ปัญหาของโครงการโคบาลชายแดนใต้ งบประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท ยังไม่จบ
ภายหลังชาวบ้านและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการออกมาร้องเรียนว่า ได้รับ “โคแม่พันธุ์ไม่ตรงปก” เป็นโคอ่อน ผสมพันธุ์ไม่ได้ แถมรูปร่างผอมแห้ง น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ แต่คิดราคาเต็ม ตัวละ 17,000 บาท
ล่าสุดปัญหาเริ่มบานปลาย เมื่อกลุ่มเกษตรกรไม่พอใจที่เอกชนคู่สัญญา และหน่วยงานรัฐอ้างว่า สาเหตุที่โคผอม เพราะชาวบ้านเลี้ยงไม่ถูกหลักเอง และโคอาจได้รับอาหารไม่เพียงพอ เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้ ที่ จ.ปัตตานี กำลังจัดเตรียมสถานที่ เพื่อเตรียมรับ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะลงพื้นที่ติดตามปัญหาของโครงการ และหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (29 ม.ค.)
รัฐมนตรีไชยา คือคนที่ออกมาตั้งข้อสังเกตอย่างตรงไปตรงมาว่า โครงการนี้น่าจะมีปัญหาและความไม่ชอบมาพากล เนื่องจากจัดจ้างเอกชนเพียงรายเดียว รับงานโครงการมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท ทั้งจำหน่ายโค ส่งโค สร้างคอก และทำแปลงหญ้าอาหารสัตว์
โดยเอกชนรายนี้มีฟาร์มอยู่ที่ั จ.นครสวรรค์ ซึ่งห่างไกลจากจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก ซ้ำยังเป็นการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ไม่ประกวดราคา
การลงพื้นที่ จ.ปัตตานีในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ทำให้เกษตรกรตั้งความหวังว่าจะได้รับการเยียวยาและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
@@ เกษตรกรฉุน โต้ข้อหาน้ำท่วมทำโคผอม
บรรยากาศในพื้นที่ขณะนี้ กลุ่มเกษตรกรกำลังวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความไม่พอใจ หลังจากหน่วยงานรัฐบางหน่วย และเอกชนคู่สัญญาในโครงการโคบาลชายแดนใต้ ยังคงยืนยันว่า ส่งโคน้ำหนักตรงตามสเปค คือตัวละ 160 กิโลกรัมขึ้นไปให้กับชาวบ้านในปัตตานี แต่สาเหตุที่โคผอม และป่วยจนต้องเชือดไปบางส่วนนั้น เนื่องจากเกษตรกรเลี้ยงไม่ดีเอง และเป็นผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ ทำให้อาหารขาดแคลน
สุรเดช หะยีสมาแอ รองประธานสภาเกษตรจังหวัดปัตตานี และเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” บอกว่า ฟาร์มเลี้ยงโคส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้ถูกน้ำท่วม เพราะเกษตรกรจะสร้างฟาร์มในภูมิประเทศที่เหมาะสม และป้องกันปัญหาน้ำท่วมเอาไว้ล่วงหน้า เนื่่องจากพื้นที่ชายแดนใต้มีฝนตกหนักและมีน้ำท่วมทุกปี โดยเฉพาะเดือน ธ.ค.
อย่างฟาร์มของตนก็ถมดินสูง และปรับพื้นที่เตรียมรับภัยน้ำท่วมเอาไว้ล่วงหน้า ขอยืนยันว่าที่เอกชนบอกว่าโคผอมเพราะน้ำท่วมนั้น ไม่ใช่เรื่องจริงเลย
สอดคล้องกับ มะนาเซ มะลี ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงวัวบ้านกระเสาะ อ.มายอ จ.ปัตตานี ที่บอกว่า หลังจากได้ทราบข่าวที่ผู้ประกอบการให้ข่าวว่า โคผอมเพราะประสบภัยน้ำท่วม ฟังแล้วรู้สึกโกรธมาก จึงทำคลิปลงเฟซบุ๊กส่วนตัว โชว์ให้เห็นเลยว่าไม่ใช่เรื่องจริง เรามีทั้งฟาร์ม มีทั้งฟางแห้ง และหญ้าสดขายให้คนอื่นด้วย ที่สำคัญไม่ได้ประสบภัยน้ำท่วมเลย เพราะช่วงที่น้ำท่วม ไม่ได้ท่วมหมดทุกพื้นที่
เกษตรกรหลายคนยังส่งภาพโคที่สภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง มาให้ดูเปรียบเทียบกับโคที่อ้างว่าอยู่ในโครงการบางตัวที่ผอมแห้ง เห็นแต่ซี่โครง โดยโคสีดำ มาจากฟาร์มที่ จ.นราธิวาส
@@ ป.ป.ช.ฟันธง “โคผอม - น้ำหนักทิพย์”
ด้านความคืบหน้าการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของโครงการ นายธีระชัย สุขเกษม ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี ยืนยันกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ 5 ฟาร์ม 5 กลุ่มวิสาหกิจ พบว่าโคในโครงการที่สุ่มชั่งน้ำหนัก มีน้ำหนักต่างกันมา ระหว่าง 98 กิโลกรัม ถึง 195 กิโลกรัม โดยมีทั้งโคที่เพิ่งส่งถึงมือเกษตรกรเพียงไม่กี่วัน และโคที่เกษตรกรได้รับมาราวๆ 1 เดือนเศษ
ในขณะที่บัตรประจำตัวสัตว์จะลงตัวเลขน้ำหนักโคอยู่ที่ 162-165 กิโลกรัมทุกตัว จึงเกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดตัวเลขที่ชั่งภายหลังจึงสวิงมากขนาดนั้น การชั่งน้ำหนักก่อนขนส่งโค มีการชั่งจริงหรือไม่ เพราะมีผลต่อความน่าเชื่อถือ เนื่องจากน้ำหนักที่ชั่งจริงตอนตรวจสอบ แตกต่างกันมากเกินไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเอกสารเพิ่มเติมจากกรมปศุสัตว์
นายธีรชัย บอกด้วยว่า แม้โครงการนี้จะใช้เงินนอกงบประมาณ แต่ก็ต้องถูกตรวจสอบเหมือนงบประมาณแผ่นดิน และ ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบแน่นอน แต่ขั้นตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นชี้มูลความผิด เพราะยังอยู่ในขั้นรวบรวมข้อเท็จจริงเท่านั้น