วันพฤหัสบดีที่ 4 ม.ค.67 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬารที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ไฟใต้รอบใหม่” ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน
ปรากฏว่าในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พรรคฝ่ายค้านนำโดยก้าวไกล ได้หยิบยกประเด็น “งบดับไฟใต้” และงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาอภิปราย บรรยากาศค่อนข้างดุเดือด ถึงพริกถึงขิง
นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุตอนหนึ่งว่า ในรอบ 2 ทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัฐบาลนี้ เราต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว 74 ครั้ง วันที่ 19 ม.ค.67 รัฐบาลจะต้องตัดสินใจเป็นครั้งที่ 75 ว่าจะต่อหรือไม่
ขณะเดียวกันเราประกาศกฎอัยการศึกมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งในสามจังหวัดยังใช้กฎอัยการศึกอยู่ ในการจัดงบประมาณในปีแรกของรัฐบาลนี้ ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลก่อนหน้านี้เลย แม้ว่าจะมีสัญญาณดีอยู่บ้าง แต่ทิศทางใหญ่ไม่ได้แตกต่างกันเลย
@@ ตายเจ็บกว่า 2 หมื่น - ใช้งบไป 5 แสนล้าน
ต้นทุนของสังคมไทยในการจัดการกับวิกฤติไฟใต้เราสูญเสียอะไรไปบ้าง ตอบคำถามได้ 2 เรื่อง คือเรื่องชีวิตคน และเรื่องงบประมาณ จากฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถิติล่าสุดจนถึง 31 ธ.ค.66 ครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อปี 2547 มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 22,296 ครั้ง บาดเจ็บล้มตายไป 2 หมื่นกว่าคน เป็นผู้เสียชีวิต 7,547 ราย บาดเจ็บ 14,028 ราย ทิศทางของสถานการณ์ส่วนใหญ่ก็ลดลง มีเพิ่มขึ้นบ้างในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา แต่จะเห็นได้ชัดว่า ตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นมา หรือปีที่มีกระบวนการสันติภาพเปิดเผยต่อสาธารณะ สถานการณ์ก็ดีขึ้น
ส่วนงบประมาณดูเหมือนจะสวนทาง แต่ยอดที่เพิ่มขึ้นแต่ละครั้งขึ้นอยู่ว่าตอนนั้นรัฐบาลมาจากการรัฐประหารหรือไม่ด้วย เห็นได้ชัดว่ามันเพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่ายอดล่าสุดของงบประมาณโดยรวมคือ 5.4 แสนล้านบาท หรือเอาตัวเลขตรงๆ เลยก็ 538,514 ล้านบาท นี้คือต้นทุนที่เราสูญเสีย
@@ งบแก้ปัญหาใต้มี 2 ยอด ต้องชี้แจงตามความเป็นจริง
ในงบประมาณของปี 2567 ที่มีการของบประมาณมารวมทั้งหมด 2.5 หมื่นล้านบาท (25,593 ล้านบาท) จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มียอดอยู่ 2 ยอดซ่อนอยู่ คือยอดแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อีกยอดก็จะเป็นงบประมาณอื่นที่อยู่ในแผนอื่นๆ ที่ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าใช้เพื่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เวลาชี้แจงจะพูดแค่ตัวเลขงบบูรณาการฯ แต่ต้นทุนที่แท้จริงของในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ใช้งบประมาณจริงเยอะกว่านั้น เราต้องพูดตามความเป็นจริง
เมื่อดูงบที่ซุกๆ กันอยู่ในแผนบูรณาการฯ นับเป็นแค่ 1 ใน 4 เท่านั้นของยอดทั้งหมด พอดูเฉพาะแผนบูรณาการ ดีตรงที่ระบุเป้าหมายให้เราเห็นว่า มีเป้าหมายใหญ่อะไรบ้าง อย่างเหตุรุนแรงลดลง เป็นตัวชี้วัดที่วางเอาไว้ว่า เหตุรุนแรงลดลงเมื่อเทียบกับปี 60 ซึ่งเป็นปีฐาน ร้อยละ 70 โดยวางเป้าหมายไว้ว่าในปี 70 สถานการณ์ความรุนแรงจะลดลง แต่พอดูงบประมาณการพูดคุยสันติสุข มีเพียงแค่ร้อยละ 0.29 จากงบประมาณทั้งหมด ทั้งๆ ที่เป็นวิธีการและแนวทางยุทธศาสตร์ แต่ก็ถูกจัดวางเอาไว้แค่นี้
@@ แค่ลดเหตุรุนแรงไม่พอ ต้องเพิ่มสันติภาพเชิงบวก
เป้าหมายของแผนบูรณาการดับไฟใต้ เหตุรุนแรงลดลง ในทางหนึ่งในแง่ของนักวิจัยสันติภาพ เราเรียกสิ่งนี้ว่า สันติภาพเชิงลบ (Negative Peace) หรือเป็นสันติภาพภายใต้เงื่อนไขที่ต้องลดบางอย่าง โดยตรรกะแบบนี้ถ้าวิเคราะห์ทั้งแผนบูรณาการ แผนแม่บท ยุทธศาสตร์ชาติ เราก็จะเห็นว่า เป้าหมายสูงสุดก็มุ่งไปสู่การสร้างความสงบ เป็นความสงบแบบราบคาบ
“ผมคิดว่าเรามองแค่สันติภาพเชิงลบไม่พอ ความปลอดภัยสำคัญก็จริง แต่ต้องเห็นด้วยว่าเงื่อนไขของความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันเกิดเพราะอะไร จึงต้องเพิ่มสันติภาพเชิงบวก (Positive Peace) เข้าไปด้วย คือ เรื่องความยุติธรรม เงื่อนไขที่คนต่อต้านก่อกบฏ เพราะเขารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม อาจจะต้องพูดถึงการกระจายอำนาจ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การปรับปรุงกฎหมาย การปฏิรูปกองทัพ และกองกำลังติดอาวุธ ต้องเพิ่มอีกหลายเรื่องเลย แต่ภายใต้การจัดงบประมาณแบบนี้ คาดหวังน้อย มองแค่สันติภาพเชิงลบและเชิงลดเท่านั้น”
@@ ตัวชี้วัดงบหาย กลายเป็นดัชนีความสงบสุขภาคใต้
นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า ถ้าดูจากจำนวนเงินงบประมาณรอบนี้ เพิ่มจากปีที่แล้ว 6.5 เปอร์เซ็นต์ จริงๆ ก็ไม่เยอะมาก แต่จุดสำคัญคือ ตัวชี้วัดของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนหน้านี้คือ งบประมาณด้านความมั่นคงลดลงร้อยละ 10 ต่อปี แต่เมื่อต้นปีที่แล้ว รัฐบาลประยุทธ์เปลี่ยนตัวชี้วัดนี้ และตัวชี้วัดงบประมาณหายไป กลายมาเป็นดัชนีความสงบสุขภาคใต้ ซึ่งไม่รู้ว่า ประกอบไปด้วยการประเมินเรื่องงบประมาณด้วยหรือไม่ เมื่อรอบนี้เพิ่มขึ้นมา 6.5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเดินตามค่าเป้าหมายเดิมที่ลดร้อยละ 10 ต่อปี ตนเห็นว่างบดังกล่าวสามารถปรับลดได้ถึง 1,032 ล้านบาท
ส่วนดัชนีความสงบสุขภาคใต้คืออะไรไม่รู้ มีการปรับปรุงใหม่ เมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว จะเป็นดัชนีที่นับรวมการลดลงของงบประมาณหรือไม่ แล้วสถานการณ์จะสงบหรือไม่สงบ แต่งบก็ต้องมาหรือไม่ นี่คือคำถาม
@@ ขอ กอ.รมน. แจงปม “บุคลากรผี”
สำหรับงบประมาณที่ใช้ดับไฟใต้ กำหนดไว้นอกแผนบูรณาการ 3 ใน 4 อยู่ใน กอ.รมน. รวมกว่า 5,000 ล้านบาท เช่น งบกำลังพล และการดำเนินงานของ กอ.รมน. วงเงิน 3,535 ล้านบาท ที่อาจเกี่ยวข้องกับ “บุคลากรผี” คือมีชื่อปฏิบัติงานในพื้นที่ แต่ไม่ได้ทำงานจริง ดังนั้นขอให้ กอ.รมน. ชี้แจงว่ามีคนทำงานจริงเท่าไร หรือเป็นเพียงงบที่ใช้หากินเท่านั้น
“ผมขอตั้งคำถามไปยัง กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อ้างว่ามีหน้าที่รับมือกับภัยคุกคามความมั่นคง ทำให้จำเป็นต้องมีภัยคุกคามเพื่อให้องค์กรดำรงอยู่หรือไม่ หากทิศทางการแก้ปัญหาถูกต้อง เกิดความสงบขึ้นจริงๆ หน่วยงานนี้จะไปทำอะไร”
นายรอมฎอน อภิปรายอีกว่า ยังพบว่ามีค่าตอบแทนพิเศษสำหรับผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน 52 หน่วยงาน รวมงบประมาณ 1,527 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้คนในพื้นที่ดำเนินการในส่วนดังกล่าว
@@ ฟื้นคดีตากใบ ยกเป็นคดีพิเศษ - แขวะแม่ทัพไบโพลาร์
โดยตนมีข้อเสนอไปยังรัฐบาลที่มีนโยบายด้านยุติธรรม ให้ฟื้นคดีตากใบ เพราะอีก 10 เดือนจะหมดอายุความ โดยให้ริเริ่มเป็นคดีพิเศษ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมถึงให้นายกฯ กำชับไปยัง กอ.รมน. ภาค4 ส่วนหน้า ให้ยุติการฟ้องปิดปาก เพื่อให้การเจรจาสันติภาพเกิดขึ้นได้จริง รวมถึงเปิดพื้นที่ทางการเมือง เจรจาหาทางออกร่วมกันระหว่างคนในพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมถึงปรับลดงบประมาณที่ซ้ำซ้อนของ กอ.รมน.
“ขอให้นายกรัฐมนตรี กำชับท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ท่านทำมันบั่นทอนกระบวนการสันติภาพ เป็นไบโพลาร์ เดี๋ยวอยากจะคุย เดี๋ยวก็อยากจะปิดปาก อันนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องกำชับ ภายใต้เงื่อนไขงบประมาณนี้ ถ้านิติธรรมที่เข้มแข็งจริง เราอาจไม่ต้องใช้งบประมาณขนาดนี้“
@@ นายกฯแจง ไฟใต้ดีขึ้น - เศรษฐกิจฟื้น - ท่องเที่ยวเฮ
ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ใช้สิทธิ์ชี้แจงในที่ประชุมสภาว่า ขอบคุณสมาชิกที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับงบประมาณ และวิธีบริหารจัดการปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลายประเด็นน่านำมาพูดคุย แล้วให้ทีมงานไปขยายผลต่อ เพื่อปัญหาจะได้ลดลง
สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่สะสมมานาน แต่ระยะหลังเรื่องความมั่นคงก็ลดลงอย่างมีนัย ขอบคุณ สส. ทุกภาคที่เข้าไปมีส่วนร่วมทำให้เกิดความสงบ พูดคุยกับประชาชน ทำให้ปัญหาความรุนแรงลดน้อยลง และขอบคุณฝ่ายความมั่นคง รวมถึง กอ.รมน. แม้ฝ่ายค้านอาจไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ตนเห็นความตั้งใจจริง และเชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงรวมถึง กอ.รมน. มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ต้องการคืนความสงบ ความมั่งคั่งให้กับคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายกฯ กล่าวต่อว่า 100 กว่าวันที่ดำรงตำแหน่งได้ไปลงพื้นที่ชายแดนใต้ ได้เจอนายกฯมาเลเซีย พูดคุยกันเกี่ยวกับความสงบ ความมั่นคง ความเรียบร้อย และปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งตรงนี้ก็มีการพัฒนามาหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก แห่งที่ 2 พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และทำให้การเข้าเมืองของสองฝ่ายดีขึ้นโดยในช่วงเสาร์-อาทิตย์ ที่มีการยกเลิกใบ ตม.6 ไป นักท่องเที่ยวมาเลเซีย แต่เดิมมาแค่ 10,000 กว่าคน ตอนนี้ 30,000 กว่าคน โรงแรมใน 3 จังหวัดเต็มหมด รวมไปถึงหาดใหญ่
“ถ้าประชาชนมีเงินในกระเป๋า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัญหาความรุนแรงก็น่าจะลดน้อยลง ควบคู่ไปกับการทำงานของฝ่ายความมั่นคงสองประเทศ นอกจากนี้ มาเลเซียก็ชื่นชมว่า ไทยมีพลเรือนเป็นหัวหน้าทีมเจรจา และยินดีทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง” นายกฯเศรษฐา กล่าว
@@ ใต้สงบ กอ.รมน.หันช่วยงานพัฒนา-บรรเทาภัยพิบัติ
นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่ออีกว่า เชื่อว่า สส.ทุกคนมีความใส่ใจความสงบเรียบร้อยของประชาชนในชายแดนใต้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร ส่วนเรื่องงบประมาณจะขอน้อมรับไปพิจารณาพูดคุยว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้งบมีประโยชน์สูงสุด
ส่วนถ้าบ้านเมืองมีความสงบแล้ว ไม่รู้ว่า กอ.รมน. จะไปทำอะไรนั้น ขอไม่ต้องเป็นห่วง ตนพูดคุยกับผู้บัญชาการทหารบกไปเรียบร้อยแล้ว มีหลายเรื่องที่ยังต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขอุทกภัย ภัยแล้ง ขุดบ่อเก็บกักน้ำ รวมถึงช่วยเหลือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเมื่อวานนี้ก็มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ อาทิตย์หน้าก็จะมีการลงไปซ่อมแซมบ้านให้กับพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ตรงนี้ถือว่าทาง กอ.รมน.เองก็ให้ความใส่ใจ
“ส่วนเรื่องไบโพลาร์ ที่ สส.เปรียบเปรยให้ กอ.รมน.นั้น ผมไม่ได้เป็นหมอเลยไม่รู้ว่าเป็นหรือไม่” นายกฯกล่าว
ทั้งนี้ หลังจากนายกฯเศรษฐา ชี้แจงจบแล้ว นายรอมฎอนได้ขอใช้สิทธิชี้แจงเพิ่มเติมว่า เรื่องไบโพลาร์เป็นคำเปรียบเปรยในการทำงาน ไม่ใช่เรื่องสุขภาพ หรือเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งทิศทางของ กอ.รมน.ในการทำงาน ตนยังกังวล และขอเรียกร้องให้นายกฯ ลงนามรับรองร่างกฎหมายยกเลิก กอ.รมน. ที่ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน และส่งให้สภาพิจารณาด้วย
@@ “ชวน” ตั้ง 5 คำถามครบรอบ 20 ปีปล้นปืน
นายณัฐกานต์ ชูชนะ ผู้ช่วยดำเนินงานสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎรของ นายชวน หลีกภัย ได้ให้ข้อมูลว่า วันนี้ 4 มกราคม 2567 เป็นวันครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส อันเป็นผลมาจากการใช้นโยบายบริหารสถานการณ์ภาคใต้ของรัฐบาลในขณะนั้น
เเละสืบเนื่องจากการครบ 20 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว นายชวน หลีกภัย จึงได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง เหตุการณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ดังนี้
1. ขอทราบว่าจนถึงปัจจุบัน ทางราชการสามารถติดตามอาวุธปืนที่ถูกปล้นไปได้คืนมากี่กระบอก ขอทราบรายละเอียดว่าอาวุธที่ได้คืนมานั้นจากเหตุการณ์เมื่อใด
2. ขอทราบว่า มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่คนร้ายใช้อาวุธที่ปล้นไปจำนวนเท่าไร ขอทราบรายละเอียดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และทางราชการได้ดูและบำบัดทุกข์ครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างไร
3. อาวุธที่ยังไม่ได้คืนมา มีข้อมูลหรือไม่ว่าอยู่ ณ ที่ใด มีการติดตามเอาคืนมาหรือไม่ ด้วยวิธีใด
4. ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการปล้นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติการปล้นนอกภาวะสงคราม เพื่อป้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ขอทราบว่าได้มีการศึกษาสาเหตุในครั้งนี้หรือไม่ ขอทราบรายละเอียดของการศึกษาดังกล่าว
5. จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกด้วยนโยบายและมาตรการใด
โดยขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกตั้งกระทู้ถามจะต้องให้คำตอบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ส่งไปยังนายกรัฐมนตรี