หนึ่งใน “จำเลย” ของปัญหาไฟใต้ และอีกหลายๆ ปัญหาของประเทศ หรืออาจจะโลกใบนี้ คือ เอ็นจีโอ หรือ องค์กรพัฒนาเอกชน
ปัจจุบันมี “เอ็นจีโอ” ที่ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวหน้าเดิมๆ แต่เป็นคนในแต่ละท้องถิ่นที่ตื่นรู้ และตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของภาครัฐ เรียกว่า “ภาคประชาสังคม”
ในบริบทไฟใต้ ภาคประชาสังคมมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าฝ่ายใด
พวกเขาและเธอถูกมองแง่ลบจากภาครัฐ ฝ่ายความมั่นคง และผู้คนบางส่วนในสังคมพอสมควร
น่าสนใจว่าพวกเขามองปัญหาไฟใต้อย่างไร ทั้งรากเหง้าและทางออก
“ทีมข่าวอิศรา” จับเข่าคุยกับ อัญชนา หีมมิหน๊ะ แกนนำกลุ่มด้วยใจ และหนึ่งในกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งกำลังมีบทบาทอย่างสูงในฝ่ายนิติบัญญัติ
“ตอนนี้ 20 ปี เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับหน่วยงานด้านความมั่นคง กับรัฐบาล”
อัญชนา เปิดประเด็นอย่างน่าสนใจ ก่อนจะขยายความ
“แนวทางแก้ปัญหาจะต้องทำให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นมิตรกับประชาชน ไม่ใช่แค่ภาพเฟค (ลวง หรือภาพที่ปั้นแต่งขึ้นมา) เช่น การยิ้มให้กล้องถ่ายรูป…ไม่ใช่แบบนั้น แต่ต้องเปลี่ยนเรื่องของการปฏิบัติ”
อัญชนา แจกแจงว่า เจ้าหน้าที่มี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายมวลชน และฝ่ายปฏิบัติการ ทั้งสองฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการปฏิบัติการ เช่น การวิสามัญฆาตกรรม จะต้องมีการปรับวิธีการ
“ที่ผ่านมาแทบไม่มีการเจรจาก่อน บางกรณี เช่น เคสจะนะ (หนึ่งใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา) ไปถึงก็ยิง มาเจรจาทีหลัง ถ้าเปลี่ยนมาเจรจาก่อนแบบท่ากำชำ (อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) เจรจาก่อน ถ้าเขาไม่ยอมคุณสังหาร เขาก็ยอมรับได้ แต่หลักสิทธิมนุษย์ชน การสังหารมันทำไม่ได้”
อัญชนา ย้ำว่า สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับร่วมกันก่อน คือความรุนแรงเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ทุกกรณี
“รัฐต้องยอมรับก่อนว่าความรุนแรงมาจากรัฐและขบวนการ ทีนี้รัฐต้องใช้วิธีการเจรจาที่นำมาสู่การแก้ปัญหาให้ได้ (ทั้งปฏิบัติการปิดล้อมจับกุม และการเจรจาในภาพใหญ่เพื่อยุติปัญหา) มีข้อตกลงที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย โดยที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุด “
คุยกับเอ็นจีโอ หรือภาคประชาสังคม ต้องถามเรื่อง “ถอนทหาร” เพราะเป็นข้อเรียกร้องมาเนิ่นนาน และข้อเรียกร้องนี้ก็ทำให้เจ็บตัวได้เหมือนกัน
ประเด็นนี้ อัญชนา มีแง่คิดในรายละเอียดที่น่าสนใจ
“การถอนทหาร หรือยุบ กอ.รมน. ถึงทำก็ไม่จบ เพราะบีอาร์เอ็นเขามีกองกำลังของเขา ถ้าเขายังไม่ได้ทุกสิ่งที่เขาต้องการ หรือที่เขายอมรับได้ เขาต้องมีการใช้ความรุนแรงไปเรื่อยๆ ถ้าบอกว่า การถอนทหาร หรือยุบ กอ.รมน. หรือแก้ปัญหาเรื่องของการพัฒนา ที่บอกว่าจะช่วยแก้ได้…มันไม่ได้ เพราะตัวละครที่สำคัญที่มีกองกำลังยังอยู่ ยังมี…และยังมีพลังอยู่”
“เพราะฉะนั้นเราต้องคุยกับเขา และสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมั่นคง คือการเคารพสิทธิ์ ทำให้ประชาชนยอมรับโครงสร้างการทำงาน ตลอดจนนโยบายของรัฐ มีการพัฒนาที่ดีขึ้น อันนี้แค่องค์ประกอบที่จะสนับสนุนในการแก้ปัญหา และทำให้การเจรจาสำเร็จไปได้”
ถึงนาทีนี้ ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าฝ่ายที่ก่อการ เป้าหมายคือ “เอกราช” แต่ความจริงที่ฝ่ายขบวนการเองก็ต้องยอมรับด้วยเช่นกันก็คือ เป้าหมายนั้นเป็นไปไม่ได้
“จากการลงพื้นที่หลายๆ พื้นที่ ประชาชนเข้าใจแล้วว่าความต้องการของเขา (ขบวนการ) คือเอกราช แล้วเขาเข้าใจแล้วว่าเอกราชอาจเป็นไปไม่ได้ในช่วงเวลาแบบนี้ สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลง…”
คำถามต่อมาคือ การเปลี่ยนแปลงที่ต้องการคืออะไร...แน่นอน อัญชนา มีคำตอบ
“เขาอาจยอมรับได้ ‘เขตปกครองพิเศษ’ ที่เขาต้องมีส่วนและมีส่วนร่วมในการเลือกผู้นำ ไม่ใช่ใครก็ได้มาเป็น เป็นกลไกของประชาธิปไตย อย่างทุกวันนี้ประชาชนก็เลือก แต่โครงสร้างของ อบต. อบจ. มันมีความไม่เป็นเอกเทศอย่างชัดเจนกับส่วนกลาง มีการควบคุมดูแลโดยรัฐบาลกลางและมีการควบคุมดูแลระดับจังหวัด นโยบาย งบประมาณ มันถูกควบคุมโดยอีกส่วนหนึ่ง เหมือนไม่สมบูรณ์เต็มที่ของการกระจายอำนาจ”
“มันทำให้ประชาชนรู้สึกว่า อบต. อบจ. ยังไม่ได้เป็นการเลือก หรือเป็นส่วนหนึ่งของเขาอย่างแท้จริง เขายังรู้สึกว่ามีการครอบอยู่อีก ไม่ได้มีอิสระ เขาต้องการการกระจายอำนาจที่ เขามีส่วนร่วมกับการเมืองการปกครองมากขึ้น และมีอิสระในแง่ของการจัดสรรงบประมาณ เขารู้สึกว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของเขา แล้วเขาควรจะได้รับประโยชน์จากพื้นที่นี้มากกว่านี้”
อัญชนา ตั้งประเด็นทิ้งท้ายไว้ให้คิด นั่นก็คือแนวคิดและท่าทีของผู้คนที่ “ปฏิเสธรัฐ” ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเทรนด์ หรือทิศทางของคนรุ่นใหม่บางส่วน แต่แนวคิดเช่นนี้ เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานแล้ว การแก้ปัญหาจึงต้องรู้เท่าทัน และแก้ไขที่ต้นตอ
“จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น 20 ปี การปฏิเสธรัฐมันเกิดขึ้นในสังคม ถึงแม้จะมีนโยบาย ศอ.บต. นโยบายต่างๆ มากมาย แต่ก็ยังเป็นนโยบายที่ควบคุมและมอบให้ ยังไม่ใช่สิ่งที่ึคนพื้นที่ต้องการจริงๆ”
“เช่น นโยบายการศึกษา ตาดีกา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม รัฐให้งบประมาณมาสนับสนุนเยอะมาก แต่แลกมาโดยการควบคุมจาก สช. (สำนักงานการศึกษาเอกชน) โรงเรียนต้องให้รายชื่อครู ให้รายชื่อนักเรียน ต้องดูหลักสูตรได้ ทหารเข้าไปตรวจเยี่ยมได้ สั่งให้ครู นักเรียนไปอบรมได้ มันไม่ใช่ได้มาด้วยความอิสระ มันไม่ใช่ได้มาด้วยความจริงใจ แต่เป็นนโยบายเพื่อมาคุม”
“สิ่งที่เขาต้องการคือ ความเป็นอิสระในการคิด ดำเนินการดูแล และความอิสระนั้น คือเขาพอใจที่จะอยู่ในรูปแบบใด” อัญชนา กล่าว
ถือเป็นโจทย์ที่แหลมคมของปัญหาไฟใต้ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐและฝ่ายความมั่นคงจะก้าวข้ามกำแพงต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่และกลุ่มขบวนการตามที่อัญชนาบอกไว้หรือไม่?!?