กรณี “เสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน” ที่ติดตั้งนับหมื่นจุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางมาถึงบทสรุปที่สำคัญ
โครงการนี้ชาวบ้านเขาสงสัย เพราะสามจังหวัดใต้เป็นดินแดน “ฝน 8 แดด 4” จะใช้เสาไฟโซลาร์เซลล์อย่างมีประสิทธิภาพได้จริงหรือไม่
สุดท้ายเสาไฟชำรุดเสียหายมากกว่า 70% สูญงบค่าจัดซื้อและติดตั้งกว่า 1,000 ล้านบาท จากการจัดจ้างอย่างน้อย 6 สัญญา และยังต้องตั้งงบซ่อมแซมแบบไม่รู้จบอีกต่างหาก
เสาไฟโซลาร์เซลล์ที่ชายแดนใต้ ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” เคยรายงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา เสาไฟโซลาร์เซลล์มีปัญหาหลายอย่าง
- ถูกตั้งข้อสงสัยว่า ค่าจัดซื้ออุปกรณ์และติดตั้ง ราคาเฉลี่ยต้นละ 63,000 บาท แพงเกินไปหรือไม่ (มีคำชี้แจงว่าแบตเตอรี่ใช้ของนอก)
- ถูกตั้งคำถามว่า จุดที่ไปติดตั้ง ได้ทำประชาคมหรือเปล่าว่าชาวบ้านต้องการจริงๆ
- เมื่อติดตั้งแล้ว ไม่รู้ว่าใครมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาและซ่อมแซม โดยเฉพาะเมื่อชำรุดเสียหาย
- พบปัญหาแผงโซลาร์ และแบตเตอรี่ถูกโจรกรรม สูญหายเป็นจำนวนมาก
สุดท้ายประชาชนก็ด่า ผู้นำศาสนาก็บ่น ชาวบ้านหลายคนถูกดักปล้น ดักจี้บนถนนที่ติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ เพราะมีแต่ความมืดมิด เป็นสวรรค์ของโจร แถมไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบ
โครงการนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โครงการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์” อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ดำเนินการติดตั้ังในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 6 สัญญา รวมๆ แล้ว 14,849 ชุด ราคาเฉลี่ยชุดละ 63,000 บาท รวมงบประมาณที่ใช้ไปทั้งหมด 1,011,916,500 บาท (กว่า 1,000 ล้านบาท)
ศอ.บต.คือ “องค์กรพิเศษ” ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดับไฟใต้โดยใช้ “งานพัฒนา” เป็นตัวนำร่อง แต่ถ้าพัฒนาแบบนี้ก็น่าคิดว่า ไฟใต้จะดับได้จริงหรือไม่
แต่ที่ดับแน่ๆ คือเสาไฟโซลาร์เซลล์!!
โครงการนี้ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบ และตั้งอนุกรรมการไต่สวน กระทั่งชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้อง 4 ราย คือ
นายพิทยา รัตนพันธ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 7 หรือ ซี 7 ของ ศอ.บต.
นางศลิษา รัตนพันธ์ ภรรยาของนายพิทยา
บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด บริษัทเอกชนคู่สัญญา
และ นางอุรุวัลย์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ กรรมการบริษัทแสงมิตร
ต่อมา ป.ป.ช.ได้สรุปสำนวนส่งอัยการ และอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องทั้ง 4 รายเป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ในความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (พ.ร.บ. ป.ป.ช.)
โดยพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึง 4 คือร่วมกันเรียกรับ สนับสนุน และเสนอสินบน เพื่อจูงใจให้จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพน้กงาน กระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ (พูดง่ายๆ คือ ช่วยเหลือเอื้อประโยชน์เกี่ยวกับโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์) โดยมีเส้นทางเงิน หลักฐานการโอนเงิน และการเบิกจ่ายครั้งละหลายแสนบาท หลายครั้งอย่างชัดเจน
ในชั้นพิจารณา จำเลยทั้ง 4 คนให้การปฏิเสธ โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ภรรยาของนายพิทยา อ้างว่ามีอาชีพขายผ้าไหม ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 ในฐานะบริษัทที่เข้าประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง อ้างว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเปิดกว้าง เป็นธรรม ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 คือ นายพิทยา
แต่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คำให้การฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษาลงโทษ...
จำคุกจำเลยที่ 1 คือ นายพิทยา มีกำหนด 5 ปี
จำคุกจำเลยที่ 2 ภรรยาของนายพิทยา มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน
ปรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคล เป็นเงิน 100,000 บาท
และจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 2 ปี
โดยศาลให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีและสภาพความผิดทำให้ราชการได้รับความเสียหายร้ายแรง และจำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดมาโดยไม่รู้สึกสำนึกถึงความผิด จึงไม่สมควรรอการลงโทษ