นายกฯ ลงพื้นที่ “ระแงะ” ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สั่งกำชับมาตรการเตือนภัยต้องเชิงรุก ขณะที่แม่น้ำ 3 สายหลักนราธิวาสยังสูงล้นตลิ่ง เดือดร้อนแล้วกว่าแสนคน ด้านชาวมูโนะผวาน้ำทะลัก ชลประทานเร่งวาง “บิ๊กแบ็ก” ป้องกัน ส่วนที่ยะลาท่วม 7 อำเภอ กระทบกว่า 6 พันหลังคาเรือน
เมื่อเวลา 15.30 น. วันอังคารที่ 26 ธ.ค.66 นายกฯเศรษฐา ทวีสิน พร้อมด้วย นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย, นายสมชัย อัศวชัยโสภณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะที่ปรึกษา เดินทางลงพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพื่อติดตามกำกับดูแลการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
โดยมี ว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, นายประพันธ์ ขันพระแสง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าไปรายงานสถานการณ์และพาลงพื้นที่
คณะของนายกฯ ลงพื้นที่หลายุด เริ่มจากจุดแรก เดินทางไปยังศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตั้งอยู่ภายในที่ว่าการอำเภอระแงะ เพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่หนีภัยน้ำท่วม ซึ่งมีทั้งผู้สูงอายุและเด็ก จำนวนเกือบ 300 คน โดยนายกฯได้มอบสิ่งของช่วยเหลือ จำนวน 262 ชุด พร้อมทักทายพูดคุยให้กำลังใจกับผู้สูงอายุและผู้ประสบภัยด้วยความเป็นห่วง
โอกาสนี้ นายกฯเศรษฐา ยังได้มอบยา และอาหารสัตว์พระราชทาน ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แก่ตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งยังได้เยี่ยมโรงครัวของกองทัพบกที่ไปตั้งครัวสนามให้บริการอาหารกับผู้ประสบภัยด้วย
จุดที่ 2 คณะของนายกฯลงพื้นที่ชุมชนเขตเทศบาลตำบลตันหยงมัส อ.ระแงะ ซึ่งอยู่ใกล้กับคลองตันหยงมัส และเป็นพื้นที่น้ำท่วม โดยนายกฯได้สวมรองเท้าบูทเดินลุยน้ำไปพูดคุยกับประชาชนที่ประสบภัย รวมทั้งได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส ถึงแนวทางการป้องกันปัญหาลุกลาม รวมถึงการระบายน้ำท่วมขัง ซึ่งมีการจัดเตรียมแผนรองรับเอาไว้แล้ว
นายกฯเศรษฐา กล่าวก่อนเดินทางกลับว่า หากย้อนไป 36 ชั่วโมงก่อนหน้า สถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่านี้ โดยสถานการณ์ขณะนี้คลี่คลาย แต่น้ำสะสมบริเวณปลายน้ำ ซึ่งตามพยากรณ์อากาศถือว่าโชคดี เนื่องจากจะไม่มีฝนแล้ว แต่ก็ไว้ใจไม่ได้ จึงต้องระมัดระวังให้ดี ต่อไปจะต้องดูเรื่องระบบเตือนภัยให้ครบวงจร ทำงานเชิงรุกมากขึ้นในการเตือนภัย
“น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่าเยอะที่สุด หากจะโยงการบริหารจัดการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องของความสงบดีขึ้นแล้ว การค้าขายชายแดนระหว่างเรากับมาเลเซียก็ดีขึ้นแล้ว เหตุการณ์นี้ก็เป็นเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งทุกหน่วยงานพร้อมจัดการ แต่กระทรวงมหาดไทยและสาธารณสุขจะต้องระวังเรื่องโรคระบาดทั้งหลาย” นายกฯกล่าวเชิงกำชับ
และว่า โครงการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จะต้องดูองค์รวมทั้งหมดว่าสามารถแก้ไขได้แค่ไหน และมีโครงการขนาดใหญ่หรือไม่ แน่นอนว่าเรายังไม่อยากให้เกิดปัญหาซ้ำซากและเกิดการสูญเสียชีวิต จึงต้องฝากพี่น้องประชาชน หากมีการเตือนภัยขอให้เชื่อกันหน่อย เพราะตอนนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่ปลอดภัยนัก ขอให้ระมัดระวังให้ดี ฟังการเตือนภัยให้ดี ระหว่างนี้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขจะพยายามช่วยดูแลและเยียวยา
@@ แม่น้ำ 3 สายหลักนราฯล้นตลิ่งต่อเนื่อง เดือดร้อนนับแสน
รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นราธิวาส วันอังคารที่ 26 ธ.ค. ปริมาณฝนเริ่มเบาบางในบางพื้นที่ แต่ยังคงมีเมฆฝนมืดครึ้มปกคลุมทั้ง 13 อำเภอ ส่วนแม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก มีปริมาณน้ำล้นตลิ่งเกินกว่า 1 เมตรทั้ง 3 สาย ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและบ้านเรือนของประชาชนเป็นวงกว้าง
พื้นที่ที่มีสภาวะน้ำท่วมขังอยู่ในขั้นวิกฤติ คือ อ.ระแงะ อ.เมืองนราธิวาส อ.แว้ง และ อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รองรับมวลน้ำป่าจากต้นทาง
ด้านสำนักงานบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส ได้สรุปพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 13 อำเภอ 68 ตำบล 410 หมู่บ้าน 8 ชุมชน โรงเรียนถูกน้ำท่วมขัง 254 แห่ง ถนนสายหลักเป็นเขตรอยต่อระหว่างอำเภอถูกตัดขาดจากสภาวะน้ำท่วมขังเส้นทางสัญจรไปมาหลายสาย มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 28,049 ครัวเรือน รวม 109,545 คน
ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่โก-ลก ล้นตลิ่ง พบว่า ชุมชนที่ปลูกสร้างอยู่แนวริมตลิ่งในพื้นที่ 9 ชุมชน เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ต.ปาเสมัส เผชิญน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.00-1.60 เมตร และชาวบ้านส่วนหนึ่งได้อพยพไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราวโรงเรียนเทศบาล 4 บ้านทรายทอง
@@ “ชุมชนยะกัง” ท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี
นอกจากนี้ บริเวณคลองยะกัง อ.เมืองนราธิวาส ซึ่งรองรับมวลน้ำจากพื้นที่ อ.ระแงะ เพื่อระบายลงสู่ทะเลด้านปากอ่าวในพื้นที่ อ.เมืองนั้น มีปริมาณน้ำล้นลำคลอง และน้ำไหลบ่าเข้าท่วมชุมชนยะกัง ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนตามแนวคลองยะกัง เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ถูกน้ำท่วมขังทั้งหมด โดยระดับน้ำบนถนนสูง 50-80 เซนติเมตร รถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โดยเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นเหตุครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในรอบ 50 ปี
นายซอฟ คอลออาแซ รองประธานชุมชนยะกัง กล่าวว่า ปีนี้หนักมาก โดยเฉพาะบ้านริมคลอง ระดับน้ำติดหลังคาบ้านทุกหลัง ประชาชนเดือดร้อนหนัก ถึงแม้จะเตรียมตัวอยู่บ้าง แต่ไม่คาดคิดและเตรียมตัวไม่ทัน น้ำเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเย็น สูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงกลางดึก ขณะที่หลายครัวเรือนไม่ได้ทานข้าว ไม่มีน้ำดื่ม อยากจะขอให้หน่วยงานรัฐเร่งเข้ามาดูแล
@@ ชาวมูโนะผวาน้ำทะลัก – ชลประทานวางบิ๊กแบ็กป้องกัน
พื้นที่ตลาดมูโนะ หมู่ 1 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งแม่น้ำโก-ลก ไหลผ่าน เพื่อระบายลงสู่ทะเลด้านพื้นที่ อ.ตากใบ มีปริมาณน้ำล้นพนังกันน้ำ จนน้ำทะลักเข้าท่วมตลาดมูโนะ สร้างความหวาดผวาให้กับชาวชุมชน เกร่งว่าจะเกิดน้ำท่วมหนักอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์โกดังเก็บดอกไม้ไฟระเบิดมาไม่นาน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถสร้างบ้านให้กับชาวตลาดมูโนะแล้วเสร็จ
นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 17 ได้แก้ไขปัญหาแม่น้ำโก-ลกทะลักล้นพนังกันน้ำ ด้วยการนำดินมาถม พร้อมนำบิ๊กแบ็กไปวางเป็นแนวกั้นดินที่บริเวณสะพานจรดประตูระบายน้ำ ซึ่งมีระยะทาง 2 ฟาก ฝั่งละประมาณ 200 เมตร โดยต้องวางบิ๊กแบ็กบริเวณสะพาน จึงจำเป็นต้องปิดเส้นทางสายมูโนะ-ตากใบ เลียบกับแม่น้ำโก-ลกเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในแม่น้ำโก-ลก ไหลทะลักเข้าท่วมภายในบริเวณตลาดมูโนะ
แม้จะดำเนินการดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีปริมาณน้ำจำนวนหนึ่งที่ล้นพนังกั้นน้ำ และไหลเข้าไปในถนนของตลาดมูโนะ แต่ไม่สูงมากนัก ยานพาหนะทุกชนิดยังสามารถสัญจรไปมาได้ แต่น้ำได้ท่วมขังโรงเรียนบ้านมูโนะ ต้องประกาศปิดการเรียนการสอนแบบฉุกเฉิน
ขณะที่ฝั่งประเทศมาเลเซีย ก็ประสบปัญหาน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่เมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก มีปริมาณน้ำท่วมขังสูง จนเจ้าหน้าที่มาเลเซียต้องประกาศปิดการเดินทางเข้า-ออกที่ด่านพรมแดนเป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมขังจะคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติ
@@ เจอแล้ว 2 ศพเรือล่ม ขณะอพยพหนีน้ำ
ความคืบหน้ากรณีชาวบ้านสะแนะ หมู่ 1 ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส สูญหายไปกับกระแสน้ำ 4 คน เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนั่งเรืออพยพออกจากพื้นที่ และเกิดเหตุเรืออับปาง บนเรือมีทั้งคนชราและเด็กนั้น
ล่าสุด เจ้าหน้าที่พบศพแล้ว 2 ราย คือ นางคอตีเยาะ เจ๊ะแล อายุ 89 ปี และ นางอาอีเสาะ เจ๊ะบอสู อายุ 63 ปี โดยพบร่างในเขตพื้นที่หมู่ 4 ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา ส่วน ด.ช.นาซูฮาร์ มายิ อายุ 8 ปี และ ด.ช.มูฮัมหมัดนาบาส มายิ อายุเพียง 2 ขวบ เจ้าหน้าที่ยังค้นหาไม่พบ
@@ น้ำท่วม 7 อำเภอยะลา กระทบ 6 พันหลังคาเรือน
ด้านศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดยะลา ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้วจำนวน 7 อำเภอ คือ อ.บันนังสตา, อ.รามัน, อ.เมืองยะลา, อ.ธารโต, อ.กาบัง, อ.กรงปินัง และ อ.ยะหา รวม 36 ตำบล 157 หมู่บ้าน 1 ชุมชน
มีประชาชนได้รับผลกระทบ 6,898 ครัวเรือน จำนวน 27,714 คน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 1 หลัง ประชาชนอพยพ 117 ครัวเรือน 520 คน มีถนนเสียหาย 24 แห่ง และสะพานเสียหาย 1 แห่ง
ขณะที่ปัจจุบัน แนวโน้มสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี อ.เมืองยะลา มีระดับสูงขึ้น, แม่น้ำสายบุรี อ.รามัน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น, คลองยะหา อ.ยะหา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ทางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา ได้แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี และคลองยะหา ขนย้ายทรัพย์สิน สิ่งของ สัตว์เลี้ยงไปยังพื้นที่ปลอดภัยและขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
@@ รามันน้ำท่วมสูง เร่งอพยพ 100 ชีวิตมาอยู่ศูนย์พักพิง
ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมสูง ระดับน้ำในแม่น้ำสายบุรียังคงสูงกว่าตลิ่ง อยู่ที่ระดับ 2.35 เมตร แม้ว่าระดับน้ำจะลดลง 65 เซ็นติเมตร แต่สภาพพื้นที่ยังคงวิกฤต ภาพจากมุมสูงจะเห็นปริมาณน้ำยังคงท่วมสูงและขยายเป็นวงกว้าง แม้ปริมาณฝนในพื้นที่เริ่มน้อยลง
นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ลงพื้นที่สั่งการให้เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ยังคงตกค้างอยู่ในพื้นที่ ต.อาซ่อง จำนวนกว่า 100 คน ให้ออกมายังศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยที่เทศบาลตำบลเมืองรามันห์ และที่ว่าการอำเภอรามัน พร้อมทั้งให้ดูแลเรื่องของอาหารและน้ำดื่มให้กับผู้ประสบภัยอย่างเพียงพอ
นายอำพล กล่าวว่า พื้นที่ อ.รามัน ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมสถานการณ์ด้านการช่วยเหลืออพยพพี่น้องประชาชนมายังศูนย์พักพิง พร้อมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุขและอาหาร
ส่วนการดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในพื้นที่ ต.บาลอ อ.รามัน ทางวิทยาลัยการอาชีพรามัน ได้เปิดศูนย์พักพิงผู้อพยพ ซึ่งที่นี่สามารถรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้กว่า 600 คน พร้อมทั้งการดูแลในเรื่องของโรงครัวพระราชทาน
@@ กฟผ.ชี้แจงภาพถนนทรุด ไม่กระทบเขื่อนบางลาง
จากกรณีที่มีผู้ใช้แอปพลิเคชั่น TikTok รายหนึ่ง ได้ลงคลิปภาพ เป็นสภาพถนนบริเวณใกล้จุดประตูระบายน้ำสปิลล์เวย์ (ทางน้ำล้น) เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่เกิดเหตุดินทรุดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ประชาชนหลายคนเกิดความกังวลใจ และมีการส่งต่อคลิปดังกล่าวเป็นวงกว้าง เพราะเกรงว่าเขื่อนจะแตกนั้น
ล่าสุดทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เขื่อนบางลาง ได้ชี้แจงว่า เป็นภาพการทรุดตัวของถนนบริเวณท้ายน้ำสปิลล์เวย์ ไม่ใช่ภาพการทรุดตัวของสันเขื่อนบางลาง ขณะนี้ได้มีการปิดเส้นทางดังกล่าวแล้ว และทาง กฟผ.เขื่อนบางลาง ขอยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัย แข็งแรงของเขื่อนบางลางแต่อย่างใด
ส่วนปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 123.93 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 84.8% และยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 221.43 ล้านลูกบาศก์เมตร หรืออีก 15.2% ซึ่งวันนี้เขื่อนได้ระบายน้ำ จำนวน 12 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน และจะลดระดับลงอยู่ที่ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ในวันที่ 27 ธ.ค.ตามลำดับ เพื่อลดผลกระทบท้ายน้ำให้มากที่สุด