แอดมินเพจ “พ่อบ้านใจกล้า” เข้าพบดีเอสไอพร้อมทนายมุสลิม หลังถูกหมายเรียกข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ฉ้อโกง เจ้าตัวให้การปฏิเสธทุกข้อหา เตรียมทำเอกสารชี้แจงใน 30 วัน ปลื้มครอบครัวที่เคยได้รับเงินช่วยเหลือแห่ให้กำลังใจ สะท้อนทำงานเพื่อส่วนรวม ด้านเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เรียกร้อง “นายกฯ – รมว.กลาโหม - รมว.ยุติธรรม” สั่งยุติดำเนินคดีนักกิจกรรมชายแดนใต้
วันจันทร์ที่ 8 ม.ค.67 นายซาฮารี เจ๊ะหลง นักกิจกรรมสื่อปาตานี เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สำนักงานดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) อ.เมือง จ.ปัตตานี หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียกในข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ กรณีเปิดเพจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ชื่อเพจ “พ่อบ้านใจกล้า” โดยมี นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ ทนายมุสลิม และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย, นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) และเพื่อนๆ ร่วมให้กำลังใจ
นายซาฮารี กล่าวว่า วันนี้ต้องขอบคุณทุกกำลังใจ และกำลังใจจากครอบครัวที่ชมรมพ่อบ้านใจกล้าได้นำเงินไปช่วยเหลือ ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ทำเกิดประโยชน์ต่อภาพรวม ในส่วนของคดีก็ว่าไปตามขั้นตอน ไม่มีปัญหา พร้อมจะต่อสู้คดี ไม่ว่าจะอยู่ในชั้นอัยการหรือชั้นศาล
“ก็ขอยืนยันต่อหลักการในการทำงานมาตลอด ในฐานะนักกิจกรรมและทำสื่อมานานในพื้นที่ การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมไม่ใช่อาชญากรรม และไม่ควรที่จะต้องถูกกฎหมายดำเนินการ ก็อยากจะเชิญชวนเพื่อนๆ ทุกคน ติดแฮซแท็ก # มนุษยธรรมไม่ใช่อาชญากรรม”
ด้าน นายอับดุลกอฮาร์ ทนายมุสลิม เผยว่า นายซาฮารีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริต หลอกหลวงให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แล้วก็ฉ้อโกงประชาชน วันนี้มาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งตามข้อกล่าวหาพบว่ามี 4 เคสที่มีการทุจริตบิดเบือนข้อมูลที่เป็นเท็จและฉ้อโกงประชาชน ซึ่งทั้ง 4 เคสนี้ เราจะต้องสอบถามข้อมูลจากครอบครัว 4 ครอบครัวเพื่อจัดทำเป็นเอกสารส่งให้คณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอภายใน 30 วัน ซึ่งยืนยันว่าข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ตั้ง ได้ให้การปฏิเสธทั้งหมด
ขณะที่ นายเอกรินทร์ ซึ่งเดินทางมาให้กำลังใจนายซาฮารี กล่าวว่า รัฐทำเกินกว่าเหตุ และไม่สมควรที่จะใช้กฎหมาย มาข่มขู่กับนักเคลื่อนไหวต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพที่จะเกิดขึ้นเลย
@@ รู้จักเพจ “ชมรมพ่อบ้านใจกล้า”
เพจ “ชมรมพ่อบ้านใจกล้า Butler's Club” เริ่มเปิดสู่สาธารณะเมื่อวันที่ 7 พ.ค.64 โดย นายซาฮารี เจ๊ะหลง และเพื่อนๆ ได้จัดกิจกรรมระดมทุนรับบริจาค มีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม หรือเสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่
เริ่มเปิดระดมทุนครั้งแรกให้กับครอบครัวของ นายรีสวัน เจ๊ะโซะ กับ นายอีลียัส เวาะกา ที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฯ ที่บ้านบาตูลือละ หมู่ 2 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 4 พ.ค.64 โดยใช้บัญชีธนาคารที่เป็นชื่อของ นายซาฮารี เจ๊ะหลง เป็นบัญชีในการรับบริจาค
นับจากนั้นมีกิจกรรมระดมทุนรับบริจาคมาถึงครั้งที่ 7 ทางชมรมฯ ได้มีการเปลี่ยนบัญชีธนาคารในการระดมทุนรับบริจาค เป็นบัญชีชื่อ “ชมรมพ่อบ้านใจกล้า”
กระทั่งกิจกรรมระดมทุนรับบริจาคช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต ครั้งที่ 14 ทางชมรมฯได้รับทราบว่า เริ่มมีผู้บริจาคถูกเรียกสอบจากหน่วยงานของรัฐ จึงทำให้ทางชมรมฯ หยุดเปิดระดมทุนแค่ครั้งที่ 14 ซึ่งเป็นสุดท้ายที่มีการรับบริจาคผ่านทางบัญชีของชมรม
@@ เรียกร้องนายกฯ สั่งยุติดำเนินคดีนักกิจกรรมชายแดนใต้
ขณะเดียวกัน ทางเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรณีที่ตลอดปี 2566 จนถึงปัจจุบัน มีนักกิจกรรม นักศึกษา ศิลปินและสื่อมวลชนภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยกองทัพภาคที่ 4 / กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รวมเกือบ 10 คนแล้ว
โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จึงเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยสรุปดังนี้
1.ให้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กองทัพภาคที่ 4 / กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถอนฟ้องและยุติการดำเนินการคดีกับนักกิจกรรม นักศึกษา ศิลปิน และสื่อมวลชนภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำกับดูแลการทำงานของกองทัพภาคที่ 4 / กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ขัดแย้งกับแนวทางการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ และต้องไม่เป็นผู้สร้างเงื่อนไขหรือเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพชายแดนใต้เสียเอง
3.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องไม่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ต้องทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนชายแดนใต้ว่า “จะนำหลักนิติธรรมกลับคืนมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้” รวมถึงทบทวนบทบาทของดีเอสไอ ต่อกรณีออกหมายเรียกนักกิจกรรมเพจ “พ่อบ้านใจกล้า” ว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่