การพูดคุยดับไฟใต้ ในรูปแบบ “เปิดเผย-บนโต๊ะ” มีคณะทำงานชัดเจน ดำเนินมาแล้วต่อเนื่องเกือบ 11 ปี เปลี่ยนคณะพูดคุยมาแล้ว 4 คณะ ปัจจุบันเป็นคณะที่ 5 แต่น่าแปลกที่ไม่ค่อยมีความคืบหน้า เหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง
“ทีมข่าวอิศรา” จะพาไปดูว่ากระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ แท้จริงแล้วมีปัญหาตรงไหน ทำไมคุยไปมีแต่เสมอตัว หรือแย่ลง มองไม่เห็นสันติสุขที่ปลายอุโมงค์แต่อย่างใด
เหตุผลมี 5 ข้อด้วยกัน
1.จุดยืนระหว่างรัฐไทย กับ ผู้เห็นต่างจากรัฐ วันนี้ไม่ต้องปิดบังอีกแล้ว พูดได้เลยว่าคือ “ขบวนการบีอาร์เอ็น” เป็นจุดยืนที่แตกต่างกันสิ้นเชิง และแทบจะหา “จุดร่วม” ไม่ได้เลย
-บีอาร์เอ็น คือ ตัวจริงที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อสถานการณ์ชายแดนใต้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
-บีอาร์เอ็น โฆษณาเรื่องแยกดินแดน เอกราช และประกาศอุดมการณ์เอาไว้มาก ทำให้มีความยืดหยุ่นในการพูดคุยเจรจาได้น้อย
-เป้าหมายที่โฆษณา และบ่มเพาะเยาวชน สร้างนักรบเอาไว้ คือ “เอกราช” ไม่ใช่ “ปกครองพิเศษ” แถมยังอ้างอิงหลักศาสนาเชื่อมโยงกับการต่อสู้
-บีอาร์เอ็นยังเคยเสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ สิทธิในการกำหนดใจตนเอง หรือ Self Determination ซึ่งก็คือการขอสิทธิ์การทำ “ประชามติแยกดินแดน” หรือ “ประชามติในการกำหนดอนาคตตนเองว่าจะอยู่กับรัฐไทยต่อไปหรือไม่” นั่นเอง
เรื่องประชามติแยกดินแดน เพิ่งเป็นข่าวครึกโครมในสื่อทุกแขนงช่วงก่อนตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ว่ามี “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” จัดเสวนาเรื่องนี้ และมีแกนนำพรรคการเมืองบางพรรคไปร่วมเวที จนฝ่ายความมั่นคงต้องใช้ไม้แข็ง “ดำเนินคดี” สะท้อนว่าสังคมไทยและฝ่ายความมั่นคงไทย ยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้เลย
-ฝ่ายรัฐบาลไทยทุกชุด โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องพวกนี้อย่างสิ้นเชิง ช่องทางเดียวที่เป็นไปได้คือ “กระจายอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญไทย”
-ฝ่ายความมั่นคงมองว่า ข้อเรียกร้องของ บีอาร์เอ็น ยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการนับหนึ่งสู่การแยกดินแดน ตั้งรัฐเอกราชขึ้นใหม่ ฉะนั้นแม้บีอาร์เอ็นจะลดเพดานการพูดคุยเจรจา แนวๆ ยอมรับ “รัฐธรรมนูญไทย” แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ไม่เชื่อว่าจะจบแค่นี้ ไม่มีการดันเพดาน
2.คณะพูดคุยทุกชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้น ไม่มีอำนาจจริงในการตัดสินใจ เป็นเพียง “ตัวแทนเชิด” ที่ไปร่วมโต๊ะพูดคุย และรับฟังผู้เห็นต่าง ซึ่งก็ฟังซ้ำๆ มา 10 ปีแล้ว แต่ไม่ได้นำข้อเรียกร้องนั้นมาดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังเลย เพราะ…
-ตัวคณะพูดคุยไม่มีอำนาจ
-ตัวแทนส่วนราชการ ก็เป็นตัวแทนเฉพาะหน่วยตน ไม่มีอำนาจสั่งหน่วยอื่น
-ห้ัวหน้าคณะพูดคุย ก็ไม่ใช่หัวหน้าตัวแทนส่วนราชการที่ร่วมในคณะ
3.กระบวนการพูดคุยที่ออกแบบไว้ ไม่เชื่อมต่อกับฝ่ายนิติบัญญัติ หรือสภาไทย
-ต้องไม่ลืมว่า ข้อตกลงสันติภาพ หรือสันติสุข จะเกิดขึ้นจริงได้ ต้องได้รับการอนุมัติจากสภา (บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ)
-แต่คณะพูดคุยฯ และกระบวนการพูดคุยที่ตั้งขึ้น เป็นกระบวนการลอยๆ ไม่มีกฎหมายรองรับ จึงไม่มีข้อผูกมัดต้องนำเข้าขอความเห็นชอบจากสภา
-ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่าง นำโดยบีอาร์เอ็น ก็ไม่ได้มีเอกภาพ การสร้างเครือข่ายนักรบในรูปแบบ “องค์กรลับ” ทำให้บีอาร์เอ็นไม่สามารถควบคุมสมาชิกได้ทั้งหมด จึงไม่มีอะไรการันตีได้ว่า หากตัวแทนบนโต๊ะพูดคุยยอมตกลงกับฝ่ายรัฐบาลไทยแล้ว สมาชิกที่เหลือนอกโต๊ะพูดคุยจะยอมรับด้วย
4.มาเลเซียจริงใจช่วยเหลือไทยในภารกิจดับไฟใต้จริงหรือไม่
-ต้องยอมรับว่า กลุ่มก่อความไม่สงบใช้ดินแดนมาเลเซียเคลื่อนไหว กบดาน ซ่อนตัว และสะสมกำลังพลและอาวุธ
-แค่มาเลเซียนิ่ง ก็ไม่มีวันสงบแล้ว ถามว่าวันนี้มาเลเซียช่วยไทยเต็มร้อยหรือยัง คำตอบคือยัง อย่างน้อยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ก็มองเห็นชัดเจน
5.ฝ่ายไทยเอง เอาจริงหรือไม่ที่จะทำให้ไฟใต้มอดดับ
-อย่าลืมว่านี่คือสงครามสมรภูมิเดียวที่กองทัพเหลืออยู่
-การมีสงครามหรือปัญหาความมั่นคง คือภารกิจ งาน และงบประมาณของกองทัพ และฝ่ายความมั่นคง
-ที่สำคัญ หน่วยงานความมั่นคงไทยมีเอกภาพทางความคิดแล้วหรือยัง แต่ละหน่วยมีเป้าหมายเดียวกันในการพูดคุยหรือไม่ แม้จะอยู่ในคณะพูดคุยเดียวกันก็ตาม, Direction ของรัฐไทยมีหรือยังว่าจะยอมได้ถึงขั้นไหน เขตปกครองตนเอง เขตปกครองพิเศษ หรือไม่ยอมอะไรเลย ฯลฯ
@@ ก้าวต่อไปของยุทธภูมิแยกดินแดน
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดทำยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ของหน่วยงานด้านการข่าวระดับประเทศ วิเคราะห์ว่า ปัญหาไฟใต้จะยังไม่จบง่าย และจะยิ่งซับซ้อนขึ้น เพราะ
-ระยะนี้และระยะต่อไป จะเป็นการต่อสู้ของ “ปีกการเมือง” เต็มตัว (การรบ ใช้ความรุนแรง จะลดความสำคัญลง แต่ไม่ได้แปลว่าสถานการณ์ดีขึ้น)
-“ปีกการเมือง” ของฝ่ายที่ต้องการแยกดินแดน จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองตั้งแต่ระดับทัองถิ่นจนถึงระดับชาติ และเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับฝ่ายก้าวหน้า หรือเข้าไปเป็นสมาชิกของพรรคฝ่ายก้าวหน้าเสียเลย ซึ่งพรรคฝ่ายก้าวหน้าเป็นพรรคการเมืองระดับชาติ
-เราจะเห็นการสร้าง “ความมีอยู่ทางพฤตินัย” ของปาตานี แล้วค่อยๆ เข้าควบคุมกลไกระดับทัองถิ่น ขณะที่กลุ่มการเมืองระดับชาติจะเรียกร้องความชอบธรรมเรื่องการปกครองตนเอง โดยใช้โมเดลกาตาลุญญา ของสเปน และอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย
-ยุทธศาสตร์บีอาร์เอ็น กำลังเดินแนวนี้ คำถามคือ คณะพูดคุยแบบนี้ พร้อมรับมือแล้วหรือยัง?