การดำรงอยู่ของหน่วยงาน กอ.รมน.ถูกตั้งคำถามในแง่ “ความซ้ำซ้อน” ที่เรียกกันว่า “หน่วยงานรัฐซ้อนรัฐ”
จริงๆ คำคำนี้ คนพูดคนแรกๆ คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ตั้งแต่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาชุดที่แล้ว และสมัยรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
ความหมายของ “รัฐซ้อนรัฐ” สะท้อนปัญหาทั้งในแง่โครงสร้างองค์กร ความซ้ำซ้อน และงบประมาณ
1.โครงสร้างองค์กร
-เป็นองค์กรที่มีแต่โครง ไม่มีบุคลากรของตัวเอง หรือมีก็น้อยมาก
-บุคลากรของ กอ.รมน. ใช้วิธียืมตัวมาช่วยราชการ หรือโอนมา
-ทั้งๆ ที่ไม่มีบุคลากรของตัวเอง แต่กลับมีงบเยอะมาก ทั้งๆ ที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้ประสานงาน” ที่ใช้ชื่อว่า “ศูนย์ประสานการปฏิบัติ”
(ดูกราฟฟิกจาก PBO หรือ สำนักงบประมาณของรัฐสภา ที่ทำรายงานวิเคราะห์งบเอาไว้ เป็นกราฟแท่ง จะเห็นได้ว่า กอ.รมน.ในยุคต้นๆ ของรัฐบาล คสช. มีงบระดับหมื่นล้าน เพิ่งมาลดลงในระยะหลัง เนื่องจากถูกโจมตีหนัก)
2.ความซ้ำซ้อน
-เมื่อองค์กรมีแต่เปลือก บุคลากรก็ไม่มีเป็นของตนเอง แต่กลับพยายามสร้างภารกิจขึ้นมาทำ ส่งผลให้งานในภารกิจเหล่านั้น ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานปกติที่มีอยู่
-เช่น ภารกิจดับไฟใต้ บางภารกิจที่ กอ.รมน.ไปทำ ก็ซ้ำซ้อนกับหน่วยหลัก เช่น ภารกิจงานด้านการข่าว ซ้ำซ้อนกับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซ้ำซ้อนกับหน่วยข่าวของทหาร
หรือภารกิจด้านการพัฒนา ก็ซ้ำซ้อนกับ ศอ.บต. และหน่วยปกติที่ทำอยู่แล้ว
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือ ภารกิจแก้ปัญหายาเสพติด ก็ซ้ำซ้อนกับ สำนักงาน ปปส. ซึ่งก็เป็นหน่วยงานเชิงบูรณาการด้วยเช่นกัน (ปปส. บูรณาการทุกหน่วย ทั้งกองทัพ ตำรวจ มหาดไทย ดีเอสไอ นิติวิทยาศาสตร์ ฯลฯ)
3.งบประมาณ
-เมื่อบุคลากรไม่มี เป็นหน่วยงานเปลือก ดึงคนจากหน่วยอื่นมา และสร้างภารกิจที่ซ้ำซ้อน ไม่ใช่แค่บูรณาการ (พยายามให้มีงานเป็นของตัวเอง หน่วยจะได้มีความสำคัญ) ทำให้งบประมาณโป่งขึ้น เฉลี่ยปีละหมื่นล้าน
-สำนักงบประมาณของรัฐสภา หรือ PBO ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายของ กอ.รมน. พร้อมสรุปปัญหาออกมาเป็นข้อๆ ดังนี้
หนึ่ง งบ กอ.รมน. จัดสรรอยู่ในหมวด “งบรายจ่ายอื่น” มากถึง 95% ซึ่งไม่มีการระบุ “กิจกรรม” ที่ชัดเจนว่างบนั้นนำไปใช้ในโครงการอะไร ไม่ชัดว่าเป็นงบดำเนินงาน หรืองบลงทุน
มีการยกตัวอย่าง โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโก-ลก และรั้วตาข่ายเหล็กชายแดนไทย-มาเลเซีย วงเงินทั้งโครงการ 640 ล้านบาท งบผูกพันปี 65 เท่ากับ 128 ล้่านบาท คำถามคือ โครงการเหล่านี้ใช้งบ กอ.รมน. แล้วหน่วยไหนทำ ทั้งๆ ที่มีหน่วยปกติทำอยู่แล้ว
สอง ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะไดรับจากงบประมาณที่ตั้งไว้ “กำหนดไว้ค่อนข้างกว้าง” และ “ตัวชี้วัด วัดผลได้ยาก”
สาม โครงการที่ดำเนินการ มีลักษณะซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะหน่วยงานปกติ
ข้อสังเกตเพิ่มเติมที่ไม่ได้อยู่ในเอกสารรายงานวิเคราะห์งบประมาณ ก็คือ ที่ผ่านมาสัดส่วนของงบ กอ.รมน. เทไปที่ภาคใต้ มากกว่า 75% แต่ภายหลังถูกวิจารณ์หนักว่าสถานการณ์ในภาคใต้ดีขึ้น แต่ทำไมงบไม่ลดลง จึงมีการจัดงบใหม่ ในลักษณะ “แผนบูรณาการ”
(ลองดูกราฟฟิกวงกลม ภาพทั้งวงคือ งบ กอ.รมน.ทั้งหมดของปี 65 จำนวน 7,881 ล้านบาทเศษ แยกเป็น 6 แผนงานบูรณาการ กับอีก 1 งบรายจ่ายบุคลากร / แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งงบ 1,424 ล้านบาทเศษ / ขณะที่แผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ตั้งงบ 4,955 ล้านบาทเศษ / ถามว่า 2 แผนงานนี้ ไม่ซ้ำซ้อนกันหรือ เพราะเป็นแผนงานความมั่นคงทั้ง 2 แผน)
แบบนี้หรือเปล่าที่เขาเรียกจัดงบหมกเม็ด ทำให้งบดับไฟใต้ดูลดลง แต่ไปโป่งที่แผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแทน นี่ยังไม่นับแผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ, แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ซึ่งอ่านดูก็รู้ว่าซ้ำซ้อนกันชัดๆ
@@ สมประโยชน์ถ้วนหน้า...ใครกล้ายุบ!?!
ความจริงเชิงลึกที่ไม่ค่อยมีใครรู้ และน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่องค์กรอย่าง กอ.รมน.ไม่มีทางถูกยุบได้ ก็คือ กอ.รมน.คือ “ขุมทรัพย์” หรือ “บ่อน้ำมัน” ของกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก นั่นเอง
ข้อมูลนี้มาจากนายทหารระดับสูงในกองทัพที่มองเห็นปัญหา ให้ข้อมูลเชิงยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ดังนี้
1.โครงสร้าง กอ.รมน. แบ่งเป็น 4 ภาค ตามกองทัพภาค ของกองทัพบก ซึ่งมี 4 ภาคเหมือนกัน
ผอ.รมน.ภาค คือ แม่ทัพภาคนั้นๆ
เท่ากับว่า แม่ทัพ สวมหมวก 2 ใบ คือ เป็นทหาร (แม่ทัพ) และเป็นหัวหน้าหน่วยงานพลเรือนที่มีหน้าที่บูรณาการ นั่นก็คือ ผอ.รมน.ภาค
งบที่มีให้ใช้จึงมี 2 ก้อน เท่ากับว่า แม่ทัพมีงบในมือเพิ่ม มีอำนาจเพิ่ม มีรถราม้าใช้เพิ่ม และมีบุคลากรให้ใช้งานเพิ่ม
อาทิ แม่ทัพมีสิทธิบินแบล็กฮอว์ก งบของกองทัพจะคำนวณออกมาเลยว่า ถ้าสถานการณ์ปกติ เหมือนปีก่อนๆ จะขึ้นบินได้กี่เที่ยว / สมมติปีนี้ภารกิจมาก แม่ทัพบินจนครบโควต้าแล้ว งบน้ำมันหมดแล้ว ก็ไปใช้งบ กอ.รมน.มาบินเพิ่มได้ อย่างนี้เป็นต้น
2.มีการเปิดตำแหน่งใน กอ.รมน. รองรับนายทหารที่ถึงทางตัน ไม่มีเส้นทางเจริญเติบโตในกองทัพบก หรือแม้แต่กองทัพไทย
เช่น เติบโตสายทหารพราน หรือเป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบก พอจะโตต่อ เพื่อขึ้นแม่ทัพ ปรากฏว่าขึ้นไม่ได้ ก็คาอยู่ที่ยศ “พลตรี”
ในอดีต แต่ละกองทัพภาค มี “พลโท” คนเดียว คือแม่ทัพ (ปัจจุบันมี “แม่ทัพน้อย” ด้วย) แต่เมื่อมีโครงสร้าง กอ.รมน. ก็เปิดตำแหน่ง “ที่ปรึกษา” อัตราพลโท และเลื่อนไหลถึง พลเอก
ใครสนใจลองเสิร์ชอินเทอร์เน็ตดูได้ ตำแหน่งที่ปรึกษา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หรือ ที่ปรึกษา กอ.รมน.เฉยๆ หรือตำแหน่งแปลกๆ ที่ไม่มีในกองทัพ จะเป็นตำแหน่งในสาย กอ.รมน. และเลื่อนไหลถึงยศ “พลเอก” ทำให้ทหารที่ยศตัน ตำแหน่งตัน มีทางไปต่อ ใช้งบ กอ.รมน.ในส่วนงานหรือภารกิจที่เพิ่มขึ้นมา
สมประโยชน์กันแบบนี้ จะยุบเลิกได้อย่างไร
นายพลในกองทัพก็ไม่มีทางลดลงได้ แถมนายพลเหล่านี้ ไม่ใช่ ผู้ทรงฯ กับ ผู้ชำนาญฯ (ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ และผู้ชำนาญการ) ที่อยู่ในแผนปรับลดนายพลของกองทัพและกระทรวงกลาโหมด้วย
3.ถ้ายุบ กอ.รมน. คำถามคือ
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะไปอยู่ที่ไหน - เดิมมีพื้นที่แค่อาคารเดียว ในค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ปัจจุบันขยายการก่อสร้างไปจนจะเต็มภูเขาแล้ว (กลายเป็นเขาเต็ม ไม่ใช่เขาตูม)
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก ระนอง นี่ก็เป็นโครงสร้างที่แยกออกมาอีกส่วนหนึ่ง แก้ปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาเป็นการเฉพาะ
และยังมี กอ.รมน.ที่ทำเรื่องแรงงานต่างด้าวที่มหาชัย สมุทรสาคร รวมถึงศูนย์ประสานการปฏิบัติ หรือ ศปป. ทำเรื่องยาเสพติด และอื่นๆ อีกมากมาย แม้แต่คนไร้บ้าน
ยุบแล้วจะย้ายไปไหน อยู่กันอย่างไร ทหารจะว่างงานมากขึ้นอีกบานใช่หรือไม่
การยุบ กอ.รมน.ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ
1.กระทบผลประโยชน์ของกองทัพ พูดง่ายๆ คือ เหมือน “ทุบหม้อข้าวกองทัพ”
2.กระทบกับตำแหน่ง ภารกิจ ของกำลังพลจำนวนไม่น้อย
3.ในอดีตเคยยกเลิกกฎหมายการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว ยังยุบ กอ.รมน.ไม่ได้
ปัจจุบัน กอ.รมน.มีกฎหมายรองรับชัดเจน จะยุบได้จริงหรือ
@@ พลวัตของ กอ.รมน.
=> กอ.ปค. หรือ กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (ตั้งโดยคำสั่งของฝ่ายบริหาร)
=> กอ.รมน.ที่ไม่มีกฎหมายรองรับ (เป็นคำสั่งฝ่ายบริหาร)
=> กอ.รมน.ที่มีกฎหมายรองรับ (พ.ร.บ.ความมั่นคง)
=> รับผิดชอบแก้ปัญหาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ไม่ครอบคลุมภัยคุกคามรูปแบบใหม่ทั้งหมด
=> “บิ๊กตู่” เพิ่มอำนาจให้ครอบคลุม “สาธารณภัย” ซึ่งรวมถึง ภัยธรรมชาติ โลกร้อน โลกอุบัติใหม่ ความยากจน ก่อการร้าย วินาศกรรม (คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560)
=> บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 52 วรรค 2 ให้ทหารมีภารกิจด้านการพัฒนาประเทศด้วย
จบข่าว - กอ.รมน.ทำได้ทุกอย่างบนโลกใบนี้!