ภายหลังนายกฯเศรษฐา เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง “คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” คณะใหม่ โดยมี นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช.เป็นหัวหน้าคณะคนใหม่ เมื่อ 27 พ.ย.66
ทางคณะพูดคุยฯป้ายแดง ก็มีความเคลื่อนไหวประปราย
โดยเฉพาะการเดินทางไปพบปะแนะนำตัวกับผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯ ซึ่งเป็นคนเดิมที่รัฐบาลมาเลเซียแต่งตั้ง เมื่อครั้งรัฐบาล “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นก็คือ พลเอก ตันซรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน
แต่ความเคลื่อนไหวลักษณะนี้ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะเป็นขั้นตอนและแพทเทิร์นเดิมๆ วนไปวนมา
ทว่าความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ของคณะพูดคุยฯป้ายแดง มีกระแสวิจารณ์ค่อนข้างกว้างขวาง นั่นก็คือการเปิดเพจเฟซบุ๊กในชื่อ “คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ The Peace Dialogue Panel” ขึ้นมา
เพจเฟซบุ๊กนี้ใช้โลโก้ของคณะพูดคุยสันติสุขฯ เป็นภาพโปรไฟล์ และมีภาพหน้าปกเพจ เป็นคำขวัญว่า “สันติสุขที่เป็นของทุกคน PEACE TRUST INCLUSIVITY SUSTAINABILITY” มีผู้กดถูกใจ 171 คน และผู้ติดตาม 371 คน ( ณ เวลา 20.00 น. วันที่ 28 ธ.ค.66)
ไล่ดูรายชื่อผู้กดไลค์ กดถูกใจ และกดติดตาม มีทั้งหน่วยงานรัฐ สื่อมวลชน ภาคประชาชนสังคม และประชาชน ซึ่งเพจเริ่มมีโพสต์แรกเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.66 เป็นการอัพเดตรูปโปรไฟล์
การมีเพจดังกล่าวขึ้นมาถือว่าเป็นมิติใหม่ของคณะพูดคุยสันติสุขฯ ทั้งยังเป็นคณะพูดคุยฯ ชุดแรกที่มีการตั้งเพจเฟซบุ๊กขึ้นมา นับตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะพูดคุยฯ อย่างเป็นทางการคณะแรกเมื่อปี 2566 ในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เปิดกระบวนการพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐ “กลุ่มบีอาร์เอ็น”
สำหรับการเปิดเพจเฟซบุ๊กของคณะพูดคุยฯ ชุดนายฉัตรชัย บางชวด มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขฯ กับประชาชนที่ติดตามความเคลื่อนไหว และความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยเพื่้อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในเพจมีคลิปแนะนำตัวของนายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ คนใหม่
“สวัสดีทุกท่านครับ ผม ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ปัจจุบันท่านนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมเรียนทุกท่านว่า ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559 ผมเองก็ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติสุขมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะใช้การพยายามในการสานต่อกันในการดังกล่าว ให้นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายให้เกิดสันติสุขในพื้นที่อย่างยั่งยืนในอนาคตครับ”
@@ การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร
“การพูดคุยสันติสุข ถือว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เป็นการเปิดพื้นที่หรือช่องทางที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มและทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความเห็น และข้อเสนอต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างยั่งยืนในอนาคตครับ ภายใต้การร่วมมือของทุกภาคส่วนครับ”
@@ แนวทางการดำเนินงานของคณะพูดคุยเป็นอย่างไร
“สิ่งสำคัญที่จะดำเนินการระยะต่อไป มีแนวความคิดแนวทางอยู่ 3 ประการ
ประการแรก คือ เรื่องการสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจ ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานสำคัญอย่างยิ่ง
ประการที่ 2 คือ เรื่องของการมีส่วนร่วมครอบคลุมอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม
ประการสุดท้าย เป็นเรื่องของการสร้างศักยภาพ นำไปสู่การสันติภาพอย่างยั่งยืน
“สันติสุขที่เป็นของทุกคน PEACE TRUST INCLUSIVITY SUSTAINABILITY”
ในโพสต์แรกมีคอมเมนต์เดียว จาก อับดุสสุโก ดินอะ นักวิชาการอิสลามในพื้นที่ เข้าไปโพสต์ถามเรื่องประเด็นการศึกษาที่สอดคล้องกับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ควรอยู่บนโต๊ะพูดคุย
ขณะที่ สส.พรรคก้าวไกลคนสำคัญที่เคลื่อนไหวในประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่พบว่าร่วมกดถูกใจและติดตามหรือแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กของคณะพูดคุยฯ แต่อย่างใด
@@ ผู้เชี่ยวชาญเสียงแตก “หนุน-ค้าน”
การเปิดเพจเฟซบุ๊กของคณะพูดคุยฯ มีมุมมอง 2 ด้านจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งเกาะติดปัญหาชายแดนใต้และกระบวนการพูดคุยมาอย่างต่อเนื่อง
ด้านหนึ่ง นักวิชาการด้านความมั่นคงคนดัง บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการเปิดเพจเฟซบุ๊ก เพราะไม่น่าจะมีใครทำกันในกระบวนการพูดคุยเจรจา โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ยังอึมครึม หาทางออกไม่ได้ มีแต่ต้องทำให้คู่เจรจาอ่านฝ่ายเราไม่ออก ไม่ใช่เปิดหมดแบบนี้
ที่สำคัญ การพูดคุยฯเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรอง และเกี่ยวข้องกับเรื่องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน หรือข้อกฏหมายที่มีความอ่อนไหว เช่น การพิจารณาอนุญาตให้ตัวแทนบางคนของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่มีหมายจับ เข้ามาพื้นที่ โดยไม่ดำเนินการใดๆ ในทางกฎหมาย อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเรื่องแบบนี้ หากเปิดให้สังคมทราบ อาจไม่เหมาะ
ขณะที่อีกด้าน มองว่าเป็นเรื่องดี เพราะสามารถใช้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ ชี้แจงข้อเท็จจริง และให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคมได้ โดยเฉพาะเรื่องกรอบกติกาของการพูดคุยฯ การเปิดพื้นที่สื่อสารกับสังคม แต่ต้องไม่เปิดช่องทางเอาไว้แล้วปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ต้องทำให้มีความเคลื่อนไหว และนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์จริงๆ