พูดถึงภารกิจดับไฟใต้ คงละเลยไม่พูดถึงบุคคลที่ทำหน้าที่ “แม่ทัพภาคที่ 4” ไม่ได้เลย
เพราะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 หรือ 20 ปีที่แล้ว นับจนถึงวันนี้ ซึ่งมีสถานการณ์ไฟใต้เป็นเหตุรุนแรงรายวันต่อเนื่องมา...
ปรากฏว่า “แม่ทัพภาคที่ 4” ยังคงเป็นผู้ที่มีบทบาทสูงสุดในภารกิจดับไฟความรุนแรง ณ ปลายด้ามขวาน
แม้จะเริ่มมีกระแสเรียกร้องให้ถอนทหาร ยุบหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยดังขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดพรรคการเมืองบางพรรคนำไปประกาศเป็นนโยบายหาเสียงก็ตาม
แต่ปรากฏว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล มีผู้นำชื่อ “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” ปรากฏว่า นโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ทุกอย่างเหมือนเดิม
กอ.รมน.ไม่ถูกยุบ แถมคงสถานะ “เจ้าภาพดับไฟใต้”
งบบูรณาการแก้ไขปัญหา ไม่ลดลง
แม้แต่งบกระทรวงกลาโหมก็เพิ่มขึ้น 2%
งบลับของกองทัพบกก็ยังตัวเลขเดิม
ทั้งหมดนี้ยืนยันสถานะของ “แม่ทัพภาคที่ 4” ในภารกิจดับไฟที่ปลายขวานได้เป็นอย่างดี
ในวาระ 20 ปีไฟใต้ จึงต้องเปิดพื้นที่ให้อรรถาธิบาย
“ผมไม่ได้มองว่าจะเป็นกี่ปี 10, 20 ปี หรือ 30 ปี เพราะจุดประสงค์ที่ต้องการของทุกคนก็คือ ต้องการให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบ”
พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 เอ่ยขึ้นในช่วงเริ่มแรกของการสัมภาษณ์ ยืนยันว่าห้วงเวลาของการเปิดปัญหา และวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญ ไม่ใช่สาระที่นำมาคิดหรือพิจารณาในการกำหนดภารกิจ
“เพราะการเตรียมความพร้อมนั้น ผมเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ เนื่องจากว่ายังมีบางกลุ่ม บางพวกที่ยังยึดถือในรูปแบบเก่าๆ อยู่ และยังมีการก่อเหตุในพื้นที่อยู่”
แม่ทัพภาคที่ 4 ให้เหตุผลของการ “สั่งเตรียมพร้อมตลอดเวลา” ไม่ว่าสถานการณ์ หรือวาระครบรอบวันใดก็ตาม
“ในห้วงนี้ก็มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา ผมได้เปิดแผนตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และคงจะเปิดยาวต่อเนื่อง เพราะว่าใกล้เทศกาลมีกิจกรรมหลากหลายมากมาย เราต้องมีความพร้อมที่จะรองรับให้กับพี่น้องประชาชนที่ประกอบกิจกรรม ประกอบศาสนกิจต่างๆ รวมถึงพี่น้องประชาชนที่เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ หรือพี่น้องประชาชนที่กลับภูมิลำเนาด้วยเหมือนกัน”
“ฉะนั้นความพร้อมนั้นผมว่า จะดูแลให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ บอกพี่น้องประชาชนทุกท่านไม่ต้องกังวลในเรื่องของการดูแล ถึงแม้จะไม่ใช่เทศกาล เราก็ดูแลอยู่แล้ว”
ขยายความในประเด็นที่ พล.ท.ศานติ เปรยขึ้นเองว่า “ยังมีบางกลุ่ม บางพวกยึดถือรูปแบบเก่า” ซึ่งหมายถึงการก่อเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่อยู่ แต่ความน่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ต้องยอมรับว่าในปีหลังๆ ฝ่ายการเมืองเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการตรวจสอบและอาจจะใช้คำว่า พยายามลดบทบาทของฝ่ายความมั่นคงลง
“ผมว่าแต่ละคนมองหลายแบบหลายมุมมอง แต่พี่น้องประชาชนในพื้นที่เขาต้องการความสงบอยู่แล้ว ฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่รัฐของเราได้ให้อะไรไปนั้น เขามีความพร้อมที่จะตอบสนองอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ามีบางกลุ่มบางพวกเท่านั้นเองที่เอาการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง ผมก็อยากจะให้พี่น้องประชาชนแยกแยะให้ออกว่า นี่คือการเมือง นี่คือความมั่นคงในพื้นที่”
ในฐานะผู้นำกองทัพ และผู้นำภารกิจดับไฟใต้ พล.ท.ศานติ ยังคงย้ำหนักแน่นว่าดินแดนนี้แบ่งแยกไม่ได้ และจะไม่คุยเรื่องนี้แน่นอน
“มีหลากหลายคนคิดต่างๆ นานา แต่ผมยืนยันได้เลยว่า พื้นที่นี้คือประเทศไทย ไม่สามารถแบ่งแยกดินแดนได้ เพียงแต่ว่าเรามีความเป็นอยู่แบบพหุวัฒนธรรม สังคมที่มีหลากหลายทางวัฒนธรรมมากกว่า ฉะนั้นในเรื่องความมั่นคงต่างๆ เราก็ยังดูแลอยู่เหมือนเดิม”
แม่ทัพภาคที่ 4 ย้อนเกล็ดไปยังเสียงเรียกร้องให้ถอนทหาร ยกเลิกด่านตรวจ โดยบอกว่าประชาชนในพื้นที่รู้ดีว่าต้องการอะไร และใครยืนอยู่เคียงข้างพวกเขา
“ในอนาคตข้างหน้าถ้าเกิดสถานการณ์ยุติ ไม่มีการก่อเหตุ ไม่มีการใช้อาวุธ สถานการณ์ก็จะกลับไปสู่ระบอบปกติ ตรงนี้เป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต้องการ ถึงแม้ว่าในพื้นที่จะมีพี่น้องประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก แต่เขามีปัญหาคือเรื่องปากท้องมากกว่า”
“สิ่งนี้เรากำลังจะส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อยู่ดีกินดี อยู่ที่พี่น้องประชาชนต้องการอะไร นักการเมืองคือนักการเมือง คนที่จะอยู่ข้างเคียงพี่น้องประชาชนไปโดยตลอดคือใคร ผมว่าพี่น้องประชาชนสามารถจะคิดและตัดสินได้”
“นักการเมืองที่ดีๆ ก็มีเยอะเหมือนกัน หลายๆ คนก็อยากให้พี่น้องประชาชนได้อยู่กันอย่างมีความสุข เป็นแค่บางคน บางกลุ่มมากกว่าที่ได้รับการปลูกฝัง ได้รับการอบรมในทางที่ผิด แล้วมาทำให้เกิดปัญหา จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์เขาก็สอนอยู่แล้วว่า ที่นี่คือประเทศไทย ซึ่งตรงนี้ก็ต้องทำความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน ทำความเข้าใจกับนักการเมือง”
“นักการเมืองบางคนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งก็เขามาคุยกับผมหลายคน ท่านก็เข้าใจนะ เพียงแต่ว่าอาจจะมีบางกลุ่มที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ เกี่ยวเนื่องกับภัยแทรกซ้อนต่างๆ พวกนี้ก็ยังมีนักการเมืองบางคนที่ยังเกี่ยวข้องกับตรงนี้อยู่”
“เราไม่พูดไม่ได้ว่าภัยแทรกซ้อนและสิ่งผิดกฎหมายมันเกี่ยวพันกับเรื่องของนักการเมือง หรือเกี่ยวพันในเรื่องของความมั่นคงในพื้นที่ แต่ก็ขอเน้นย้ำอีกทีว่าเป็นแค่บางคน บางกลุ่มเท่านั้นที่ยังมีความคิดผิดๆ อย่างนั้นอยู่ แต่ส่วนใหญ่นักการเมืองที่อยู่ในพื้นที่ก็เข้าใจปัญหา และเขาพร้อมที่จะช่วยเหลือ และพร้อมที่จะให้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบ”
นับเป็นสัญญาณตรง-ชัดที่ส่งถึงนักการเมืองบางฝ่าย บางคน หลังจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไม่ได้กระทบกับบทบาทของกองทัพและฝ่ายความมั่นคงในภารกิจดับไฟใต้เลย...แม้แต่น้อย!