นโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน หรือ “ควิกวิน” ของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ด้วย เพราะเป็นพื้นที่สำคัญที่เผชิญทั้งปัญหาการแพร่ระบาด และเป็นทางผ่านยาเสพติดจากภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง ข้ามไปประเทศเพื่อนบ้าน หรือไปประเทศที่สาม
เครือข่ายยาเสพติดชายแดนใต้ยังมีส่วนเชื่อมโยงทางอ้อมกับกลุ่มก่อความไม่สงบที่สร้างสถานการณ์รุนแรงกระทบความมั่นคงมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เสนอแผนแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรมของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำเสนอต่อบอร์ด ป.ป.ส. เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในการอนุมัติและเดินหน้าแผนแก้ปัญหาแบบบูรณาการต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส.เปรียบเสมือนเป็นเสนาธิการของรัฐบาลในงานแก้ไขปัญหายาเสพติด ทำหน้าที่เสนอแผนงานในมิติต่างๆ ให้รัฐบาล แต่ ป.ป.ส.ยุคนี้ เสนอแผนแล้ว จะไม่นั่งอยู่ในห้องแอร์ เพราะจะลงพื้นที่ปฏิบัติจริงด้วย โดยจะทำงานร่วมกับ 5 เสาหลัก คือ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข และนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งก็หมายถึงองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ต้องจับมือกัน ใช้กลไกรัฐขับเคลื่อนทุกกลไก
และในช่วงต้นสัปดาห์นี้ จะมีกิจกรรมเผายาเสพติดของกลางล็อตใหญ่ที่สุด ถึง 340 ตัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการ “เซ็ตซีโร่” ปัญหายาเสพติด โดยจะมีผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ตลอดจนแม่ทัพภาคทุกภาค มาร่วมงาน และมีฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องร่วมกันมอบนโยบาย คิกออฟแก้ปัญหายาเสพติดด้วย
@@ แผนปราบยาชายแดนใต้ เพิ่มบทบาทองค์กรศาสนา
สำหรับการประชุมบอร์ด ป.ป.ส. เพื่ออนุมัติแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ประชุมกันไปเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในมิติของศาสนา การพัฒนา และชุมชนพหุวัฒนธรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่จะดำเนินการโดยใช้กลยุทธ์ 4 เพิ่มจากพื้นที่ปกติ คือ
-เพิ่มบทบาทขององค์กรทางศาสนา
-เพิ่มบทบาทการพัฒนาทุกด้าน
-เพิ่มจิตอาสาในภาคชุมชน
-และเพิ่มบทบาทกลไกนอกภาครัฐ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมอย่างสมัครใจของประชาชนและชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ที่ประชุมมั่นใจว่าแผนปฏิบัติการทั้งหมดนี้จะส่งผลให้การดำเนินงานเพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การอำนวยการร่วมกันระหว่าง ศอ.บต. และสำนักงาน ป.ป.ส. ในนาม “ศูนย์ประสานงานการแก้ไขปัญหายาเสพติดในมิติของศาสนาและภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้” มีทั้งความชัดเจนและความเข้มข้นขึ้นและเชื่อว่าจะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
@@ อนุมัติเพิ่มด่านตรวจที่จะนะ สกัดยาเสพติดลงชายแดนใต้
ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่บอร์ด ป.ป.ส.เห็นชอบในการประชุมคราวเดียวกัน ก็คือ
1.รับทราบการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เพิ่ม 6,185 นาย ทำให้ขณะนี้มีเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ปฏิบัติงานอยู่ทั่วประเทศรวม 11,332 นาย ซึ่งจะมีผลให้การดำเนินงานตามมาตรการบังคับใช้กฎหมายทั้งการปราบปรามยาเสพติดและการตรวจสอบ/ยึดทรัพย์สินมีความเข้มข้นและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2.ที่ประชุมรับทราบการเตรียมการสถานที่รองรับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด และผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการจิตเวชทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย
-ศูนย์คัดกรอง 9,854 แห่ง
-สถานพยาบาลยาเสพติด 923 แห่ง
-สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 140 แห่ง
-และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 3,258 แห่ง
คาดว่าจะมีผลให้การดำเนินงานตามมาตรการบำบัดรักษาทั้งในกลุ่มผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการจิตเวชทำได้ครอบคลุมทั่วประเทศ
3.อนุมัติการตั้งด่านตรวจยานพาหนะ เพื่อสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติด เพิ่มอีก 3 แห่งจากที่มีอยู่แล้ว 5 แห่ง คือ
-อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น
-อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
-อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
คาดว่าจะมีผลทำให้การสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และที่จะลำเลียงต่อไปยังภาคใต้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น