ถือเป็นความจริงที่ปฏิเสธยากว่าสังคมรับรู้ข้อมูลที่แท้จริงของ “เรือดำน้ำไทย” ที่สั่งซื้อจากจีนน้อยมาก เพราะสัญญาจัดซื้อจัดหา เป็นความลับทางความมั่นคง
เรียกกันว่า “เอกสารริมแดง” เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีแล้วไม่มีแจกเอกสารให้นำออกนอกห้องประชุมได้ แต่เจ้าหน้าที่จะนำเอกสารมาแจกระหว่างการประชุมให้พิจารณา เมื่อพิจารณาเสร็จก็เก็บกลับไปทันที
จึงไม่มีข้อมูลรายละเอียดของโครงการในทางสาธารณะมากนัก ทำให้ไม่มีใครรู้ว่า “ข้อตกลง” ในสัญญา มีเขียนอะไรไว้บ้าง
อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ “บิ๊กทิน” สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ก็ออกมาสอนมวยคนขี้สงสัยว่า การซื้อเรือดำน้ำ เป็นสัญญาแบบ “รัฐต่อรัฐ” หรือ G to G โดยสถานะจึง “ไม่ใช่สัญญา” แต่เป็น “ข้อตกลง” ระหว่างรัฐบาลของสองประเทศ จึงไม่มีเรื่องที่เรียกว่า “ผิดสัญญา” (เพราะข้อตกลงไม่ใช่สัญญา) แต่หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดปฏิบัติตามข้อตกลงไม่ได้ ก็ให้เจรจาแก้ปัญหาร่วมกัน
คำตอบแบบนี้ทำให้ข้อเรียกร้องให้ไทยต่อรองจีนให้มาก เนื่องจาก “จีนผิดสัญญา” เพราะหาเครื่องยนต์เยอรมันใส่ให้เรือดำน้ำไทยไม่ได้ตามสัญญา เป็นอันตกไป นี่คือตัวอย่าง…
ยังไม่นับเรื่องรายละเอียดการจ่ายค่างวด และงบประมาณที่จ่ายในแต่ละงวด จนป่านนี้ยังไม่ชัดเจนว่า เรือดำน้ำลำแรก มูลค่า 13,000 ล้านบาทเศษนั้น กองทัพเรือไทยจ่ายไปแล้วกี่งวด รวมเป็นเงินเท่าใด จึงไม่สามารถนำมาคำนวณหักออกจากราคาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงที่กองทัพเรือเสนอแลกกับเรือดำน้ำได้ ว่าไทยต้องจ่ายอีกกี่พันล้านกันแน่ (สังคมจึงสรุปยากว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม)
มีเพียงคำพูดคลุมๆ ให้เข้าใจเหมือนกับว่า มีส่วนต่างอยู่แค่ 1,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่หากไทยจ่ายค่างวดไปแค่ 7,000 ล้าน ก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 7,000 ล้าน และยังไม่รู้ว่า 7,000 ล้านแรก จะถูกจีนหักไปอีกเท่าใด เนื่องจากมีงานก่อสร้างเรือดำน้ำ และอุปกรณ์ประกอบที่จีนทำไปแล้ว ย่อมจะต้องหักออกได้ เพราะไม่ได้อยู่ในสถานะ “ผิดสัญญา”
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของความยากในการร่วมกันหาทางออกของปัญหาโครงการเรือดำน้ำไทย กลายเป็นว่าสังคมทำได้แค่ “รอฟัง” ว่ากองทัพเรือจะเอาอย่างไร และฝ่ายการเมืองจะเคาะแบบไหน ทั้งๆ ที่ประชาชนคนไทยเป็นเจ้าของเงินภาษีทุกบาททุกสตางค์
การเสนอทางออกจึงเหมือนต้องใช้อิทธิฤทธิ์ของ “ไกรทอง” ใช้เทียนอาคมระเบิดน้ำ ลงไปสะสางปัญหาเรือดำน้ำที่อยู่ใต้ท้องน้ำ คล้ายปราบ “จระเข้ชาละวัน” ที่หลบอยู่ในถ้ำแก้วใต้บาดาล
@@ ผ่าทางตัน ปัญหาเรือดำน้ำไทย!
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง สวมบทไกรทอง ตั้งข้อสังเกตพร้อมแนวทางแก้ไขปัญหา 13+1 ข้อ หวังให้เป็นทางออกของวิกฤตเรือดำน้ำไทย
อาจารย์สุรชาติ เกริ่นในเบื้องต้นว่า ปัญหาเรือดำน้ำ เป็น “สารตกค้าง” มาจากยุค คสช. ถึงวันนี้ปล่อยผ่านไม่ได้อีกแล้ว จึงเสนอข้อพิจารณาอย่างสังเขป 13+1 ประการ
1.การแลกเรือดำน้ำกับเรือรบบนผิวน้ำ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้ไทยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเรือดำน้ำที่มีปัญหาเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก และต้องถือว่าปัจจุบัน ปัญหานี้ถึง “ทางตัน” แล้ว และต้องการการแก้ปัญหาในระดับรัฐบาล
2.ความคิดที่จะให้ฝ่ายไทยล้มโครงการ และฝ่ายจีนคืนเงินให้ น่าจะเป็นไปได้ยาก แม้ผู้ขายจะไม่สามารถดำเนินการให้ครบตามความตกลงก็ตาม
เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไทยไม่ใช่รัฐมหาอำนาจที่มีอำนาจการต่อรองมาก จนสามารถบังคับจีนได้ตามที่เราต้องการ
3.ต้องทำความเข้าใจว่า ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องแตกหักกับจีน หรือจัดการในแบบ “ชนกับจีน” (ตามที่มีบางฝ่ายเรียกร้องในสื่อสังคมออนไลน์) เช่น ในแบบฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม ซึ่งเป็นปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดน และเกาะแก่งในทะเลจีนใต้ (แตกต่างอย่างมากกับปัญหาเรือดำน้ำ)
4.ไม่ชัดเจนว่า มีประเด็นที่ไทยเป็นฝ่ายละเมิดสัญญาหรือไม่ เช่น ปัญหาการจ่ายเงินช้าในช่วงโควิดดังที่เคยปรากฏเป็นข่าว และได้รับการผ่อนผันจากจีน
5.การจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องการซื้อสินค้าตามปกติ แต่เป็นการซื้ออาวุธที่มีนัยของการเมืองระหว่างประเทศของความสัมพันธ์ไทย-จีน และหากเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้น ย่อมไม่เป็นผลประโยชน์ต่อไทยในปัจจุบัน ปัญหานี้ไม่ใช่การสั่งของจาก “อาลีบาบา” แล้วได้ของไม่ครบตามที่ตกลงไว้ จึงเป็นปัญหา
6.การต่อต้านการแลกเรือแบบไม่เปิดช่องให้มีทางออก จะทำให้ประเด็นถอยกลับไปสู่ข้อถกเถียงเรื่องของเครื่องยนต์เรือ เช่นเดียวกับในช่วงต้นที่เริ่มมีปัญหา และไม่มีทางออก
และไม่ใช่ข้อถกเถียงว่า ไทยควรมีเรือดำน้ำหรือไม่
การทำเช่นนี้คือ การเดินย้อนกลับไปสู่ทางตัน
7.การแลกเรือดำน้ำกับเรือฟริเกตอาจจะไม่ตอบปัญหาโดยตรง เพราะปัญหาราคาที่สูงกว่าเรือดำน้ำ การจ่ายเพิ่มจะทำให้สังคมรับไม่ได้ และมีผลกระทบกับรัฐบาล
เป็นเหมือนกับการที่รัฐบาลต้อง “จ่ายค่าโง่” เพิ่มจากปัญหาเดิม ที่คนในสังคมไทยมองว่า จีนเป็นฝ่ายผิดสัญญา และสำหรับไทย การแลกต้องไม่มีการ “จ่ายเพิ่ม”
8.การแลกเช่นนี้จะต้องไม่ใช่การจัดทำโครงการซ้อน ด้วยการทำโครงการจัดหาเรือรบใหม่ซ้อนเข้ามา เพราะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น และควรต้องยุติโครงการเดิมให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการจัดงบประมาณ
9.เรือฟริเกตลำใหม่ ต่อ (หมายถึงสร้าง) จากเกาหลีใต้แล้วในปี 2562 คือ “เรือหลวงภูมิพล” ควรต่อเป็น “เรือคู่แฝด” ไม่ควรเอาเรือฟริเกตลำใหม่จากจีนเข้ามา ควรดำเนินการตามแผนเดิมในการต่อลำที่ 2 (เรือหลวงอานันทมหิดล) กับเกาหลีต่อไป
ปัญหาเดิมเกิดจากการโยกงบสำหรับเรือฟริเกตเกาหลีไปใช้ในการจัดซื้อเรือดำน้ำในปีดังกล่าว
(ความเหมาะสมของเรือคู่แฝดสัญชาติเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการเชื่อมโยงระบบการรบ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก)
10.เรือคอร์เวตน่าจะเป็นคำตอบสำหรับการแก้ปัญหาการจัดหาเรือทดแทนเรือหลวงสุโขทัย และอาจแลกเป็นเรือคอร์เวตที่อาจมีขนาดใหญ่กว่าเดิม (เรือสุโขทัยมีระวางขับน้ำประมาณ 900 กว่าตัน เรือมงกุฎราชกุมารประมาณ 2000 ตัน) และการซ่อมบำรุงหลังจากการกู้เรือให้กลับมามีสภาพใช้งานได้เหมือนเก่า อาจจะไม่คุ้มค่า และการสั่งต่อใหม่จากอู่เรือในสหรัฐ อาจทำไม่ได้ด้วยปัญหางบประมาณในปัจจุบัน
(เรือชุดนี้สั่งต่อในปี 2526 และเข้าประจำการในปี 2529/2530)
11.กองทัพเรือ/กระทรวงกลาโหมควรจะต้องตอบให้ชัดเจนว่า รัฐบาลไทยได้จ่ายค่าเรือดำน้ำไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด และได้จ่ายในส่วนอื่นใดไปแล้วบ้าง อีกทั้งหากเกิดการแลกจริง จะต้องมีความชัดเจนว่า เรือที่แลกมามีมูลค่าเท่าใด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสังคมได้รับรู้
12.ความตกลงในการจัดซื้อ/จัดหายุทโธปกรณ์เป็นการทำสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ คือ รัฐเป็นคู่สัญญา และเป็นการดำเนินการโดยรัฐ ปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมเป็นปัญหาของรัฐบาล 2 ฝ่าย การเจรจาเพื่อหาทางออกน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสอง
ประเด็นนี้ไม่ใช่ปัญหาที่ไทยจะต้องแตกหักกับจีนในมุมมองแบบกระแสชาตินิยม เช่นที่มีการสร้างความเชื่อว่า การยอมแลกเรือดำน้ำกับเรือรบบนผิวน้ำของจีน เป็นเหมือนการกระทำที่ “ไม่มีศักดิ์ศรี” ของรัฐบาลไทยที่ “ยอมจีน”
13.หากความตกลงเช่นนี้เกิดปัญหาขึ้น คณะรัฐมนตรีย่อมมีสิทธิ์ที่จะทำการเปลี่ยนแปลงได้ บนเหตุผล คือ
1 การเปลี่ยนแปลงเป็นผลประโยชน์ต่อรัฐ
2 การเปลี่ยนดังกล่าวไม่ใช่การดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของบุคคล/กลุ่มบุคคล
3 การเปลี่ยนเช่นนี้มีเหตุผลชัดเจนที่สามารถอธิบายกับสังคมได้
14.รัฐบาลจะต้องระมัดระวังว่า การแลกเรือจะไม่กลายเป็นปัญหาทางการเมืองภายในของไทย เพราะอาจมีบางกลุ่ม/บางคนต่อต้านการแลกเรือแบบสุดโต่ง โดยเชื่อว่าการต่อต้านนี้ จะทำให้เกิดผลกระทบทางการเมืองกับรัฐบาลในฐานะ “ผู้แก้ปัญหา”
หรือสำหรับบางกลุ่ม การต่อต้านทางเลือกนี้จะบังคับให้กองทัพเรือและรัฐบาลไทยยังจำต้องอยู่กับโครงการเรือดำน้ำเดิม และเดินหน้าไปสู่การดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
อาจารย์สุรชาติ ทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดนี้เป็นการนำเสนอเพื่อ “ผ่าทางตัน” ให้ปัญหามีทางออก เพราะปัญหากำลังเดินมาถึงจุดสุดท้าย ที่รัฐบาลและกองทัพเรือไทยต้องตอบให้เกิดความชัดเจนแล้ว!
-------------------------
ขอบคุณภาพปกจาก เพจ thaiarmedforce.com