“กมธ.สันติภาพใต้” แนะรัฐลดบาดแผล 19 ปีตากใบ ต้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดทุกระดับก่อนขาดอายุความปีหน้า พร้อมยกเลิกกฎหมายพิเศษ สร้างจุดเริ่มต้นสู่บรรยากาศการพูดคุย ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จี้ต่อนายกฯ เผยผลสอบสวนข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ ให้กองทัพขอโทษผู้สูญเสียอย่างเป็นทางการ
วันพุธที่ 25 ต.ค.66 คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “กมธ.สันติภาพใต้” ได้มีการประชุมนัดที่ 2 ที่อาคารรัฐสภา และออกแถลงการณ์ในวาระครบรอบ 19 ปีเหตุการณ์ตากใบ มีเนื้อความว่า
“เนื่องในวาระครบรอบ 19 ปีของการสลายการชุมนุมใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์บาดแผลที่สำคัญของคนในพื้นที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอยืนยันถึงความจำเป็นในการสร้างความตระหนักถึงปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ และความจำเป็นในการสร้างสันติภาพอันเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย
โดยเฉพาะการมีกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนสามารถนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง สร้างสังคมที่ประชาชนอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม โดยทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอหน้าภายใต้กฎหมายอย่างแท้จริง
เพื่อให้สันติภาพเกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่ กระบวนการที่จำเป็นอย่างยิ่งประการแรกคือการลดเลือนประวัติศาสตร์บาดแผล ลดความรู้สึกว่าประชาชนถูกกระทำโดยอยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อลดทอนความรู้สึกหวาดระแวงแคลงใจต่อกันระหว่างรัฐกับประชาชน
ในกรณีของตากใบ ทางการไทยควรดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น ก่อนที่อายุความ 20 ปีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ต.ค.67 รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ ความเข้าใจในวงกว้างต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ ซึ่งมีการกระทำการที่ละเมิดต่อหลักการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามมาตรฐานสากล จนนำไปสู่การจับกุมผู้ชุมนุมกว่า 1,370 คน สูญหายอีก 7 คน และการขนย้ายผู้ชุมนุมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตะหว่างการเดินทางถึง 85 ราย โดยที่จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ แม้จะมีการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งจากรัฐบาลแล้วว่า เจ้าหน้าที่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุจนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
ประการต่อมาการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนต่างเชื้อชาติ ศาสนา ให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่รัฐเกินสมควร และลิดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง โดยรัฐบาลควรให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายความมั่นคงที่บังคับใช้อยู่ รวมทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
คณะกรรมาธิการฯ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสันติภาพสามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ชายแดนใต้ หากรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจและมีเจตจำนงแน่วแน่ในการจัดการปัญหาที่ต้นตอ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค เป็นธรรม เคารพในศักดิ์ศรีและสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะเป็นการถอนฟืนออกจากไฟ ลดความรู้สึกเชิงลบที่ประชาชนในพื้นที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบรรยากาศของการพูดคุยหาทางออกร่วมกัน อันจะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนและความเจริญก้าวหน้ารวมกันของประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนาในพื้นที่ชายแดนใต้”
@@ มูลนิธิผสานฯ ชง 5 ข้อเรียกร้อง “วาระตากใบ”
ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้โพสต์ข้อความเรียกร้องต่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในกรณีเหตุการณ์ตากใบก่อนหมดอายุความว่า แม้เวลาจะวนผ่านมาเป็นเวลาถึง 19 ปี แต่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด ทั้งในระดับผู้บังคับบัญชาที่สั่งการ และระดับปฏิบัติการ ไม่ถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษแม้แต่คนเดียว
ซึ่งในปีนี้คดีเกิดขึ้นมาแล้ว 19 ปี และคดีความนี้ก็จะหมดอายุในอีก 1 ปีข้างหน้า (ครบ 20 ปี) โดยที่คนผิดทั้งหลายก็จะยังลอยนวลอยู่
เหตุการณ์ตากใบจึงเสมือนเป็นบาดแผลลึกในใจของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ตลอดมา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ จ.นราธิวาส และจังหวัดชายแดนใต้ยังอยู่ในความแตกแยกและรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนจำนวนหนึ่งในพื้นที่
ในโอกาสครบรอบปีที่ 19 ของเหตุการณ์ตากใบ และในโอกาสที่ประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. รัฐบาลปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนต้องมีพันธกิจในการสร้างบรรยากาศของการนำไปสู่สันติภาพ ดังนี้
1.1 ใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร
1.2 หยุดการใช้กำลังทางทหารเพื่อปราบปราบผู้ที่มีความเห็นต่าง ลดบทบาท กอ.รมน. เสริมบทบาทของ ศอ.บต. โดยให้ ศอ.บต.พ้นจากการควบคุมของกองทัพ
1.3 ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
1.4 นิรโทษกรรมผู้ต้องหาหรือนักโทษทางความคิดและทางการเมือง เปิดพื้นที่ของการแสดงออกของประชาชน และเปิดพื้นที่การเจรจาสันติภาพทุกระดับ โดยการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น
2. เปิดเผยข้อเท็จจริงกรณีตากใบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการตรวจสอบภายในของกองทัพและของรัฐบาลในขณะนั้น เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 19 ปีก่อน ซึ่งหากไม่มีการตรวจสอบเหตุการณ์อย่างแท้จริง รัฐบาลควรตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบเหตุการณ์ตากใบอย่างจริงจัง เพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดให้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ให้ประชาชนเข้าถึงความจริง รวมทั้งทบทวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเหตุการณ์ตากใบให้สอดคล้องกับหลักการสากล และนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
3. ให้กองทัพออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการและบริสุทธิ์ใจต่อผู้สูญเสีย เพราะแม้ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีในนามฝ่ายบริหาร ได้เคยออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหยื่อผู้เสียหายแล้ว แต่ทางฝั่งกองทัพนั้นยังไม่ออกมาแสดงความเสียใจหรือให้ความสนใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงต้องการเรียกร้องให้กองทัพออกมาขอโทษอย่างจริงใจต่อผู้เสียหายและผู้สูญเสีย
4. ให้ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด ทั้งในระดับผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบสั่งการในการปฏิบัติการสลายการชุมนุมและการขนย้ายผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมในลักษณะเดียวกันอีก
5. ทบทวนมาตรการและวิธีการในการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม งดเว้นการใช้กำลังทหารต่อผู้ชุมนุมซึ่งเป็นประชาชน โดยในกรณีจำเป็นให้ใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนเท่านั้น ทั้งนี้กำลังทหารควรมีไว้ใช้ในการป้องกันประเทศจากการรุกรานของศัตรูภายนอก
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม หวังว่ารัฐบาลจะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวเพื่อสร้างสันติภาพ ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป