แม้นักรัฐศาสตร์และนักวิเคราะห์การเมืองชื่อดังอย่าง อ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว จะฟันธงว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ตาย แม้จะไม่โต และยังบอกว่าน่าจะรักษาฐานจำนวน สส.ระดับ 20-30 เสียงเอาไว้ได้ โดยใช้เครือข่ายบ้านใหญ่เป็นตัวการันตีก็ตาม
ที่สำคัญ “บ้านใหญ่” ที่ว่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้…
แต่ความท้าทายที่จะต้องเผชิญในระยะต่อไปก็คือ ประชาธิปัตย์อาจไม่มีภาพเหลือเป็น “พรรคคนใต้” เหมือนเดิมอีกต่อไป
ย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 ประชาธิปัตย์ได้ สส. 25 ที่นั่ง เป็น สส.เขต 22 ที่นั่ง และปาร์ตี้ลิสต์ 3 ที่นั่ง (ปัดเศษอีกต่างหาก)
ในจำนวน สส.เขต 22 เขต 22 ที่นั่ง เป็น สส.ใต้ 17 เขต 17 ที่นั่ง
ที่เหลือเป็นประจวบคีรีขันธ์ 2 ที่นั่ง แม่ฮ่องสอน, สกลนคร และอุบลราชธานี จังหวัดละ 1 ที่นั่ง
ภาคใต้มี 14 จังหวัด 60 เขต พรรคประชาธิปัตย์ได้ สส.มา 17 คน 17 เขต จาก 5 จังหวัดเท่านั้น (คิดเป็น 28.33%) กล่าวคือ
จ.นครศรีธรรมราช 6 คน จากทั้งหมด 10 คน 10 เขต
จ.ตรัง 2 คน จากทั้งหมด 4 คน 4 เขต
จ.พัทลุง 2 คน จากทั้งหมด 3 คน 3 เขต
จ.สงขลา 6 คน จากทั้งหมด 9 คน 9 เขต
จ.ปัตตานี 1 คน จากทั้งหมด 5 คน 5 เขต
บางเขต บางจังหวัดไม่ใช่ว่าได้มาเพราะความเป็น “บ้านใหญ่” เช่น ปัตตานี
ขณะที่บ้านใหญ่ของบางจังหวัดก็กวาดได้ไม่ยกจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช ของ “แทน” ชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคคนใหม่
ส่วนบ้านใหญ่ของบางจังหวัด แพ้ยกจังหวัด เพราะบ้านใหญ่บางบ้านลาออก และบ้านใหญ่ที่เหลืออยู่ไม่ขลังแล้ว เช่น สุราษฎร์ธานี (จากเดิม 6 ที่นั่งยกจังหวัดเมื่อปี 62 เหลือ 0 ที่นั่งในปี 66 ทั้งที่จำนวนเขตเพิ่มเป็น 7 เขต สส. 7 คน)
อีกหนึ่งความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ความเป็นพรรคคนใต้ของประชาธิปัตย์ ผูกติดกับภาพ นายชวน หลีกภัย เป็นหลัก
นายชวน นักการเมืองลูกชาวบ้าน แม่ขายพุงปลาในตลาด เรียนจบกฎหมายจากธรรมศาสตร์ ประกอบอาชีพเป็นทนายความช่วงสั้นๆ ก่อนจะผันตัวมาเล่นการเมือง ประสบความสำเร็จถึงขั้นเป็นนายกรัฐมนตรีของคนใต้ เป็นผู้นำประเทศ 2 สมัย และประธานสภา 2 สมัย ยังไม่มีนักการเมืองจากแดนใต้คนใดทำได้เท่าเขา
โดยเฉพาะดราม่าชีวิตที่เติบโตมาจากลูกชาวบ้าน เด็กในตลาดของจริง
ความสำเร็จของนายชวน โดนใจคนใต้ ทำให้คนใต้จำนวนไม่น้อยผูกพันกับพรรคนี้มาหลายสิบปี (เหตุผลอื่นๆ ประกอบก็เช่น ขุนพลของพรรคพูดเก่ง ปราศรัยเก่ง ถูกจริตคนใต้ และต่อต้านเผด็จการ เชิดชูสถาบัน ตรงตามรสนิยมการเมืองของคนใต้ ฯลฯ)
แต่วันนี้ นายชวนแสดงท่าทียืนอยู่ฝั่งตรงกันข้ามของคณะผู้บริหารชุดใหม่ของประชาธิปัตย์อย่างชัดเจน ทำให้พรรคเก่าแก่ภายใต้การนำของ “เสี่ยต่อ เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ไม่ได้มีนายชวนเป็นส่วนประกอบสำคัญ หรือเป็นร่มเงาของตน ส่งผลให้คนใต้หมดศรัทธา และถอดใจ เลิกเชียร์ประชาธิปัตย์เป็นจำนวนมาก (สำรวจได้จากอารมณ์ความรู้สึกในโซเชียลมีเดีย)
ยิ่งมีข่าวสะพัดหลังคณะของ “เสี่ยต่อ” เถลิงอำนาจในพรรคประชาธิปัตย์ ยิ่งทำให้คนใต้ส่ายหน้า ปฏิเสธพรรคขวัญใจพรรคเดิม แต่วันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
ข่าวที่สะพัดออกมามี 3 ข่าวด้วยกัน คือ
1.ประชาธิปัตย์พร้อมเสียบเข้าร่วมรัฐบาลทุกเมื่อ ทุกเวลา
- ต้องไม่ลืมว่า สส.ประชาธิปัตย์ กลุ่มที่โหวตหนุน “เสี่ยต่อ” เป็นหัวหน้าพรรค คือกลุ่มเดียวกับที่โหวตสนับสนุน นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่มติพรรคให้ “งดออกเสียง”
- ช่วงก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลสำเร็จ เคยมีข่าวประชาธิปัตย์เป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลด้วย แต่ชื่อหลุดในตอนหลัง
- นายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ “นายกชาย” เลขาธิการพรรคคนใหม่ เคยเดินทางไปพบอดีตนายกฯทักษิณถึงที่ฮ่องกง แม้จะอ้างว่าไม่ได้คุยการเมืองกันก็ตาม แต่ไม่มีใครเชื่อ
ข่าวในตอนนั้นก็คือการไปเจรจาขอเข้าร่วมรัฐบาล จนถูกวิจารณ์ว่าเสนอตัวเป็น “พรรคอะไหล่”
2.มีข่าวรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะมีการปรับ ครม.ค่อนข้างแน่ในปีหน้า
- อดีตนายกฯทักษิณจะพ้นโทษออกมากระชับอำนาจ
- ตำแหน่งรัฐมนตรียังว่างอีก 2 เก้าอี้
- อาจมีการสลายพรรคการเมืองบางพรรค ข่าวว่าอาจเป็นพลังประชารัฐ เพื่อดูด สส.เข้าพรรคเพื่อไทย และจะมีแผนควบรวมพรรค ตลอดจนกลุ่มการเมืองอีกหลายพรรค หลายกลุ่ม เพื่อเตรียมความพร้อมในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป
เมื่อมีการสลายพรรคการเมืองบางพรรค ก็ต้องมีการปรับ ครม.ใหม่ และอาจดึงพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่เข้าร่วม เพื่อเสริมแกร่ง และถ่วงดุลกับภูมิใจไทย ไม่ให้มีอำนาจต่อรองมากเกินไป
หากเติมประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีก 1 พรรค จะทำให้เพื่อไทยขาดภูมิใจไทยได้ รัฐบาลไม่ล้ม เพราะเสียงยังเกินกึ่งหนึ่งอยู่ แม้จะไม่มากก็ตาม
ปัจจุบันรัฐบาลเพื่อไทยมีเสียงสนับสนุนต่ำสุดอยู่ที่ 314 เสียง ในจำนวนนี้เป็นของภูมิใจไทย 71 เสียง ฉะนั้นถ้าภูมิใจไทยถอนตัว รัฐบาลจะเหลือแค่ 243 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง รัฐบาลล้มได้ แต่ถ้ามีประชาธิปัตย์ รัฐบาลจะมี 268 เสียง ภูมิใจไทยถอนตัวก็ไม่แคร์ กดดันอะไรไม่ได้
3.มีข่าวแกนนำประชาธิปัตย์ที่ลาออก และเตรียมลาออก เพราะทนรับการเปลี่ยนแปลงไม่ไหว อาจย้ายชายคาไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่น
3.1 พรรคภูมิใจไทย เคยมีข่าวตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์บางคน โดยเฉพาะ “หมอตี๋” สาธิต ปิตุเตชะ บ้านใหญ่ระยอง ว่าอาจไปร่วมงานกับภูมิใจไทย
3.2 พรรครวมไทยสร้างชาติ กระแสดีในภาคใต้ และต้องการสานต่อภารกิจยึดภาคใต้ต่อไปหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางมือทางการเมือง จึงต้องการ สส.เกรดเอ และอดีต สส.บ้านใหญ่จากประชาธิปัตย์ แม้ปัจจุบันจะไม่ได้เป็น สส. แต่ชื่อชั้นยังขายได้
ก่อนหน้านี้ ทั้งแกนนำภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติเคยวิเคราะห์ว่า หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ จะมีแกนนำและอดีต สส.จำนวนหนึ่งลาออก จึงเปิดประตูบ้านรอรับ ขณะที่ สส.ปัจจุบันหลายคนก็ถูกทาบทาม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แกนนำภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติวิเคราะห์ตรงกันว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาธิปัตย์จะเสียแชมป์ในภาคใต้แน่นอน
เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แม้ประชาธิปัตย์ได้ สส.แค่ 17 คน จาก 60 คน แต่ก็ยังเป็นแชมป์ เพราะอันดับ 2 คือรวมไทยสร้างชาติได้ 14 ที่นั่ง และอ้ันดับ 3 ภูมิใจไทย ได้ 12 ที่นั่ง
แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ประเมินกันว่า ประชาธิปัตย์จะไม่ใช่พรรคหลักอีกต่อไป และพื้นที่ภาคใต้จะเป็นการช่วงชิงกันระหว่างพรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาชาติแทน
พรรคที่มีภาษีดีที่สุดคือ ภูมิใจไทย ตั้่งเป้า สส.เอาไว้ 20 ที่นั่ง จากปัจจุบัน 12 ที่นั่ง (โตมาจาก 8 ที่นั่ง เมื่อปี 2562)
เลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 พลาดไป 3 เก้าอี้ จากพัทลุง ทั้งที่มีบ้านใหญ่คือตระกูลรัชกิจประการ (พิพัฒน์ - นาที รัชกิจประการ) เนื่องจากประมาท ทิ้งพื้นที่ไปหวังโกยเก้าอี้จังหวัดอื่น จนเสียแชมป์ในบ้านตัวเอง
ล่าสุดมีข่าวภูมิใจไทยเปิดเกมดูด สส.บางพรรคจากสามจังหวัดใต้ และหวังขยายฐานฝั่งอันดามันเพิ่มขึ้น ตัวเลข 20 สส.จึงไม่ใช่เพ้อฝัน (ตัวเลขปัจจุบัน 12 ที่นั่ง บวกพัทลุงอีก 3 ที่นั่ง ก็เป็น 15 สส.แล้ว ครั้งก่อนพลาดเพราะบ้านใหญ่ทิ้งพื้นที่ไปบุกจังหวัดอื่น)
ส่วนพรรคประชาชาติ กำลังดูดบ้านใหญ่นราธิวาส “กูเซ็ง ยาวอหะซัน” และขยายฐานออกนอกสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยพุ่งเป้าไปที่สงขลา 2 เขตติดต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะที่รวมไทยสร้างชาติ โอกาสไม่ง่าย เพราะเลือกตั้งหนหน้าไม่มี “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจุดขาย ส่วนหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน “ยังขายไม่ออก”
ภารกิจสำคัญของรวมไทยสร้างชาติคือ
- รักษา สส. และบ้านใหญ่ภาคใต้เอาไว้ให้ครบ เช่น กลุ่มชุมพร สุราษฎร์ฯ พัทลุง
นายเอกนัฏ “ขิง” พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค เรียกขุนพล 3 จังหวัดนี้ว่า “3 ทหารเสือ” ประกอบด้วย ลูกหมี - ชุมพร, กำนันศักดิ์ - สุราษฎร์ และ นายก อบจ.วิสุทธ์ ธรรมเพชร - พัทลุง โดยประกาศอย่างมั่นใจว่า “3 ทหารเสือ” ไม่ทิ้งพรรคไปไหน
ปัญหาคือ คำยืนยันของ “ขิง” การันตีได้ขนาดไหน ยังต้องลุ้น…
- ภารกิจต่อมาคือรักษาบ้านใหญ่ภาคอื่นเอาไว้ให้ได้ โดยเฉพาะ “กลุ่มเสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น ซึ่งพลาดเก้าอี้รัฐมนตรี มีข่าวพร้อมซบภูมิใจไทย
- หาจุดขายใหม่แทน “ลุงตู่” โจทย์ข้อนี้ยากที่สุด
อีกหนึ่งพรรคที่มองข้ามไม่ได้ คือ พลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ “สหายผู้กอง” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หากไม่ยุบพรรค หรือขนคนไปรวมกับเพื่อไทย ก็น่าจะเดินเกมรักษา สส.ใต้เอาไว้ให้ได้ อย่างน้อยก็เท่าเดิม (ปัจจุบันมี 7 คน)
แต่หาก “ผู้กองธรรมนัส” ย้ายสำมะโนครัวเข้าเพื่อไทย ก็ไม่แน่ว่าเพื่อไทยอาจปักธงที่ภาคใต้ ได้ สส.เป็นครั้งแรกในชื่อพรรคเพื่อไทยก็เป็นได้ โดยเป็น สส.เดิมของพรรคพลังประชารัฐนั่นเอง โดยเฉพาะ 2 ที่นั่งที่นราธิวาส (สองพี่น้อง สัมพันธ์ + อามินทร์ มะยูโซ๊ะ - สายตรงผู้กอง)
จะเห็นได้ว่า โจทย์ครองภาคใต้ของคณะผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ นำโดย “เสี่ยต่อ” นั้น ไม่ง่ายเลยจริงๆ เพราะแค่รักษาฐานที่มั่นเดิมเอาไว้ให้ได้ ก็เลือดตาแทบกระเด็นแล้ว!
---------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากรายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี