โจทย์ใหญ่ที่สุดของพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ คือ ต้องการจุดเปลี่ยน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะ...
1.แพ้เลือกตั้งมา 31 ปี ชนะครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2535 นับจากนั้นมาแพ้ตลอด
2.ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีก 2 ครั้ง เพราะอุบัติเหตุทางการเมืองล้วนๆ (ชวน 2, อภิสิทธิ์ - พลิกขั้ว)
3.ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในรัฐบาลชุดที่แล้ว ท่ามกลางรอยร้าวภายในพรรค เพราะมีบางกลุ่มไม่เห็นด้วย
4.เลือกตั้ง 2 ครั้งหลัง พ่ายแพ้ยับเยินที่สุด จำนวน สส.ลดลงแต่ละครั้ง มากกว่าครึ่งของที่เคยได้
5.โอกาสฟื้นกลับมายังมองไม่เห็น เพราะภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนอย่างรุนแรง
-จุดขาย “คนดี-ซื่อสัตย์สุจริต” ขายไม่ได้อีกแล้ว
-จุดเด่นเรื่องความเป็นนักพูด นักอภิปราย ฝ่ายค้านมืออาชีพ ไม่ได้ช่วยหนุนเสริมการได้เป็นรัฐบาล
-จุดอ่อนเรื่องการบริหาร โดยเฉพาะบริหารแบบยุคใหม่ ทันโลก ไม่ตกเทรนด์ กลายเป็นจุดอ่อนที่มองเห็นเด่นชัดอย่างมาก
-จุดด้อยเรื่องการสื่อสารประชาสัมพันธ์โดยใช้สื่อใหม่ โซเชียลมีเดีย หรือการสร้างการมีส่วนร่วมทางลึกและทางกว้างกับประชาชนผ่านสังคมออนไลน์ ถือว่ามืดบอด
-จุดแข็ง “ยืนข้างประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ” กลายเป็นอดีตที่ถูกหลงลืม
การหาจุดเปลี่ยน ด้วยการเปิดทางให้ “คนรุ่นใหม่” เข้ามารับไม้ต่อ ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่การเมืองทั้งโลก (ไม่ใช่แค่เมืองไทย) ทำกันอยู่อย่างขะมักเขม้นนั้น ประชาธิปัตย์นอกจากจะไม่ทำตามกระแสโลกแล้ว ยัง “ว่ายทวนกระแส” ด้วยการย้อนทาง “หามคนเก่า” ขึ้นเป็น “ผู้นำคนใหม่” อีกต่างหาก
การสถาปนาหัวหน้าพรรค “รุ่นใหม่” อย่าง “คุณตุ้ม นราพัฒน์” หรือ “มาดามเดียร์” ก็ตาม นักวิเคราะห์การเมืองก็ยังไม่ฟันธงว่าจะฟื้นพรรคได้
“เนชั่นโพล” เองก็ชี้ชัดว่า ประชาชนถึงร้อยละ 72.05 ยังไม่แน่ใจเลยว่าจะเลือกประชาธิปัตย์โฉมใหม่
แต่พรรคเก่าแก่ เจ้าของสัญลักษณ์พระแม่ธรณีบีบมวยผมในวันนี้ กำลังจะย้อนรอยกลับไปชู “คนเก่า” มาเป็นห้ัวหน้าพรรค ย่อมเท่ากับพรรค “ไม่มีจุดเปลี่ยน” ผลที่จะตามมาคือ เสมอตัว กับตกต่ำลงไปอีก
แน่นอนว่า คุณตุ้ม นราพัฒน์ และ มาดามเดียร์ เป็นคู่แคนดิเดตที่มีจุดอ่อนไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องวัยวุฒิ และบารมีทางการเมืองในการนำพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เคยมีสมาชิกมากที่สุด และเป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดของเมืองไทยพรรคนี้
แต่ “เสี่ยต่อ” หรือ “พี่ต่อ - เฉลิมชัย” ซึ่งเป็นคนเก่า รุ่นเก๋า ก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้มีคุณสมบัติเพียบพร้อมในการขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
โดยเฉพาะหากเทียบกับอดีตหัวหน้าพรรค 8 คนที่ผ่านมา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 คน หัวหน้าพรรคแต่ละคนผ่านประสบการณ์เคี่ยวกรำทางการเมือง ทั้งงานสภา งานนิติบัญญัติ งานบริหาร
ประวัติของ “เสี่ยต่อ เฉลิมชัย” เป็น สส.มา 4 สมัย สมัยที่ 5 สอบตกที่บ้านตัวเอง คือ ประจวบคีรีขันธ์
เคยเป็นรัฐมนตรี 2 ครั้ง 2 กระทรวง คือ กระทรวงแรงงาน กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผลงานเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องตัดสิน ว่านึกออกหรือไม่ว่าท่านสร้างคุณูปการใดบ้าง โดยเฉพาะที่กระทรวงเกษตรฯในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งนั่งบนเก้าอี้ถึง 4 ปีเต็ม
แต่สิ่งที่เจ้าตัวยืนยันก็คือ เป็นรัฐมนตรีมือสะอาด ไม่มีประวัติด่างพร้อย
จุดเด่นของ “เสี่ยต่อ” คือ เพื่อนเยอะ รักพวกพ้อง ช่วยเหลือดูแลลูกพรรค และเสียสละ
อย่างการจัดบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้งหนล่าสุด 14 พ.ค.2566 “เสี่ยต่อ” สละสิทธิ์ ไม่อยู่ในบัญชี และไม่ลงเลือกตั้งในระบบเขตด้วย โดยให้เหตุผลว่า เพื่อจะได้มีเวลาช่วยพรรคอย่างเต็มที่ ในฐานะเลขาธิการพรรค
คุณสมบัติอีกอย่างที่เจ้าตัวเน้นย้ำเป็นพิเศษ คือ “คำไหนคำนั้น” แต่คุณสมบัตินี้กำลังจะถูกตั้งคำถามอย่างหนักหลังจากวันที่ 9 ธันวาคม หาก “เสี่ยต่อ” รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเคยประกาศเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต เนื่องจากนำพรรคพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ได้ สส.ต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
ท่ามกลางภูมิทัศน์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง การกำหนดตัวหัวหน้าพรรคที่ “ไม่มีแรงดึงดูดทางการเมืองมากพอ” ย่อมทำนายอนาคตของพรรคการเมืองนั้นได้ไม่ยากเย็น
พิจารณาจากการปรับตัวสู้ศึกใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ดัน “คุณอุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค นอกจากเป็นผู้นำรุ่นใหม่ และเป็นผู้หญิงแล้ว ยังเป็น “ลูกสาวนายใหญ่” ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองสูงสุดคนหนึ่งในปัจจุบันด้วย
ส่วนก้าวไกลไม่ต้องพูดถึงด้วยความเป็นห่วง เพราะกลยุทธ์ดัน คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้กลายเป็นเซเลบ ไม่ต่างจากดาราเกาหลีในการเลือกตั้งหนที่ผ่านมา คือตัวอย่างที่ดีและน่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่นับความชัดเจนของนโยบายและจุดยืนพรรคที่เป็นจุดแข็งอย่างมากของก้าวไกล
การย้อนทางตั้งหัวหน้าพรรคด้วย “นักการเมืองรุ่นลายครามคนเดิม” ทำให้นักรัฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนประเมินว่า ประชาธิปัตย์จะกลายสภาพเป็นพรรคท้องถิ่นนิยมอย่างแท้จริง และน่าจะได้ สส.ลดลงอีก แม้จะไม่ถึงขั้นต่ำสิบ แต่ก็น่าจะต่ำ 20
ท้องถิ่นที่เป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์คือภาคใต้ แต่การเลือกตั้งหนล่าสุดได้ สส.เพียง 17 ที่นั่ง จาก 60 ที่นั่ง คิดเป็น 28% ลดลงจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่ได้ไว้ 44% (22 คนจาก 50 คน) และลดจากในอดีตที่เคยได้ 85 ถึงกว่า 90% คือกวาดเกือบยกภาค
ส่วนภูมิภาคอื่น ประชาธิปัตย์ได้ สส.อีกแค่ 5 คน เป็นประจวบคีรีขันธ์ บ้านเสี่ยต่อ 2 คน แม่ฮ่องสอน สกลนคร และอุบลราชธานี จังหวัดละ 1 คน อีก 17 คนเป็น สส.ใต้ และ 3 คนเป็นปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลสายใต้ของพรรคทั้งหมด
หากการทำนายนี้เป็นความจริง น่าคิดว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่ หากชื่อ “เฉลิมชัย” จะมีเดิมพันวางมือทางการเมืองอีกครั้งหรือไม่!?!