หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ ”โครงการโคบาลชายแดนใต้” เร่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หลังกลุ่มเกษตรกรใน จ.ปัตตานี ออกมาร้องเรียนได้รับ “โคไม่ตรงปก - วัวผิดสเปค”
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการโคบาลชายแดนใต้อย่างเร่งด่วน โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และให้รายงานผลการตรวจสอบต่อตนเองอย่างต่อเนื่องโดยเร็ว
“ผมได้รับรายงานเรื่องนี้แล้ว และได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรที่ร่วมโครงการ จึงต้องรีบตั้งกรรมการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน เพื่อหาข้อเท็จจริงและแก้ปัญหา หากเกษตรกรหรือประชาชนท่านใดมีข้อมูลหรือได้รับความเดือดร้อน ขอให้แจ้งมาที่คณะกรรมการตรวจสอบของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที" ร.อ.ธรรมนัส ระบุ
อนึ่ง โครงการโคบาลชายแดนใต้ ใช้งบประมาณสูงถึงกว่า 1,500 ล้านบาท วาดหวังจะพัฒนาให้ดินแดนปลายด้ามขวาน กลายเป็น “ศูนย์กลางการผลิตโค และส่งออกเนื้อวัวฮาลาลระดับโลก” ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ “เลี้ยงโคพันธุ์ดี” มีการดูแลครบวงจร รวมถึงจัดหาตลาดให้
แต่ปรากฏว่าเมื่อเริ่มโครงการจริง โคที่ชาวบ้านกู้เงินมาซื้อตัวละ 17,000 บาท กลายเป็น “โคผอม - อมโรค” บางคนเรียก “โคซี่โครงบาน” ไม่ใช่ “โคบาล” ตามชื่อโครงการ และไม่สามารถใช้เป็นแม่พันธุ์ได้ เนื่องจากน้ำหนักและอายุน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด บางตัวไม่ถึง 160 กิโลกรัม
@@ เสนอตั้ง “คนนอก” ร่วมเป็นกรรมการ
ขณะที่ นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแล “กรมปศุสัตว์” กล่าวว่า เพิ่งได้รับทราบการรายงานข่าวปัญหาในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” โดยโครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง
แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ได้มีการหารือกับ ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ทราบว่าได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และตนก็ได้เสนอแนะไปว่า เรื่องนี้ควรให้ “บุคคลภายนอก” ร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วย
ขอยืนยันว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น หากพบความผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริต ก็จะดำเนินการอย่างเด็ดขาดทันที
@@ สงสัย “วัวไทย” จริงหรือเปล่า?
ต่อมา นายไชยา ให้สัมภาษณ์รายการ “ข่าวข้นคนข่าว” ทางเนชั่นทีวี ยอมรับว่า รู้สึกตกใจที่เห็นภาพโคผอม อมโรค จากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน
ทั้งยังบอกว่า แม้ตนจะไม่ได้เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโค แต่เห็นโคตัวผอมแบบนี้ก็รู้สึกรับไม่ได้ และข้อตั้งข้อสงสัยว่า เป็นโคไทยจริงหรือไม่ เอกชนผู้จำหน่ายโคนำโคมาจากที่ไหน เหตุใดจึงไม่มี “บัตรประจำตัวสัตว์” ตามที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกล่าวหา
“เรื่องนี้คิดว่าต้องตรวจสอบค้นหาความจริงต่อไปว่าโคเหล่านี้มาจากที่ใด เพราะถ้าเป็นโคไทย จะต้องมีบัตรประจำตัวสัตว์ และมีการประทับตรา แต่เท่าที่ฟังข่าวเห็นว่าไม่มีบัตรประจำตัวสัตว์ ฉะนั้นหากไม่ใช่โคไทยก็จะผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าโคเข้ามาในราชอาณาจักรได้” รมช.เกษตรฯระบุ
@@ กรมปศุสัตว์ตื่นตั้ง กก.สอบ “โคผอม”
ด้านกรมปศุสัตว์ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ เนื้อหาในเอกสารอ้างถึง นายสัตวแพทย์ ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุว่า จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ปรากฏข่าวว่าการจัดหา “แม่โค” ในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ไม่ตรงกับที่กำหนดในคุณลักษณะเฉพาะของ “แม่โคเนื้อ” ในโครงการ เนื่องจากโคมีลักษณะซูบผอม
“กรมปศุสัตว์จะตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยร่วมกับ ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระทรวงมหาดไทย หากปัญหามาจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด” รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุ
@@ ศอ.บต.ดึง “ปลัด 5 จังหวัดใต้ - เกษตรกร” ร่วมสอบ
อีกด้านหนึ่ง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. ได้มีคำสั่ง ศอ.บต.ที่ 28/2567 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีข้อร้องเรียนในประเด็น “แม่โคพื้นเมืองที่ส่งมอบให้กลุ่มเกษตรกรมีลักษณะซูบผอม น้ำหนักไม่ตรงกับที่กำหนดในคุณลักษณะเฉพาะของแม่โคเนื้อในโครงการโคบาลชายแดนใต้”
เนื้อหาในคำสั่งระบุว่า ศอ.บต.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) และเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนบริหารจัดการและอำนวยการ ติดตาม กำกับ และประเมินผลการดำเนินกิจกรรมโครงการโคบาลชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปตามเป้าหมายตามมติ กพต. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น ประกอบด้วย
1.นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานคณะกรรมการ
2.นายประมุข ลมุล ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เป็นรองประธานคณะกรรมการ
3.ปลัดจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล) เป็นกรรมการ
4.นายแวฮามะ บากา คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ (ผู้แทนเกษตรกร) เป็นกรรมการ
5.ผอ.กองบริหารยุทธศาสตร์ฯ ศอ.บต. เป็นกรรมการ
6.ผอ.กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. เป็นกรรมการ
7.เจ้าหน้าที่กองบริหารยุทธศาสตร์ฯ, เจ้าหน้าที่กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน เป็นกรรมการ
โดยมอบหมายหน้าที่ให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการรวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีข้อร้องเรียนในประเด็นแม่โคพื้นเมืองที่ส่งมอบไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่กรมปศุสัตว์กำหนด ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หลังจากมีคำสั่งแต่งตั้งและให้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต.ทราบ เพื่อนำเสนอต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพต.รับทราบและพิจารณาสั่งการต่อไป