กลายเป็นคำถามยอดฮิตในช่วงนี้ว่า “เมียนมาจะแตกหรือไม่?"
รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งศึกษาสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเป็นไปของกลุ่มชาติพันธุ์ มีคำตอบในเรื่ีองนี้อย่างแหลมคม...
—————
การเคลื่อนตัวเข้าสู่ปีที่ 3 ของสงครามกลางเมืองในเมียนมานั้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สงครามปฏิวัตินอกจากทับซ้อนกับความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์แล้ว ยังพบปัจจัยแทรกซ้อนที่เกี่ยวเนื่องกับการเข้ามาของ “ทุนสีเทา” หรือแม้กระทั่งการแบ่งเขตพื้นที่เพื่อทำธุรกิจผิดกฎหมายด้วย
เรื่องนี้ส่งถึงปัจจัยการสู้รบในสงครามอย่างแยกกันไม่ออก...
ความพร่ามัวของปฏิบัติการ 1027 จึงมักทำให้คนโดยทั่วไปไขว้เขวว่า กลุ่มพันธมิตรทางด้านภาคเหนือ โดยเฉพาะกลุ่มโกก้าง (MNDAA) กลุ่มอาระกัน (AA) และกลุ่มตะอ้าง (TNLA) มีการจับมือเป็นพันธมิตรอย่างแนบแน่นกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)
แต่ในข้อเท็จจริงแล้วจะต้องมีการจำแนกลักษณะของจุดยืนและความต้องการในแต่ละฝ่าย มากกว่าการหาข้อสรุปว่า “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” คือแม่เหล็กในการดึงดูดของทุกฝ่าย
กล่าวคือหากในกรณีของกลุ่มโกก้าง (MNDAA) จุดหมายปลายทางในทางการเมืองไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการต้องการเขตพื้นที่ทางด้านเศรษฐกิจคืน นับตั้งแต่สูญเสียไปให้กับฝ่ายที่เป็นพันธมิตรของกองทัพเมียนมา
ในกรณีของ กลุ่มตะอ้าง (TNLA) การมีพันธมิตรหรือเปิดฉากสงครามนอกเหนือจากการสู้รบกับกองทัพเมียนมาจากการถูกรุกไล่ในเขตภาคใต้ของรัฐฉานนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ถือเป็นสิ่งสำคัญ การเลือกร่วมปฏิบัติการ 1027 จึงเป็นแนวทางในการสกัดกั้นการรุกขึ้นเหนือของกองทัพเมียนมาได้เป็นอย่างดี
และในกรณีของ กลุ่มอาระกัน (AA) มีลักษณะพิเศษ นั่นก็คือการมีเป้าหมายอย่างน้อยที่สุดคือการปกครองเป็นแบบสมาพันธรัฐ ยุทธวิธีรบนอกเขตรัฐอาระกันเพื่อสกัดกั้น และขยายอิทธิพลในการสร้างเครือข่ายพันธมิตร จึงเป็นทางเลือกในการสู้รบ และขยายออกจากการปะทะออกจากรัฐอาระกัน และมุ่งสู่รัฐฉานเหนือได้เป็นอย่างดี
หากกล่าวในแนวทางที่กระชับมากที่สุดก็จะพบว่า การเลือกเปิดหลายสมรภูมิ หลายแนวของกองทัพเมียนมา และมีการสูญเสียเป็นจำนวนมาก กลายเป็นจุดหักเหที่สำคัญ ทำให้พันธมิตรทางด้านภาคเหนือเล็งเห็นว่าความอ่อนแอของกองทัพเมียนมาเป็นจังหวะที่ดีในการเปิดปฏิบัติการในเขตรัฐฉานตอนเหนือ
แต่อีกด้านหนึ่งจะต้องพิจารณาควบคู่กันไปอีกว่า ในบริบทของเขตภาคเหนือของรัฐฉานนั้น มีแนวชายแดนติดกับเขตของประเทศจีน ซึ่งมีแนวทางในการสร้างสัมพันธ์ไม่ใช่เฉพาะกับกองทัพเมียนมาเท่านั้น แต่ยังมีความต้องการสร้างความสัมพันธ์กับ “ทุกๆ ช่องทาง ทุกรูปแบบของตัวละครที่อยู่ในสงครามเมียนมา”
ฉะนั้นผลประโยชน์ของจีนในเขตภาคเหนือของรัฐฉานจึงมีความซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ต้องการสร้างสายสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมา เพื่อยืนยันถึงสถานะของผลประโยชน์ของจีน และอีกด้านหนึ่งก็มีความสอดคล้องกับกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือที่ต้องการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของจีนในระดับพื้นที่
จากปฏิบัติการ 1027 นี้ก็จะเห็นได้ว่าการกวาดล้างกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายเป็นเป้าหมายหลัก และการคงไว้ซึ่งอำนาจที่เหนือกว่าของการต่อรองกลายเป็นผลพลอยได้
ข้อสังเกตที่น่าสนใจนั่นก็คือ สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มเครือข่ายธุรกิจสีเทา ทั้งที่อยู่ในเขตของกลุ่มว้า (UWSA) อีกทั้งในปัจจุบันจีนยังมีความร่วมมือในการปฏิบัติการกวาดล้างธุรกิจสีเทาในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของลาวอีกด้วย
นอกจากในเขตภาคเหนือของรัฐฉานแล้ว การเปิดแนวรบทั้งพื้นที่ในเขตรัฐอาระกัน รัฐคะฉิ่น รัฐชิน ในเขตภาคตะวันตกของประเทศ รวมทั้งการเปิดแนวรบทั้งในพื้นที่รัฐคะยาห์ รัฐกะเหรี่ยง ในภาคตะวันออก ยังกลายเป็นปัจจัยเร่งเร้าให้เกิดสถานการณ์เรียกว่า “ราชสีห์ติดจั่น” ที่สะท้อนการปิดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และเป็นการคำนวณกลยุทธ์ที่ผิดพลาดทั้งกระดาน
ส่งผลให้กองทัพเมียนมาไม่สามารถขยับหรือทุ่มเทสรรพกำลังในการรบทั้งประเทศได้เหมือนในอดีต หรืออาจจะกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์การเจรจากับหนึ่งกลุ่มเพื่อไปรบกับอีกหนึ่งกลุ่มนั้น ได้ถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิง ยังไม่นับรวม “ยุทธการตัดสี่” (ตัดข่าวสาร เสบียง คน และเงินทุน) ที่เลื่องชื่อในอดีต แต่ล้มเหลวไม่เป็นท่าในปัจจุบัน
การเพลี่ยงพล้ำของกองทัพเมียนมา จนถูกตั้งคำถามว่าเมียนมาจะแตกหรือไม่แตกนั้น จึงอาจไม่ใช่คำถามเกินจริงแต่อย่างใด แต่จะต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ควบคู่กันดังต่อไปนี้
ประการแรก จำนวนการวางอาวุธของทหารเมียนมา ซึ่งในปัจจุบันจะพบว่ากำลังใจของทหารเมียนมาในการรุกรบมีความถดถอยเป็นอย่างยิ่ง หากกองกำลังฝ่ายต่อต้านและกลุ่มชาติพันธุ์เปิดโอกาสให้มีการวางอาวุธ และใช้กฎการปะทะในการปฏิบัติกับทหารเมียนมา เพื่อให้วางอาวุธ จะยิ่งทำให้ทหารเมียนมาหันมาให้ความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์มากยิ่งขึ้น
ประการที่สอง ในรูปแบบของความหวังในการเจรจา หากกองทัพเมียนมายังไม่สามารถเรียนรู้วิธีการเจรจาและในการยุติสงครามกลางเมืองในครั้งใหม่นี้ จะยิ่งทำให้กองทัพถดถอยและหลังชนกำแพงในที่สุด
กล่าวคือกองทัพตราหน้ากลุ่มต่อต้านว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย และปิดประตูในการเจรจาทุกทาง โดยมีความมั่นใจว่าศักดิ์สงครามในการสู้รบ โดยเฉพาะกองกำลังของฝ่ายรัฐมีความเหนือกว่าฝ่ายต่อต้าน ซึ่งในปัจจุบันทั้งโดยท่าทีการสนับสนุนของประชาชน กลยุทธ์ และการใช้เทคโนโลยีของฝ่ายต่อต้าน อาจจะกล่าวได้ว่าทำให้ศักดิ์สงครามของกองทัพเมียนมา แม้ว่าได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยี หากแต่ในเชิงกลยุทธ์แล้ว ในปัจจุบันตกเป็นรองเป็นอย่างยิ่ง
และหากกองทัพเมียนมายังยืนยันในการใช้กำลังปราบปรามในปัจจุบันต่อไป โอกาสที่จะเพลี่ยงพล้ำจึงมีความเป็นไปได้สูง ฉะนั้นการยอมรับว่าการเจรจาทางด้านการเมืองเป็นทางลงที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำของกองทัพ จึงมีความจำเป็น
แต่ทั้งนี้ผู้นำของกองทัพเมียนมามีความจำเป็นจะต้องตระหนักว่า การเจรจาภายนอกประเทศ การอาศัยตัวกลางในการเจรจา จะกลายเป็นสองกลไกหลักที่จะทำให้การเจรจาได้รับการยอมรับ ซึ่งในอดีตกองทัพเมียนมาเคยปฏิเสธสองกลไกนี้มาโดยตลอด
ปัจจุบันบันจึงเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญในการตัดสินใจของกองทัพเมียนมาว่าจะเจรจาหรือไม่เจรจา? ซึ่งการใช้วิธีปราบปรามแต่เพียงอย่างเดียว ได้ถูกพิสูจน์มาเกือบ 3 ปีแล้วว่ายิ่งทำให้กองทัพเมียนมามีความถดถอยเป็นเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในแง่กำลังพลและความสูญเสียภายในประเทศ
ในอีกด้านหนึ่งการสร้างเขตควบคุมพื้นที่ใหม่ของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน ทั้งกลุ่มกองกำลัง กลุ่มชาติพันธุ์เอง และกองกำลังของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ระยะเริ่มต้นนี้จะยังไม่เห็นการแตกสลายของทั้งประเทศ แต่จะพบรูปแบบของการสร้างเขตการปกครองรูปแบบผสมผสานในเชิงพื้นที่ใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็นทั้งในแง่ของสหพันธรัฐ และรูปแบบการขึ้นอยู่กับศูนย์กลางเดิมที่มีเนปิดอว์เป็นศูนย์กลาง
แต่เขตการปกครองผสมผสานที่เขตการปกครองของกองกำลังติดอาวุธซ้อนทับภายในแต่ละรัฐ จะกลายเป็นลักษณะรูปแบบพิเศษควบคู่กับการสร้างพันธมิตรทางการเมืองที่เป็นหลักประกันความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ซึ่งแต่ละฝ่ายมีอำนาจในการตัดสินใจอนาคตของตนเองอีกครั้งหนึ่ง
เหมือนดังเช่นผู้นำของตะอ้างในอดีตได้เคยแสดงออกไว้ว่า “ความต้องการของชาวตะอ้าง ไม่ได้ต้องการประชาธิปไตย ไม่ได้ต้องการความเป็นอิสระ หากแต่ต้องการให้วิถีชีวิตของชาวตะอ้างดำรงไว้เช่นดังเดิม ไม่ต้องถูกไล่ล่าและเข่นฆ่าอีกต่อไป…”
จากนี้ไปจนถึงกลางปีหน้าคือห้วงระยะเวลาของการตัดสินใจของกองทัพเมียนมาที่สำคัญยิ่ง และเมื่อพิจารณาข้อเสนอแนะทางยุทธศาสตร์ต่อประเทศไทยแล้ว การณ์ยุทธศาสตร์ใดๆ ที่ประเทศไทยต้องทำต่อไป คงต้องยึดหลักไว้เพียงสองนั่นคือ
กมฺมุนา วตฺตตี โลโก (สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม)
และ โย ปุพฺเพ กรณียานิ ปจฺฉา โส กาตุมิจฺฉติ วรุณกฏฺฐํ ภญฺโชว ส ปจฺฉา อนุตปฺปติ ผู้ใดปรารถนาทำกิจที่ควรทำก่อนในภายหลัง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลัง ดุจมาณพ (ผู้ประมาทแล้วรับ) หักไม้กุ่ม ฉะนั้น.