เหตุการณ์โจมตีโรงพยาบาลในฉนวนกาซา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คน ทั้งคนป่วย เด็ก ผู้ชาย ผู้หญิง และคนชราไปมากกว่า 500 คนนั้น ไม่ว่าจะเป็นความจงใจหรือไม่ แต่โศกนาฏกรรมนี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามไปอย่างสิ้นเชิง
การเจรจาหยุดยิงเป็นไปได้ยากขึ้น ส่วนสันติภาพยิ่งมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
แต่ประเด็นที่น่าพิจารณามากไปกว่านั้นคือ “กฎของสงคราม” หรือ “กฎการปะทะ” ได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง แถมเป็นการถูกทำลายในนามของมนุษยธรรมด้วย
รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องก่อการร้าย และการปฏิบัติการแบบ Lone Wolf ให้ข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจ
- ปัจจุบันคู่สงครามพยายามที่จะสร้างกับดักให้ต่างฝ่ายต่างปฎิบัติการโจมตีพลเรือน เพื่อใช้เป็นประเด็นในการลดความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมในการต่อสู้ของอีกฝ่าย
เพราะปัจจุบันใครช่วงชิงข่าวสารได้ คือการช่วงชิงอำนาจในการกำหนดเกมสงคราม โดยเฉพาะการบอกเล่าเรื่องราวว่าใครเป็นปีศาจ และจะต้องถูกกำจัด (หาความชอบธรรมในการทำลายอีกฝ่าย)
- ผลที่แท้จริงก็คือ มนุษย์กลายเป็น “โล่มนุษย์” และเป็นเป้าหมายในการโจมตีเพื่อป้ายสี ไม่ใช่เป้าหมายที่ต้องหลีกเลี่ยงการโจมตีตามกฎสงคราม หรือกฎการปะทะ
- การเอาชนะกันลักษณะนี้ สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของตัวประกัน แม้จะมีข้อมูลว่าตัวประกันทั้งหมดถูกขังในอุโมงค์ใต้ดิน แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน ฉะนั้นตัวประกันอาจเป็นเป้าหมายของการโจมตีไปด้วย
อาจารย์ฐิติวุฒิ บอกว่า ข้อเสนอที่นานาชาติต้องทำ คือ
1.เรียกร้องกดดันให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะคู่สงคราม ยึดมั่นในหลักการ “พลเรือนต้องไม่กลายเป็นเป้าหมายในการโจมตี” ไม่ว่าจะโจมตีตรงๆ ผิดพลาดทางยุทธวิธี หรือเป็นเกมสงครามเพื่อป้ายสีอีกฝั่ง
2.ต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือนทันที และทุกฝ่ายต้องยอมรับร่วมกันในเรื่องนี้
3.ฝ่ายที่จับกุมตัวประกันไว้ จะต้องแสดงหลักฐานให้ชัดเจนว่าตัวประกันมีความปลอดภัย
แน่นอนว่าการช่วงชิงการประณามและป้ายสีอีกฝ่ายว่าเป็นผู้กระทำ จะเกิดขึ้นอย่างคึกคัก และบทบาทขององค์กรชาติมุสลิม ไม่ว่าจะเป็น อาหรับ ลีกส์ หรือ โอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) จะปรากฏมากขึ้นอย่างแน่นอน
แต่ อาจารย์ฐิติวุฒิ มองว่า หากองค์กรชาติมุสลิม หรือรัฐอาหรับแสดงตัวออกมา ก็ควรอยู่ในฐานะเป็น “คนกลาง” ในการเจรจาหรือไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ไม่ใช่ออกมาเพื่อประณามฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียว
ขณะเดียวกันก็ต้องเน้นย้ำความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อประชาชน แต่แนวทางนี้ก็มีข้อจำกัด เพราะปัจจุบันทั้งในโลกอาหรับและโลกมุสลิมเองมีความแตกต่างทางด้านบทบาทและความสัมพันธ์กับอิสราเอลอย่างมาก จนขาดเอกภาพ
“แต่สิ่งหนึ่งที่นานาชาติและองค์กรมุสลิมทำได้ทันที คือการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดกฎการปะทะ แม้คู่สงครามที่ไม่ใช่รัฐจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการควบคุมบังคับบัญชา แต่เครือข่ายของรัฐที่มีความใกล้ชิดกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐเหล่านั้น จะต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าไม่หนุนเสริมการโจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือน” อาจารย์ฐิติวุฒิ กล่าว