รมว.แรงงาน ถอนมติขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากวงประชุม ครม. ส่งให้คณะกรรมการค่าจ้างฯ นำกลับไปทบทวน ตั้งข้อสังเกตใช้ตัวเลขเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 มาคำนวณ ทำให้ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง โฆษกรัฐบาลปัดแทรกแซง
วันอังคารที่ 12 ธ.ค.66 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2567 ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 หรือคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และฝ่ายรัฐ ที่เห็นชอบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด ตามอัตราตั้งแต่ 2-16 บาท/วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 โดยที่ประชุม ครม.ได้รับทราบแล้ว
แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้หลักเกณฑ์การปรับค่าแรงดังกล่าว เป็นการใช้หลักเกณฑ์ที่ไปผูกพันกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เศรษฐกิจถดถอยมาร่วมคำนวณด้วย จึงทำให้ได้ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง และควรมีวิธีการคำนวณที่เป็นมาตรฐานกว่านี้ ซึ่ง ครม.เห็นชอบกับข้อสังเกตดังกล่าว ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถอนเรื่องออกไปจากการประชุมก่อน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การเสนอถอนวาระเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำออกไป เป็นข้อสังเกตุของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทาง ครม.ไม่มีอำนาจสั่งการให้คณะกรรมการค่าจ้างฯ ไปทบทวนใดๆ ทั้งสิ้น จากนี้ต้องรอดูว่าข้อสรุปของคณะกรรมการค่าจ้างฯ จะได้ข้อสรุปอีกครั้งเมื่อใด
สำหรับการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานนั้น ทางคณะกรรมการค่าจ้างได้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการคิดค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้ชัดเจนตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2560 ฉบับแก้ไข ที่ต้องคำนึงถึงเกณฑ์ต่างๆ ทั้งฐานการคิดค่าจ้างขั้นต่ำรอบก่อน รวมทั้งดัชนีค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพของแรงงาน ตัวเลขจีดีพี และสภาพเศรษฐกิจและสังคม
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้มีมติให้เพิ่มค่าจ้างขั้นจำนวน 77 จังหวัด โดยปรับขึ้นสูงสุดที่ จ.ภูเก็ต 370 บาท/วัน และปรับขึ้นต่ำสุดสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) 330 บาท/วัน โดยกำหนดให้มีผลใช้บังคับวันที่ 1 ม.ค.67 เป็นต้นไป
@@ ค่าแรงขั้นต่ำ : ตัวเลขการเมือง
อนึ่ง ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำกำลังขยายผลเป็นรอยร้าวเล็กๆ ทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน พยายามกดดันให้กระทรวงแรงงานปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยประกาศตัวเลขนโยบายที่ 400 บาทต่อวัน แต่กระทรวงแรงงานภายใต้การนำของรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้ตอบสนอง โดยอ้างว่าเป็นอำนาจของกรรมการไตรภาคี และเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน เพราะจะกระทบกับภาคธุรกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเอสเอ็มอี (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)
มีการอ้างตัวเลขคนตกงานเพราะเอสเอ็มอีปิดกิจการมากกว่า 8 ล้านคน หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน
ต่อมามีข่าวสัญญาณจาก “ชั้น 14” ส่งถึงพรรคภูมิใจไทยที่ดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อย่างน้อยๆ ต้องมีบางจังหวัดที่ตัวเลขถึง 400 บาท เพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยหาเสียงเอาไว้ว่าจะขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 ฉะนั้นหากปีแรกขึ้นน้อย จะกลายเป็นภาระหนักในปีหลังๆ และยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับรัฐบาล
แต่เมื่อผลการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีออกมา ไม่ตรงตามเป้าที่มีการวางตัวเลขเอาไว้ที่ 400 บาท จึงอาจมีแรงกดดันทางการเมืองให้ต้องนำตัวเลขกลับไปทบทวน