ได้ฤกษ์เข้าสภาวาระแรกแล้ว สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งถือว่าล่าช้าไปหลายเดือน
รัฐบาลอ้างว่าเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้เสนองบไม่ทัน แต่บางฝ่ายรู้ทัน พร้อมตั้งคำถามย้อนเกล็ดว่า รอหาช่องทางหาเงินทำโครงการ “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” อยู่หรือเปล่า
งบประมาณรายจ่ายปีนี้ กรอบวงเงินตั้งไว้ที่ 3,480,000 ล้านบาท ข้อมูลจากรายงานวิเคราะห์ของ “สำนักงบประมาณของรัฐสภา” หรือ PBO ระบุว่า กรอบวงเงินดังกล่าวนี้ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า จำนวน 295,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.3 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
โดยโครงสร้างงบประมาณในส่วนของรายจ่ายประจำมีสัดส่วน 3 ใน 4 ของวงเงินงบประมาณแต่ละปี
เมื่อเจาะลงไปที่ “งบประมาณรายจ่ายบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์” ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีการจัดสรรงบประมาณเพียง 10 แผนงาน จากเดิมที่มี 11 แผนงาน โดยแผนงานบูรณาการเศรษฐกิจฐานราก ได้ย้ายฐานงบประมาณไปอยู่ “แผนงานยุทธศาสตร์เศรษฐกิจฐานราก”
โดยแผนงานที่สำคัญและได้รับงบประมาณสูงสุด 2 อันดับแรก คือ
1.แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 123,447 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.5 ของวงเงินงบประมาณรวมของแผนงานบูรณาการ
และ 2.แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 56,255 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.2
จากการจัดงบดังกล่าว ทำให้มีงบประมาณคงเหลือสำหรับแผนงานบูรณาการอื่นๆ เพียงเล็กน้อยในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล เช่น แผนงานบูรณาการพร้อมรองรับสังคมสูงวัย ร้อยละ 0.4 และแผนงานการพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริหารแห่งอนาคต ร้อยละ 1.8
สำหรับ “งบดับไฟใต้” หรืองบแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จัดอยู่ในหมวดนี้ คือ “งบประมาณรายจ่ายบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์” ซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เคยมีแยกย่อยถึง 32 แผนงาน แต่ก็ยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนไปบ้างตามความเหมาะสม กระทั่งปีงบประมาณปัจจุบันเหลืออยู่ทั้งสิ้น 10 แผนงาน
โดย “งบดับไฟใต้” อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรงบมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 (ตั้งแต่เริ่มระบบงบแผนงานบูรณาการ) จนถึงปัจจุบัน คือ ปี พ.ศ.2567
ปี 2560 จำนวน 12,510.11 ล้านบาท
ปี 2561 จำนวน 13,255.74 ล้านบาท
ปี 2562 จำนวน 11,924.27 ล้านบาท
ปี 2563 จำนวน 10,641.91 ล้านบาท
ปี 2564 จำนวน 9,563.34 ล้านบาท
ปี 2565 จำนวน 6,912.07 ล้านบาท
ปี 2566 จำนวน 6,208.92 ล้านบาท
ปี 2567 จำนวน 6,658.4 ล้านบาท
รวม 8 ปีงบประมาณ 77,674.8 ล้านบาท
หากพิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะปีงบประมาณ พ.ศ.2567 กับปี พ.ศ.2566 จะเห็นว่า “งบดับไฟใต้” ขยับสูงขึ้นเล็กน้อย ราวๆ 450 ล้านบาท
สำหรับการจัดงบดับไฟใต้ก่อนหน้าปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เป็นการจัดในรูปแบบ “แผนงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ไล่ดูตัวเลขตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2547-2559 ได้ดังนี้
ปี 2547 จำนวน 13,451 ล้านบาท
ปี 2548 จำนวน 13,675 ล้านบาท
ปี 2549 จำนวน 14,208 ล้านบาท
ปี 2550 จำนวน 17,527 ล้านบาท
ปี 2551 จำนวน 22,898 ล้านบาท
ปี 2552 จำนวน 20,991.60 ล้านบาท
ปี 2553 จำนวน 15,902 ล้านบาท
ปี 2554 จำนวน 19,387.80 ล้านบาท
ปี 2555 จำนวน 16,487.80 ล้านบาท
ปี 2556 จำนวน 21,124.90 ล้านบาท
ปี 2557 จำนวน 24,152.40 ล้านบาท
ปี 2558 จำนวน 25,686.50 ล้านบาท
ปี 2559 จำนวน 30,512.80 ล้านบาท
ขณะที่ตัวเลขงบประมาณดับไฟใต้ตาม “แผนงานบูรณาการ” ซึ่งเริ่มในยุครัฐบาล คสช. ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เป็นต้นมา (ตัวเลขชุดแรก 8 ปีงบประมาณ) จะเห็นได้ว่า ตัวเลขงบประมาณแต่ละปีลดต่ำลงอย่างมาก เรียกว่าลดลงหลายเท่าตัว
แต่เมื่อไปเจาะหาตัวเลขงบประมาณที่ซ่อนอยู่ในแผนงานอื่น ทว่าอ้างอิงถึงการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน กลับพบว่าในแต่ละปียังมีงบซุกซ่อนอยู่ในหน่วยงานอื่นๆ อีกจำนวนมาก รวมๆ แล้วอีกราวๆ 165,430.27 ล้านบาท
สรุปเม็ดเงินที่กำหนดอยู่ใน “แผนงานดับไฟใต้” เป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเรียกว่า “แผนงานบูรณาการ” หรือไม่ก็ตาม และรวมถึงแผนงานอื่นที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน จนถึงขณะนี้ 21 ปีงบประมาณ ใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 499,109.83 ล้านบาท
หากนับรวมงบแผนงานอื่นเฉพาะของปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งยังไม่ได้รวบรวมอีกจำนวนหนึ่ง (รอร่าง พ.ร.บ.งบปี 2567 ผ่านสภา) ย่อมหมายความว่า ยอดรวมงบดับไฟใต้ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2547 ถึงปัจจุบัน ทะลุ 5 แสนล้านบาทไปแล้วนั่นเอง!