ามาเที่ยวไทยตามเส้นทางวัฒนธรรมจีน-ปีนัง-เบตง
3.การขอสิทธิพิเศษแก่นักท่องเที่ยวไทยซื้อสินค้าปลอดภาษีเบตง/สุไหงโก-ลก (นราธิวาส)
4.เร่งรัดการจัดการ "สกายวอล์ก” แหล่งท่องเที่ยวไฮไลต์ของเบตง ให้แก่ท้องถิ่นตามคำร้องขอ
“ประเด็นที่เน้นย้ำกับผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา คือ จัดคณะทำงานอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวเข้า-ออกด่านเบตงในช่วงเทศกาลตรุษจีน, เดือนรอมฎอน กิจกรรมวิ่งเทรลเบตง และช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งส่งเสริมงานเกษตรยะลาผลิตพืชผักผลไม้ส่งตลาดเบตง”
อีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ นำโดย ว่าที่ร้อยตรี เชิดศักดิ์ จำปาเทศ, พลอากาศเอก สุจินต์ แช่มช้อย และคณะ ได้เดินทางไปยังด่านชายแดนเบตง เพื่อศึกษาการดำเนินงานการให้บริการของด่านผ่านแดนและด่านศุลกากรเบตง โดยมีข้อเสนอเรื่องการขยายพื้นที่ให้มีช่องจราจรมากขึ้น เพื่อรองรับผู้ใช้บริการที่มีมากขึ้นให้ได้รับความสะดวกและรวดเร็ว
โดยคณะกรรมการได้ลงพื้นที่จริงเพื่อรับฟังรูปแบบการดำเนินงาน ข้อเสนอแนะจากผู้ปฏิบัติงานจริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของสมาชิกวุฒิสภา ผ่านคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นโมเดลในการพัฒนาด่านพรมแดนให้มีมาตรฐานการให้บริการที่เท่าเทียมกันทั้งประเทศต่อไป