“โครงการโคบาลชายแดนใต้” เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จริงที่ จ.ปัตตานี สั่งรื้อเงื่อนไขของโครงการฯ นำเงินใส่มือเกษตรกรให้ไปเลือกซื้อโคเอง ไม่ต้องให้ส่วนราชการผูกขาด มัดมืดชก “คนเลี้ยงโค”
ปัญหาของ “โครงการโคบาลชายแดนใต้” ตามที่ “ทีมข่าวอิศรา” เปิดประเด็นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา คือกลุ่มเกษตรกรที่ปัตตานีร้องเรียนว่า ได้รับ ”โคแม่พันธุ์” น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตกลงในสัญญา คือ ต้องน้ำหนักเกิน 160 กิโลกรัมขึ้นไป แต่โคที่ได้รับจริง น้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ แต่ต้องซื้อราคาเต็ม ตัวละ 17,000 บาท
นอกจากนั้นยังต้องเป็นโคในวัยเจริญพันธุ์ พร้อมผสมพันธุ์ทันที แต่โคที่ได้มาเป็นโคอ่อน แถมยังไม่มีบัตรประจำตัวสัตว์ จึงไม่ทราบว่ารับวัคซีนมาแล้วหรือยัง
แต่โคที่เอกชนคู่สัญญานำมาส่งให้ บางส่วนมีสภาพผอมแห้ง เห็นแต่ซี่โครง บางตัวเซื่องซึม บางตัวป่วยเป็นโรคปากเท้าเปื่อยติดมาด้วย และยังเป็น “โคอ่อน” ไม่ถึงวัยผสมพันธุ์ ส่งผลให้เกษตรกรในโครงการออกมาร้องเรียนจนเป็นข่าวดังไปทั้งประเทศ
วันจันทร์ที่ 29 ม.ค.67 นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ไปตรวจเยี่ยมเกษตรกรในโครงการ 2 จุด 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองปัตตานี และ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานีเหมือนกัน
โดยจุดที่พบปัญหา มีเฉพาะที่อำเภอเมืองปัตตานี ส่วนที่ อ.ปะนาเระ เกษตรกรยืนยันว่าไม่มีปัญหาใดๆ โคที่ได้รับ อวบอ้วนสมบูรณ์ดี หลายตัวมีลูกติดท้อง
ไฮไลต์จึงอยู่ที่อำเภอเมืองปัตตานี ที่กลุ่มเลี้ยงโคตันหยงลุโละ ซึ่งเป็นกลุ่มเลี้ยงโคที่มี นายสุรเดช หะยีสมาแอ รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดปัตตานี ซึ่งออกมาแฉปัญหาในโครงการ กระทั่งสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดปัตตานี ลงพื้นที่ตรวจสอบ และเป็นข่าวดัง
นายไชยา ได้ไปพูดคุยรับฟังปัญหากับกลุ่มเกษตรกรอย่างละเอียด พร้อมตรวจสภาพโคในคอกด้วยตัวเอง ก่อนจะบอกว่า โครงการนี้ถ้าจะเดินหน้าต่อ ต้องมีการพูดคุยกันทุกฝ่าย ทั้ง ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, กระทรวงหาดไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เท่าที่ตรวจดูรายละเอียดของโครงการ พบว่าเกษตรกรต้องรับภาระ เพราะเงินซื้อโคเป็นเงินกู้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ฉะนั้นถ้าโคไม่ติดลูกก็จะเป็นภาระ คิดว่าควรปรับสัญญาให้มีการันตี หรือมีหลักประกันว่าโคต้องติดลูกภายใน 2 ปี เพราะเกษตรกรต้องชำระหนี้คืนกองทุน ตั้งแต่ปีที่ 4 ถึงปีที่ 7 ปีละ 25% หาก 2 ปีแล้วไม่ติดลูก ต้องเปลี่ยนตัวโค
แต่เฟสแรก ระยะนำร่องของโครงการ ขณะนี้ผ่านไปแล้ว ไม่สามารถแก้สัญญาได้ จึงต้องสร้างความเชื่อมั่น ประสานให้เอกชนนำโคมาเปลี่ยนให้ทั้งหมด อย่าให้ประชาชนมีความรู้สึกเหมือนเราไปยัดเยียดของไม่ดีให้
นอกจากนั้น เงินที่ซื้อโค เป็นเงินที่เกษตรกรทำสัญญากู้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ดังนั้นเงินนี้ควรที่จะโอนให้เกษตรกร และให้อำนาจในการจัดซื้อเป็นอำนาจของเกษตกรโดยตรง เกษตรกรจะเลือกซื้อจากที่ไหนก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้
นายไชยา บอกด้วยว่า จากการที่ได้สอบถามรองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดปัตตานี ทราบว่าราคาโคอยู่ที่ประมาณ 8,000-9,000 บาท ฉะนั้นเงิน 17,000 บาทที่เกษตรกรต้องกู้จากกองทุนฯ อาจจะซื้อได้ 2 ตัวด้วยซ้ำ เงินก้อนนี้เป็นเงินของเกษตรกรเอง เนื่องจากทำสัญญากู้มา จึงควรให้เป็นอำนาจของการตัดสินใจของตัวเกษตรกร
“สำหรับการเยียวยาเบื้องต้นแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค ได้ให้ปศุสัตว์นำหญ้าแห้งไปแจกจ่ายในแต่ละกลุ่ม อย่างน้อยกลุ่มละ 50 ก้อน ส่วนเรื่องวัวไม่ตรงสเปคไ ด้มีการหารือกันแล้ว หากจะเดินหน้าต่อไป ทุกฝ่ายจะต้องมาพูดคุยกัน ซึ่งในเงื่อนไขต่างๆ ผมคิดว่าสามารถที่จะปรับได้ เพราะเป้าหมายคือการซื้อแม่พันธุ์มาผสมพันธุ์” รมช.เกษตรฯ ระบุ
@@ ศอ.บต.โต้โผตกลงเอกชน - ชาวบ้านไม่รับโคอาจไม่ผ่านตรวจโรค
ปัญหาของโครงการโคบาลชายแดนใต้ คือ ส่วนราชการที่รับผิดชอบหลัก คือ ศอ.บต. เป็นผู้คัดเลือกเอกชนคู่สัญญา โดยไม่มีการประกวดราคา และว่าจ้างเอกชนรายเดียว ส่งโคทั้งโครงการ ทำให้อาจมีโคบางส่วนมีปัญหา รวมถึงยังรับเหมาก่อสร้าง “คอกกลาง” และแปลงหญ้าอาหารสัตว์ด้วย
เรื่องนี้ รัฐมนตรีไชยา ได้ขอให้เกษตรกรพูดข้อมูลให้ฟังตรงๆ ปรากฏว่า นายสุรเดช บอกว่า มีส่วนราชการมาบอกกับเกษตรกรว่า ถ้าไม่ใช่โคของบริษัทนี้ จะไม่ผ่านการตรวจโรค โดยส่วนราชการที่เป็นผู้มีบทบาทคุยกับเอกชนทุกครั้ง และนำข้อมูลด้านบวกมาบอกเกษตรกร ก็คือ ศอ.บต. และเกษตรกรไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะเอกชนผู้ประกอบการคุยกับ ศอ.บต.ตลอด
“ทุกครั้งที่เข้าประชุมโครงการฯ ทางผู้ประกอบการจะมีการบรรยายและโฆษณาคุณสมบัติอยู่ตลอดว่า วัวสวย สมบูรณ์ พร้อมที่จะผสมพันธุ์ เพื่อให้กลุ่มผู้เลี้ยงวัวได้เลือกวัวของผู้ประกอบการ แต่วันที่มาส่งวัว เขาให้รับเลย ไม่มีการชั่งน้ำหนัก...หลังจากผมท้วงติงไป เขาจึงเอาบัตรประจำตัววัวมาให้ เราไม่เลือกวัวที่เขาให้มาได้ แต่งบประมาณอาจจะไม่ผ่าน มันมีสัญญาณว่า ถ้าไม่เลือกเขาอาจจะไม่ผ่านการตรวจโรค”
“ขอพูดตรงๆ ว่า ในการประชุมที่ผ่านมาทุกครั้งจะมีชื่อของนายอลัน กับ ศอ.บต.ตลอด เขามาบรรยายเรื่องโคสวย ผมในฐานะรองประธานสภาเกษตรกรปัตตานี เมื่อมีชาวบ้านมาหาสะท้อนปัญหา จึงต้องผลักดันให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ศอ.บต.ควรกระจายข่าว เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการ ให้ผู้ซื้อได้เลือกวัวที่มีสมบูรณ์พร้อมมีลูก ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำให้สมบูรณ์แบบ”
@@ “ดร.เจ๋ง” ร่วมลงพื้นที่ - บรรยากาศอึมครึม
เป็นที่น่าสังเกตว่า การลงพื้นที่ของรัฐมนตรีไชยา มีผู้บริหาร ศอ.บต.ไปรอต้อนรับด้วย คือ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. แต่ยืนอยู่วงนอก ไม่ได้เข้าไปพูดคุยหรือชี้แจงกับรัฐมนตรีไชยา เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามไปชวนคุย เจ้าตัวก็แสดงท่าทีไม่ค่อยอยากให้สัมภาษณ์
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ไม่ค่อยพอใจบทบาทของ ศอ.บต. เพราะอยู่เบื้องหลังการคัดเลือกเอกชน และค่อนข้างลอยตัวเมื่อเกิดปัญหาร้องเรียนขึ้น แต่ฝ่ายที่ต้องรับหน้าและรับผิดชอบ คือ กรมปศุสัตว์