รมว.แรงงาน ลงพื้นที่นราธิวาส ประชาสัมพันธ์สิทธิประกันสังคม พร้อมมอบทุนเด็กกำพร้าชายแดนใต้ เผยนายกสั่งเร่งพาแรงงานไทยในอิสราเอลอีก 8,500 คนกลับมาตุภูมิ มอบหมาย “นัจมุดดีน” หารือมาเลย์ดูแล “ชาวต้มยำกุ้ง” ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ยังเป็นไปไม่ได้ เผยแกนนำภูมิใจไทยตะลุยชายแดนใต้ต่อเนื่อง “อนุทิน” เพิ่งลงพื้นที่ถกผู้สนับสนุนพรรค ดันเขตพัฒนาพิเศษบางนรา
วันอาทิตย์ที่ 29 ต.ค.66 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เป็นประธานเปิดโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประกันสังคมมาตรา 40 สู่เครือข่ายประกันสังคม รุ่นที่ 2 ที่โรงเรียนนราสิกขาลัย อ.เมืองนราธิวาส โดยมี นายปรีชา นวลน้อย รองผู้ว่าฯนราธิวาส, นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้ประกันตน เครือข่ายประกันสังคม และเจ้าหน้าที่รอต้อนรับราวๆ 500 คน
โครงการ “ประชาสัมพันธ์ประกันสังคมมาตรา 40” มีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์เชิญชวนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ ถึงอายุ 65 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถือเป็นแรงงานสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถเข้าถึงสิทธิความคุ้มครองสูงสุด 5 กรณี ได้แก่
-เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย
-ทุพพลภาพ
-ค่าทำศพ
-บำเหน็จชราภาพ
-และสงเคราะห์บุตร
ทั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มแรงงานอิสระให้สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงแรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เฉพาะใน จ.นราธิวาส จำนวน 301,276 คน และอีกจำนวน 70,138 คน เข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางประกันสังคม
พร้อมกันนี้ นายพิพัฒน์ ได้มอบเกียรติบัตรให้แก่เครือข่ายที่สนับสนุนงานประกันสังคมดีเด่น และมอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ ในการดูแลของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนราธิวาส จำนวน 2 ราย คือ นางอนงค์ แซ่ภู่ อายุ 67 ปี เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทุพพลภาพจากอาการเส้นเลือดในสมองแตก และ นายกรุณา มณีแสง อายุ 66 ปี เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ทุพพลภาพจากโรคจากไตวายเรื้อรังและโรคเบาหวาน
สำหรับ “ผู้ประกันตนตามมาตรา 39” หมายถึง ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ เป็นบุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จ่ายเงินสมทบก่อนออกจากงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน แล้วลาออก แต่ต้องรักษาสิทธิประกันสังคม โดยได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, คลอดบุตร, ตาย, สงเคราะห์บุตร และชราภาพ
ส่วน “ผู้ประกันตนตามมาตรา 33” หมายถึง กลุ่มลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการ และหน่วยงานราชการ เช่น พนักงานออฟฟิศ พนักงานโรงงาน เป็นต้น
@@ มอบทุนการศึกษาเด็กกำพร้า 3 จังหวัดชายแดน
จากนั้น นายพิพัฒน์ ได้เดินทางต่อไปยังลานพิกุล ซึ่งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมืองนราธิวาส เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดงานกองทุนเด็กกำพร้า ซึ่งจัดขึ้นโดยศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง (หรือ พีเอ็นวายเอส) ภายใต้ชื่อ “ปันน้ำใจ มอบความสุข เด็กกำพร้า PNYS”
โอกาสนี้ได้มอบทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จำนวน 122 คน คนละ 5,000 บาท โดยรัฐมนตรีได้สมทบทุนการศึกษาด้วย เป็นเงิน 100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 610,000 บาท เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ซึ่งภายในงาน ศิษย์เก่ามหาวิทยารามคำแหงได้จัดเลี้ยงอาหารฟรีสำหรับเด็กกำพร้าและผู้ปกครองด้วย
ส่วนในช่วงบ่าย นายพิพัฒน์ เดินทางไปเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ วิชาช่างเทคนิคระบบขนส่งทางราง ของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยที่ผ่านมามีนักศึกษาระดับ ปวส.ทั้งสิ้น 39 คน และมีจำนวน 7 คนที่เรียนสำเร็จ สามารถเข้าไปทำงานในวงการรถไฟได้ ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทำ MOU กับประเทศจีน เพื่อส่งศึกษาต่อ คาดว่าจะสามารถรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่กำลังเติบโตในประเทศไทยได้
@@ เร่งช่วยเหลือแรงงานในอิสราเอลอีก 8,500 คนกลับไทย
นานพิพัฒน์ กล่าวถึงแรงงานไทยในอิสราเอลว่า ตลอดระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแรงงานไทยอยากกลับบ้าน 8,500 คน เพราะฉะนั้นในช่วงนี้นายกรัฐมนตรีได้เร่งให้กระทรวงแรงงานไปพบญาติของแรงงานที่อยู่ในอิสราเอลทุกคน เพื่อประานขอให้แจ้งไปยังแรงงานที่ทำงานในประเทศอิสราเอลกลับบ้าน เพื่อความสบายใจของครอบครัวที่รออยู่ในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงแรงงานเองก็มีคำสั่งเร่งไปยังแรงงานทุกจังหวัดที่มีแรงงานทำงานในประเทศอิสราเอล ให้ประสานหรือติดต่อกับญาติ เพื่อพูดคุยโน้มน้าวพี่น้องแรงงานให้กลับบ้าน
“หลังจากนี้จะดูแลเยียวยานักศึกษาที่ไปศึกษาต่อ และต้องเดินทางกลับ สำหรับค่าเดินทางที่ได้จ่ายไปแล้ว ให้มาติดต่อที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งได้ประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ โดยท่านนายกฯได้อนุมัติเรื่องค่าเดินทาง ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ และจะมีการผ่อนผันสำหรับผู้ที่กู้เงินไปทำงานในต่างประเทศและยังใช้หนี้ไม่หมด อีกส่วนก็จะเป็นการเยียวยาหลังจากกลับจากประเทศอิสราเอล กระทรวงแรงงานเราจ่ายคนละ 15,000 บาท”
@@ มอบหมาย “นัจมุดดีน” หารือมาเลย์ดูแลแรงงานต้มยำกุ้ง
รมว.แรงงาน กล่าวถึงแรงงานไทยในประเทศมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านต้มยำ ที่เรียกว่า “แรงงานต้มยำกุ้ง” ว่า ปัจจุบันทางคณะทำงาน โดย นายนัจมุดดีน อูมา อดีต สส.นราธิวาส ได้ไปหารือกับทางรัฐบาลของประเทศมาเลเซียในเรื่องของการส่งแรงงาน โดยเฉพาะเรามีแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซีย 200,000 - 300,000 คน และไปเปิดกิจการร้านต้มยำประมาณ 5,000 ร้าน
@@ ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ยังเป็นไปไม่ได้
รมว.แรงงาน ได้กล่าวถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำช่วงต้นปีหน้าว่า ในการหาเสียงของบางพรรคการเมืองนั้น มีทั้ง 450 บาท และ 600 บาท แต่ปัจจุบันนี้ค่าแรงงานขั้นต่ำเราไม่ได้ระบุเฉพาะแรงงานต่างด้าวหรือชาวไทย ซึ่งคนที่ทำงานในประเทศไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำทุกคน ทุกชาติ เพราะฉะนั้นการที่จะประกาศอัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้น ต่ำสุด 328 บาท ซึ่ง นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ยังอยู่ในอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ 328 บาท และค่าแรงสูงสุดก็มี 3 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต ระยอง และชลบุรี 354 บาท แต่ว่าค่าครองชีพก็สูงเช่นกัน
“ทางกระทรวงแรงงานจะทำการสำรวจทุกปีว่า ในแต่ละปีมีจังหวัดใดบ้างที่ขอค่าแรงขั้นต่ำ แล้วแต่ละจังหวัดที่ขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขอขึ้นจังหวัดละเท่าไหร่ ซึ่งทางเราเองไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่จะมีการกำหนดโดยไตรภาคี คือ สภาองค์กรลูกจ้าง นายจ้าง และส่วนราชการ เราเปรียบเสมือนกรรมการที่เป็นการประสานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง”
“ในปี 2567 เราจะสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่าไหร่ โดยมีมาตรการ แต่อย่างน้อยที่สุดต้องมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปีตามค่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเชื่อว่าภายในเดือน ธ.ค. กระทรวงแรงงานจะมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างแน่นอน และในอีก 4 ปี ข้างหน้า ค่าแรงขั้นต่ำจะยังไม่ถึง 600 บาท แต่ก็น่าจะอยู่ที่อัตราใกล้เคียง เพราะเราขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี ซึ่งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะไม่สามารถประกาศได้ว่าจะเท่ากันทุกจังหวัดหรือเปล่า เพราะต้องเป็นการการหารือกันของสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า รวมถึงสภาองค์กรลูกจ้างด้วย” รมว.แรงงาน ระบุ
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับค่าแรงในโรงงานหรือบริษัทใหญ่ๆ เกิน 400 บาทต่อวันแล้วทั้งสิ้น ฉะนั้นค่าแรง 400 บาท หากทำจริง จะเกิดผลกระทบหนักที่สุดคือ SME หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งก็คือสถานประกอบการที่ไม่ใหญ่ ถ้าประกาศค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 400 บาทSME จะต้องทยอยปิดตัวกว่า 50% และนักลงทุนส่วนหนึ่งอาจจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยกว่าไทย
ฉะนั้นพวกเราพร้อมหรือไม่ที่จะหางานให้คนที่ตกงาน 8,000,000 คน เมื่อประกาศค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 400 บาท ซึ่งทางเราก็ยังไม่พร้อม เฉพาะแรงงานที่กลับจากประเทศอิสราเอล เรายังต้องหาตำแหน่งงานจากอีกหลายประเทศกว่าจะบรรจุอีก 30,000 คนเข้าไปทำงานยังประเทศที่มีรายได้ดีกว่าประเทศไทย ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในตอนนี้ ต้องบอกเลยว่ายังเป็นไปไม่ได้
@@ แกนนำ ภท.สลับลงพื้นที่ - “อนุทิน” ดันเขตพัฒนาพิเศษนราฯ
เป็นที่น่าสังเกตว่า แกนนำพรรคภูมิใจไทยสลับกันลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส ซึ่งพรรคมี สส. 1 คน อย่างต่อเนื่อง
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.66 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เดินทางไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ จ.นราธิวาส โดยมี นายนัจมุดดีน รอต้อนรับ พร้อมเชิญผู้สนับสนุนพรรคภูมิใจไทยในพื้นที่พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแนวทางที่พรรคภูมิใจไทยได้หาเสียงไว้กับประชาชน
โดยพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคภูมิใจไทยมี สส.1 คน คือ ดร.ซาการียา สะอิ สส.เขต 4 จ.นราธิวาส
การลงพื้นที่ของนายอนุทินในครั้งนั้น เจ้าตัวได้เดินตลาดและทานน้ำชาและโรตี ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นที่เป็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ด้วย
นายนัจมุดดีน กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และดูแลกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระกระทรวงอุดมศึกษาฯ ดังนั้นพรรคจึงมีนโยบายในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงที่รับผิดชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีปัญหาทั้งเรื่องการศึกษา เรื่องของแรงงาน ทั้งในพื้นที่ และแรงงานที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากการขับเคลื่อนที่สำคัญของการพัฒนาอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด พัฒนาชุมชน และองค์กรปกครองท้องถิ่น
“โดยเฉพาะนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาสที่เริ่มในสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยังเดินหน้าเพียงเล็กน้อย ซึ่งพรรคภูมิไทยไทยต้องการผลักดันให้เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดนราธิวาส เป็นฐานเศรษฐกิจใหม่รองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การบริการ และเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นความต้องการของคนนราธิวาส ซึ่งผู้สนับสนุนพรรคภูมิใจไทยได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับท่านอนุทิน ช่วงที่ลงพื้นทึ่ครั้งก่อนด้วย” นายนัจมุดดีน ระบุ