มีความคืบหน้าการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โครงการ “โคบาลชายแดนใต้” นัดแรก ที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี หลังมีปัญหา “โคไม่ตรงปก”
การประชุมครั้งนี้มี นายประมุข ลมุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เป็นประธานการประชุม
ทั้งนี้ มีการแยกรับฟังข้อมูลกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคทั้ง 16 กลุ่มของ จ.ปัตตานี โดยไม่อนุญาตให้เข้าชี้แจงพร้อมกัน แต่เป็นการแยกกันชี้แจง
นายประมุข เผยภายหลังการประชุมว่า ภาพรวมมีทั้งกลุ่มเกษตรกรที่มีปัญหาอยู่บ้าง และบางกลุ่มที่พึงพอใจกับโครงการ
ส่วนเรื่องสเปคโคที่ผู้ประกอบการส่งมาในล็อตแรก บางกลุ่มทราบว่าไม่ตรงสเปค ทางผู้ประกอบการก็รับผิดชอบตามสัญญาที่ระบุไว้ คือเปลี่ยนตัวโคให้
สำหรับประเด็นที่จะมีการตรวจสอบเชิงลึกต่อไป มี 3 ประเด็น คือ
1.การคัดเลือกผู้ประกอบการในโครงการที่ไม่มีการแข่งขันราคา ใช้ผู้ประกอบการรายเดียว
2.เรื่องสเปคโค โดยหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ต้องตรวจสอบคุณลักษณะของโคเพิ่มเติม เช่น ส่วนสูง ขนาด นอกเหนือจากน้ำหนัก เพราะการใช้น้ำหนักเพียงอย่างเดียว อาจมีข้อจำกัดเรื่องเครื่องชั่ง ซึ่งบางพื้นที่ไม่มีเครื่องชั่ง แต่ถ้ากำหนดคุณลักษณะอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น ส่วนสูง ก็สามารถวัดได้ทันที
3.เรื่อง “คอกกลาง” ที่เป็นเงื่อนไขของโครงการ มีการเสนอจากกลุ่มเกษตรกรว่า อยากให้มีการแยกคอกไปเลีั้ยงกันเองมากกว่า
นายประมุข บอกด้วยว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ได้ข้อมูลว่าเกษตรกรอยากร่วมโครงการ แต่ขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ โดยหลังจากนี้จะไปรับฟังปัญหาจากกลุ่มเกษตรกรใน จ.นราธิวาส ต่อไป
“ทีมข่าวอิศรา” ได้สอบถามแกนนำกลุ่มเกษตรกรแต่ละกลุ่มที่เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ทราบว่าแต่ละกลุ่มได้รับโคผิดสเปค หรือ “โคไม่ตรงปก” กลุ่มละ 3-4 ตัว บางกลุ่มก็ยอมรับได้ ไม่ได้ขอเปลี่ยนตัวโค แต่ใช้วิธีขุนให้อ้วน และผสมพันธุ์ต่อ ขณะที่บางกลุ่มก็ต้องการเปลี่ยนตัวโค แต่ทุกกลุ่มยังอยากร่วมโครงการต่อไป
ส่วนมาตรการเสริมเรื่อง “วัดส่วนสูงของโค” นั้น เกษตรกรไม่เห็นด้วยมากนัก เนื่องจากส่วนสูงไม่สามารถบอกคุณลักษณะได้เท่ากับน้ำหนัก และอยากให้เพิ่มเงื่อนไขโคที่นำมาส่งให้เกษตรกร ต้องมีอายุ 2 ปีขึ้นไป เพื่อให้พร้อมผสมพันธุ์