กอ.รมน.ขยายแนวรบสู้กระแสยุบหน่วย เปิดเวทีเสวนาสร้างความเข้าใจ พร้อมดึง สมช.ช่วยแจงความจำเป็นต้องคงไว้ทั้งองค์กร ชูเป็นหน่วยงานรูปแบบเฉพาะ ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือแบบบูรณาการ เป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมต่อ “หน่วยนโยบาย-หน่วยปฏิบัติ” พร้อมโต้ลั่นปมงบลับทำบิ๊กทหารร่ำรวย
วันพุธที่ 8 พ.ย.66 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเวทีเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551” เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่มีต่อ กอ.รมน. โดยมี พล.อ.นพนันต์ ชั้นประดับ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก, พล.ท.ดนัยวัฒนา รุ่งอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และ น.ส.ชลธนสรณ์ พิสิฐศาสน์ ผู้อำนวยกองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมเวที
@@ มึนข้อกล่าวหา “ทหารเหนือพลเรือน”
พล.อ.นพนันต์ กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ เพื่อยุบ กอ.รมน.ว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าต้องการยุบด้วยสาเหตุใด ทั้งที่ กอ.รมน.มีบทบาทหน้าที่ชัดเจนตามกฎหมาย ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นใด ส่วนการจัดอัตรากำลังพลเป็นโครงสร้างผสมระหว่างทหารและพลเรือน มีการแบ่งอัตรากำลังอย่างชัดเจน
ดังนั้นการเสนอร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน.จึงผิดหลักการและข้ามขั้นตอนการปรับปรุงหน้าที่ภารกิจของส่วนราชการ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและหลักการจัดองค์การสากล ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่าอำนาจทหารเหนือกว่าพลเรือนที่จะนำไปสู่การยุบ กอ.รมน. และที่สำคัญหากจะมองว่าการจัดกำลัง กอ.รมน.มีความซับซ้อนหรือซ้ำซ้อนนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องยกเลิก พ.ร.บ. แต่สามารถแก้ระเบียบในฝ่ายบริหารได้ โดยผ่านมติคณะรัฐมนตรี
@@ ขอชัดๆ ปัญหาอยู่ตรงไหน แก้ที่ตรงนั้น
ด้าน พล.ท.ดนัยวัฒนา กล่าวว่า การทำงานแก้ปัญหาภัยความมั่นคงนั้น ไม่สามารถทำงานเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้ จึงเกิด “กองอำนวยการร่วม” เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้พร้อมต่อการรับมือกับปัญหาความมั่นคงหรือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ผ่านการคาดการณ์ล่วงหน้า เพราะมิฉะนั้นประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนและจะต้องไม่ทำงานไล่ตามปัญหาเหมือนในอดีต
ส่วน น.ส.ชลธนสรณ์ กล่าวว่า การจะยุบ กอ.รมน. หรือยกเลิกกฎหมาย ต้องมาพิจารณาก่อนว่าปัญหาอยู่ที่ตัวกฎหมาย หรือสาระของกฎหมาย ซึ่งหากมีปัญหาที่กลไกใด ก็สามารถแก้ไขรายมาตราได้ หรือหากปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติ ก็ต้องกลับมาพิจารณาปัญหาให้ตรงจุด
@@ ยืดหยุ่นสูง รับมือพลวัตงานความมั่นคง
ที่ผ่านมา กอ.รมน.มีหน้าที่สำคัญในการระงับยับยั้งภัยความมั่นคงของประเทศ ซึ่งภัยปัจจุบันมีพัฒนาการขึ้นมาต่างจากอดีต เช่น ภัยคอมมิวนิสต์ ภัยสงคราม ภัยการก่อการร้าย มีการปรับเปลี่ยนเป็นภัยเศรษฐกิจ ภัยทางสังคมที่มีพลวัตสูงมาก และมีความรุนแรงสูงมาก
“ปัญหาความมั่นคงเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ท้าทายว่าควรจะออกแบบหน่วยงานความมั่นคงเพื่อสกัดกั้นภัยต่างๆ ได้อย่างไร เพื่อไม่ให้สงผลกระทบต่อประเทศและสังคมหรือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะภัยที่เกิดขึ้นไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจะมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมารับผิดชอบได้หรือไม่ แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือ และหน่วยงานนั้นจะต้องทันต่อภัย มีความยืดหยุ่น ทำได้ทั้งในภาวะปกติและไม่ปกติ โดยมีสายบังคับบัญชาสั้นและกระชับ ไม่เน้นระบบราชการปกติ”
“ภัยอย่างหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่งก็อาจไม่สามารถจัดการได้ ต้องอาศัยความร่วมมือครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อตอบสนองภัยได้อย่างรวดเร็ว และยังจะต้องอาศัยภาคประชาชน ดึงประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความมั่นคง จึงสะท้อนความจำเป็นจะต้องมี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือจำเป็นจะต้องมี กอ.รมน.เพื่อตอบสนองภัยต่าง ๆ และมีเครือข่าย”
“กอ.รมน.เป็นหน่วยงานรูปแบบเฉพาะ มีความยืดหยุ่นกว่าหน่วยปกติ เพื่อตอบสนองภัยได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นหากคิดจะยุบ กอ.รมน. หรือจะไปตั้งหน่วยงานใหม่ ก็จะต้องหาคำตอบว่าจะมีหน่วยงานใดที่สามารถประสานความร่วมมือในการรับมือกับภัยรูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในการปฏิบัตินั้น สมช.เป็นเสมือนหน่วยงานในการกำหนดนโยบายสู่หน่วยงาน แต่ สมช.เป็นหน่วยงานขนาดเล็ก และมีช่องว่างขาดการอำนวยการ ดังนั้น กอ.รมน.จึงถือเป็นข้อต่อโซ่ เชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานในการกำหนดนโยบาย และหน่วยปฏิบัติ เพื่อนำไปปฏิบัติได้เป็นรูปธรรม” ผู้อำนวยกองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง สมช. ระบุ
@@ ใช้ทหาร “เรื่องปกติ” - โต้ปมงบลับทำบิ๊กทหารอู้ฟู่
นอกจากนั้น ยังมีการแสดงความเห็นบนเวทีเสวนาว่า ทั่วโลกมีการใช้กำลังทหารสนับสนุนงานความมั่นคงทั้งสิ้น ถือเป็นมาตรฐานสากล เช่น การจัดระเบียบสาธารณะ, การต่อต้านการก่อการร้าย, การควบคุมชายแดน, การปราบปรามยาเสพติด, การป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงการรวบรวมข่าวสาร การบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น
เวทีเสวนายังมีการตอบโต้เรื่องงบราชการลับของ กอ.รมน.ที่มีการกล่าวหานำเงินไปใช้สร้างความร่ำรวยให้กับนายทหารระดับสูง โดยยืนยันว่า งบประมาณ 100,000 ล้านบาท เป็นเพียงการรวมงบประมาณในแต่ละปีที่สะสมมากว่า 10 ปี โดยไม่สามารถระบุได้ว่าไปสร้างประโยชน์ให้กับบุคคลใดตามข้อกล่าวหา เพราะงบประมาณในแต่ละปี เป็นการเสนอตามขั้นตอน และระบบการใช้จ่ายงบประมาณของทางราชการที่สามารถกลั่นกรองและตรวจสอบได้ด้วยระบบของราชการ หากมีการรวมงบประมาณของหน่วยราชการอื่นแบบสะสมในแต่ละปี ทุกหน่วยราชการก็มีงบประมาณสูงเช่นเดียวกันกับ กอ.รมน.
@@ ตั้ง 8 ประเด็นชี้แจงยิบ
ขณะเดียวกัน มีข้อมูลในเพจเฟซบุ๊กของ กอ.รมน. สรุปประเด็นชี้แจงข้อกล่าวหา และการสร้างกระแสให้ยุบหน่วยงาน กอ.รมน. รวม 8 ประเด็น คือ
1.ความไม่ชัดเจนของร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
2.หลักการจัดหน่วยงานความมั่นคงเปรียบเทียบ
3.การใช้ทหารสนับสนุนรัฐบาล ในงานความมั่นคงภายในประเทศและการปฏิบัติสากล
4.หลักการอำนาจพลเรือนเหนือทหาร
5.หลักการตรวจสอบถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตย
6.หลักความซ้ำซ้อนองค์การและการปฏิบัติ
7.งบลับแสนล้านที่ผิดหลักการวิชาการและข้อเท็จจริง
8.กอ.รมน.เพื่อประชาชน