“ขอต่ออายุความไปอีกได้ไหม ให้รัฐหาคนทำผิด จับตัวจริงที่สั่งการให้เกิดเหตุร้ายในวันนั้นมารับโทษ นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”
เป็นเสียงจาก แบเลาะ (นามสมมุติ) 1 ใน 58 คนจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 19 ปีก่อน ที่บอกความรู้สึกและความต้องการลึกๆ เมื่อถูกถามถึงอายุความของคดีตากใบที่จะหมดลง นับถอยหลังไปอีก 1 ปี คือในวันนี้ ปี 2567
“ความหวังของชาวบ้านต้องการรู้ว่า คนสั่งการในวันนั้นคือใคร ไม่มีความยุติธรรมเรื่องกฏหมายสำหรับคนในพื้นที่แห่งนี้” แบเลาะ ตอกย้ำเรื่องที่เป็นบาดแผลในใจมาเนิ่นนาน
@@ สะกิดแผลตากใบ
เหตุการณ์หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อเช้าตรู่วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ในเดือนถือศีลอดของปีนั้น มีผู้คนนับพันคนมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คนที่ถูกควบคุมตัวและสอบสวนมากว่าสัปดาห์ ด้วยข้อสงสัยว่ารู้เห็นเรื่องอาวุธปืนของทางราชการที่ถูกผู้ก่อความไม่สงบชิงไปหรือไม่
ช่วงนั้นกลุ่มก่อความไม่สงบเดินสายข่มขู่ ชิงปืน และบางกรณีก็ปล้นปืนของเจ้าหน้าที่ ตามยุทธศาสตร์ “ปืนของรัฐ คือปืนของเรา” เสมือนหนึ่งสะสมไว้เตรียมต่อสู้กับรัฐในสงครามระยะยาว
แต่รัฐบาลในขณะนั้นสงสัยว่า บางกรณีเหมือนเป็นการสมยอม รู้เห็นกัน ไม่ได้ปล้นชิง หรือข่มขู่กันจริงๆ จึงมีการออกมาตรการโดยกระทรวงมหาดไทย คาดโทษเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ชรบ. ที่ถูกชิงปืน ใครสูญเสียปืนไป จะต้องถูกสอบสวนดำเนินคดี
ทว่าบางกรณี คนในพื้นที่เหมือนจะรู้ว่า ชรบ.ก็โดนข่มขู่ชิงปืนไปจริง จึงรู้สึกเห็นใจคนที่โดนดำเนินคดี ต้องถูกจับ ถูกขัง ต้องประกันตัว ทำให้เกิดกระแสว่าไม่เป็นธรรม และนำมาสู่การปลุกม็อบขึ้นมา แม้ภายหลังจะบานปลายกลายเป็นประเด็นอื่นก็ตาม
ม็อบที่ตากใบก็เริ่มจากประเด็นนี้ แต่เป็นการชุมนุมยืดเยื้อ และคนจากทุกสารทิศหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย จากหลักร้อยเป็นหลักพัน เป็นหลายพัน กระทั่งบ่ายคล้อยเริ่มเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น คือ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี (ปัจจุบันยศพลเอก เป็นทหารเกษียณ) จึงมีคำสั่งสลายการชุมนุม โดยเริ่มจากการฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตา และยิงตอบโต้ มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 คน เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย
เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ ก็ได้สั่งให้ผู้ชุมนุมถอดเสื้อ แล้วใช้เสื้อมัดมือไพล่หลัง และนำผู้ชุมนุม 1,370 คน ขึ้นรถบรรทุกในลักษณะนอนซ้อนทับกันไป เพื่อเดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ระยะทางไกลถึงเกือบ 200 กิโลเมตร ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว และผู้ถูกจับทั้งหมดถือศีลอด ไม่ได้รับประทานอาหารช่วงตะวันขึ้นถึงตะวันตกดิน
เมื่อรถไปถึงจุดหมายพบว่า มีผู้เสียชีวิตขณะเดินทาง 77 คน เสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 คน จากนั้นผลการชันสูตรศพระบุสาเหตุการตาย “ขาดอาหารและน้ำ ขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับที่หน้าอก ไตวายเฉียบพลัน” นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในคราวเดียว อันดับ 2 รองจากเหตุการณ์กรือเซะ ตลอดห้วงเวลา 19 ปีของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
@@ ขาดอากาศหายใจ
ฝ่ายรัฐมีการดำเนินคดีแกนนำผู้ชุมนุม เพราะเชื่อว่ามีการจัดตั้ง ยุยง ปลุกปั่น แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ควบคุม สั่งการ และปฏิบัติการจนมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก กลับไม่มีการดำเนินคดีตามกระบวนการให้ถึงชั้นศาล
กระทั่งวันที่ 6 พ.ย.49 อัยการถอนฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน ข้อหายั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ศาลนัดไกล่เกลี่ยและประนีประนอมยอมความ โดยกองทัพบกยอมจ่ายสินไหมทดแทน 42.2 ล้านบาท
และ วันที่ 29 พ.ค.52 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งไต่สวนการตาย คดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมว่า สาเหตุการตายเป็นเพราะ “ขาดอากาศหายใจ”
วันที่ 17 ส.ค.55 รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ได้จ่ายเยียวยาและค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ (เฉพาะเสียชีวิตรายละ 7 ล้านบาท) รวมเป็นเงินประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับผลกระทบร่างกายพิการ จำนวน 8 ราย
@@ แผลในใจที่ไม่เคยลบเลือน
ความทรงจำเกี่ยวกับ “เหตุการณ์ตากใบ” ยังคงเป็นปมเงื่อนสำคัญที่ยังไม่คลี่คลาย ระหว่างความไม่ไว้วางใจของรัฐและประชาชนในพื้นที่แห่งนี้
“เกือบ 2 ปีที่ทรมานที่สุด เริ่มพลบค่ำเริ่มรู้สึกกลัว พอเกือบหกโมงจะเรียกลูกๆ เข้าบ้าน ปิดประตู” แบเลาะ ย้อนเล่าถึงผลกระทบทางความรู้สึก
“นึกถึงในวันนั้นที่เพื่อนชวนไปซื้อชุดรายอให้ลูกเขา ไปกับรถกระบะพร้อมเพื่อนบ้านอีก 2-3 คน เจอทหารตรงสามแยกไปโก-ลก เขาบอกมีการปะทะที่หน้าโรงพัก ตอนนั้น 9 โมงเช้า อยากเข้าไปดูว่ามีอะไร ได้ยินเรื่อง ชรบ.ถูกจับตัวไปอยู่ในเรือนจำ เขาเรียกร้องให้ปล่อยตัว ก็รอดูว่าเขาจะปล่อยตัวไหม ผู้นำศาสนามาบอกให้กลับบ้าน จนเที่ยง คนเริ่มมาดูเยอะขึ้น ไม่รู้ใครชวนมาหรือปลุกระดมยังไง ไม่มีคำตอบ ถึงเวลาละหมาด ไปละหมาดริมน้ำ เขาบอกให้กลับ กลัวมีอะไรเกิดขึ้น เราก็ไม่กลับ”
สุดท้าย แบเลาะถูกมัดมือไพล่หลัง ให้เดินขึ้นรถยีเอ็มซี นอนทับซ้อนร่วมชะตากรรมกับเพื่อนอีกกว่าพันคน...ขณะที่หลายคนเสียชีวิต แต่พระเจ้ายังต่อชีวิตเขา เพราะรอดชีวิตมาได้ แต่ก็เต็มไปด้วยบาดแผลทางใจที่ไม่มีวันหาย
“ในการเยียวยากับเวลา 2 ปีที่ต้องไปขึ้นศาลเดือนละครั้งทุกเดือน อยู่ในเรือนจำนราธิวาสอีก 6 วัน ได้รับวัวมา 2 ตัว และเงินอีก 32,000 บาท ผมต้องขายทองไป 2 บาท งานก็ไม่ได้ทำ ไม่คุ้มกันเลย” เขาเล่าถึงการเยียวยาจากรัฐ
“ขอต่ออายุความไปอีกได้ไหม ให้รัฐหาคนทำผิด จับตัวจริงที่สั่งการให้เกิดเหตุร้ายในวันนั้นมารับโทษ นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ความหวังของชาวบ้านต้องการรู้ว่า คนสั่งการในวันนั้นคือใคร ไม่มีความยุติธรรมเรื่องกฏหมายสำหรับคนในพื้นที่แห่งนี้” แบเลาะบอกด้วยความหวังที่ต้องการรู้ความจริง
@@ สามีตาย ลูกถูกจับ
ก๊ะแย (นามสมมุติ) ผู้สูญเสียสามีอันเป็นที่รักไปจากเหตุการณ์เดียวกัน 19 ปีที่ผ่านมาทุกอย่างเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ความทรงจำในวันนั้นของเธอยังแจ่มชัดเมื่อนึกถึง
“วันนั้นก๊ะไปกับลูกชายประมาณ 9 โมงเช้า อาแบ (สามี) ไปร้านน้ำชา แล้วก็ไปเจอกันหน้าโรงพัก ก๊ะไปกับเพื่อนอีก 2 คนด้วย เห็นคนมากันเยอะมาก อยู่จนถึงตอนที่เขาไล่ให้เราไปอยู่ริมน้ำ เพื่อนบอกว่าเขาโดนยิงแล้วเลือดออกเต็มที่หัว แต่ไม่รู้ว่าตายไหม มีเสียงบอกให้ผู้หญิงขึ้นมาจากน้ำ ให้ผู้ชายถอดเสื้อ ลูกชายถูกนำขึ้นรถไปค่ายอิงคยุทธฯด้วย” ก๊ะแย เล่าถึงเรื่องราวที่เธอร่วมอยู่ด้วยในเหตุการณ์
เธอรอดจากการถูกจับ แต่ลูกของเธอโดนควบคุมตัว และถูกคุมขังในค่ายทหาร
“วันที่ 2 ถึงได้เข้าไปดูลูก ลูกบอกว่าไม่เห็นพ่อ เมื่อไปดูรายชื่อเห็นรูปถ่ายที่เขาวางบนศพคนเสียชีวิตในแฟ้มก็จำได้ว่า เป็นอาแบ มีเพื่อนบ้านในชุมชนเสียชีวิตอีกรวม 3 คน พามาฝังที่กุโบร์ (สุสาน) ที่บ้านด้วยกัน ตอนนั้นลูกชายได้ออกมาเพราะว่าจะไปเกณฑ์ทหาร สัสดีโทรไปหาที่ค่ายอิงคทยุทธฯ ถึงได้ออกมาเพื่อไปเป็นทหาร”
การสูญเสียสามี เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิตของก๊ะแย
“ในเรื่องของการไต่สวนการตาย ไม่สบายใจ เครียดมากในตอนนั้น เพราะขาดสามีซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวไป เครียดมากๆ มีนกเขาที่เขาเลี้ยงไว้ก็บอกนกเขาว่า หลังจากนี้ต่างคนต่างคืนชีวิตกัน ปล่อยนกออกจากกรงทุกตัว มีนกกวักตัวหนึ่งที่ไม่ยอมไป แต่ตอนนี้ก็ได้ตายไปแล้ว”
จากที่เคยเป็นแม่บ้าน แม่เรือน ต้องเทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านกับศาล
“ช่วงนั้นไปศาลเดือนละครั้ง ฝากลูกกับแม่ไว้ เมื่อได้รับเงินเยียวยามาก็มาแบ่งกับลูก พ่อแม่สามี ลูกได้ซื้อสวนไว้บ้าง ส่วนค่าใช้จ่ายในบ้านเราเป็นคนออก ในความเป็นจริงถ้าให้เงินเป็นรายเดือนก็จะดีกว่า จะได้มีทุกเดือน ตอนนี้ลูกชายตกต้นไม้ ป่วยติดเตียงมา 2 ปีแล้ว เมื่อเห็นกรงนกก็จะคิดถึงอาแบและเหตุการณ์วันนั้นทุกครั้ง มันอยู่ในใจ มันไม่เคยหายไปไหน แม้ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม”
@@ ความกลัวยังฝังใจ
หลากความรู้สึกของผู้ที่มาร่วมพูดคุยเรื่องนี้ ณ หาดปันตัยบลาแว ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ ณ วันครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์ตากใบ
“คนที่หนีไปอยู่ที่อื่น กลับมาแล้วจะโดนคดีอีกหรือไม่”
“ไม่อยากให้ปิดคดี ให้ต่ออายุความ เอาคนที่ทำผิดมารับผิดชอบเรื่องนี้ให้ได้”
“1 ปีที่เหลือ ชาวบ้านจะทำอะไรได้บ้างให้เกิดความยุติธรรม”
“ก่อนหน้านี้ ไม่กล้าพูดเรื่องนี้เลย กลัว รู้สึกผิด ช่วง 2-3 ปีหลังถึงกล้าพูด ไม่รู้ว่าคดีนี้มีอายุความ 20 ปี”
“รำคาญเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาที่บ้านเป็นประจำ ทำมาหากินลำบาก อยู่ในพื้นที่รู้สึกอันตรายต่อชีวิต หลายคนจึงเลือกที่จะหนีไปอยู่ที่อื่น”
@@ สดับเสียงเงียบ
โศกนาฏกรรมตากใบ คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่ได้รับการบันทึกด้วยนิทรรศการที่ชื่อ “สดับเสียงเงียบ : จดจำตากใบ 2547 Heard the Unheard : Tak Bai 2004”
เนื้อหาของนิทรรศการมาจากการทำงานภาคสนามกับผู้เสียชีวิต สูญหาย และบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ
ประสบการณ์และความทรงจำของผู้คนเหล่านี้สะท้อนความเงียบ ความคับข้องใจ ความกลัว และไร้สุ้มเสียงของผู้ได้รับผลกระทบ ตลอดจนความอยุติธรรม ความรุนแรง และความสามารถในการลอยนวลพ้นผิดของรัฐ
สดับเสียงเงียบ: จดจำตากใบ 2547 เป็นนิทรรศการชุดแรกของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อความเงียบได้เปล่งเสียง เพื่อถ้อยคำได้สื่อสารและวัตถุพยานได้บอกเล่าเรื่องราวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เพื่อไม่ให้อาชญากรรมของรัฐเกิดขึ้นซ้ำ
จัดแสดง ณ เดอลาแป อาร์ท สเปซ นราธิวาส ระหว่างวันที่ 20 ต.ค.- 10 พ.ย.66
@@ ตำรวจต้องตอบ “ขาดอากาศหายใจ”
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอดีตเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงเหตุการณ์จลาจลหน้า สภ.ตากใบ ว่า เป็นความสูญเสียครั้งสำคัญ แม้จะมีการเยียวยาไปแล้ว อย่างเช่น ผู้เสียชีวิตรายละ 7.5 ล้านบาท หรือผู้บาดเจ็บก็มีการจ่ายเยียวยา และมีการเยียวยาทางจิตวิญญาณ เช่น ไปทำฮัจย์
แต่เรื่องคดี เรามีอายุความ และอายุความกำลังจะหมดลงในปีหน้า...
“ต้องเรียนว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นคดีพิเศษ หรืออยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม แต่อยู่ในความดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คดีจะขาดอายุความปีหน้ าคือปี 2567 ประชาชนยังอยากจะรู้ว่าใครกระทำผิด สิ่งนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องมาตอบประชาชนให้ได้ว่า การชันสูตรพลิกศพ บอกว่าขาดอากาศหายใจ แล้วเหตุที่ทำให้ขาดอากาศหายใจเป็นอย่างไร ซึ่งคงต้องไปคุยกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่รับผิดชอบเรื่องนี้”