เป็นไปตามคาด คณะรัฐมนตรีเห็นชอบขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอีก 3 เดือน แบบ “เต็มแม็กซ์”
โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
การต่ออายุ-ขยายเวลาหนนี้ นับเป็นรอบที่ 74 มีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม 3 อำเภอ คือ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา, อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี และอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โดยให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ หรือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ทดแทน
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งหมด 33 อำเภอ แบ่งเป็น ปัตตานี 12 อำเภอ นราธิวาส 13 อำเภอ ยะลา 8 อำเภอ ก่อนการต่ออายุขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รอบที่ 74 ได้มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว 11 อำเภอ ครั้งนี้ยกเลิกเพิ่มอีก 3 อำเภอ รวมเป็น 14 อำเภอ เหลือประกาศใช้อยู่ 19 อำเภอ
แต่ปรากฏว่า ฝ่ายความมั่นคงเสนออำเภอที่เคยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้ว ให้กลับมาประกาศใหม่ 1 อำเภอ คือ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเคยยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ปัจจุบันยังมีอำเภอที่ใช้ พ.ร.ก.อยู่ 20 อำเภอ ยกเลิกจริง 13 อำเภอ
@@ เสนอเลิก 6 ได้จริงแค่ 2
ข่าวจากพรรคร่วมรัฐบาล กูเฮง ยาวอหะซัน อดีต สส.นราธิวาส และเลขานุการ รมว.ยุติธรรม เผยว่า มีความพยายามเสนอลดพื้นที่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลง 6 อำเภอในการต่ออายุรอบนี้ แต่ฝ่ายความมั่นคงเห็นด้วยแค่ 3 อำเภอ แถมยังนำอำเภอที่ยกเลิกไปแล้ว กลับมาประกาศใหม่อีก 1 อำเภอ ทำให้ลดพื้นที่ พ.ร.ก.จริงๆ แค่ 2 อำเภอเท่านั้น
“แม้จะเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกันต่อไป เพราะยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ในพื้นที่” กูเฮง บอก และว่า จะใช้กลไกของกระทรวงยุติธรรมเป็นเวทีกลางสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนแต่ละกลุ่มต่อไป
@@ “ทวี” แย้ม สมช.ขอ 1 ปีเลิก พ.ร.ก.
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวระหว่างลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้กล่าวถึงการต่ออายุ-ขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอีก 3 เดือนว่า ราชการบางหน่วยอยากให้ต่อ 3 เดือน เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นเยอะ แต่หน่วยงานความมั่นคงทุกหน่วยมีแผนจะยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้หมดโดยเร็ว
เช่น สมช.เสนอว่าน่าจะสักปี หรือปีกว่าๆ อย่างไรก็ตาม เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีมุมมองที่แตกต่าง พี่น้องไทยพุทธก็เห็นว่ายังไม่ควรเลิก เพราะเกรงว่าจะไม่มีอะไรมาป้องกัน เราคงจะต้องมีวิธีการที่มาคุ้มครองให้ความมั่นคง มั่นใจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต่างๆ ที่มีความหวาดระแวง แต่ถ้าไปถามประชาชนโดยรวมๆ ก็จะมีอีกมุมมองหนึ่ง ขณะที่หน่วยความมั่นคงก็บอกว่าพร้อมจะเลิกให้เร็ว แต่ว่าอาจจะต้องมีการบัญญัติกฎหมายบางมาตราที่สามารถให้ข้าราชการทำงานได้
@@ กฎหมายพิเศษไม่รุนแรงเหมือนเก่า
“ส่วนตัวเห็นว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือกฎอัยการศึก ไม่รุนแรงเหมือนอดีต เพราะมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 การเอาตัวคนไปต้องมีการบันทึกภาพวีดีโอ บันทึกเสียง ไม่เว้นแม้แต่การจับโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจจะต้องถูกดำเนินคดีด้วยซ้ำถ้ามีการตรวจสอบภาพโดยอัยการ ฝ่ายปกครอง”
“ฉะนั้นอยากให้ประชาชนสบายใจว่ามีหลักประกัน สิ่งหนึ่งก็คือการที่เอาตัวไป 30 วันหรือ 7 วัน ตรงนี้ก็อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ควรระมัดระวังมากขึ้น แต่ทิศทางก็ทราบว่าจะพยายามให้น้อยลง”
@@ ผวาขยายพื้นที่ประกาศซ้ำ “ฉุกเฉินรอบใหม่”
ไฮไลต์สำคัญของการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หนนี้ คือการกลับมาประกาศใหม่ของพื้นที่ที่เคยยกเลิก พ.ร.ก.ไปแล้ว ประเดิมอำเภอแรก คือ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
เหตุผลของฝ่ายความมั่นคงอ้างว่า เป็นเพราะมีสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบเพิ่มขึ้น แต่จากการตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” ซึ่งย้อนสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนว่าจำนวนเหตุรุนแรง หรือรูปแบบการก่อเหตุ มีนัยสำคัญอย่างไรต่อการหวนกลับมาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอีกครั้ง (อ่านประกอบ : ย้อนเหตุรุนแรง “ศรีสาคร” บทพิสูจน์ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หวนคืน?)
หลายฝ่ายกังวลว่าหากเหตุผลของฝ่ายความมั่นคงไม่ชัดเจน และไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่มากพอ ในระยะต่อไปอาจมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รอบใหม่ในส่วนของอำเภอที่เคยยกเลิกไปแล้ว โดยอ้างเหตุผลคล้ายๆ กับที่ศรีสาคร ซึ่งจะทำให้พื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ลดลงจริง และอาจยกเลิกไม่ได้ทั้งหมดทุกพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2570
@@ รู้จักอำเภอศรีสาคร ถิ่นซาไก อดีตกิ่งฯตะมะหงัน
สำหรับอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ยกระดับจาก “กิ่งอำเภอ” ขึ้นเป็น “อำเภอ” เมื่อปี พ.ศ.2522 แต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอรือเสาะ และอำเภอระแงะ ก่อนจะยกฐานะเป็น “กิ่งอำเภอตะมะหงัน” แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “กิ่งอำเภอรือเสาะ” และแยกตัวมาตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี 2522 ดังกล่าว โดยคนท้องถิ่นเดิมเป็นชาวซาไก
ปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองเป็น 6 ตำบล คือ ตำบลซากอ ตำบลตะมะยูง ตำบลศรีสาคร ตำบลเชิงคีรี ตำบลกาหลง และ ตำบลศรีบรรพต มีหมู่บ้านทั้งหมด 35 หมู่บ้าน อบต. 6 แห่ง เทศบาล 1 แห่ง
อำเภอศรีสาคร มีพื้นที่รวมประมาณ 500 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนราธิวาส 67 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอรือเสาะ อำเภอจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงและเทือกเขาสลับซับซ้อน มีเทือกเขาที่สำคัญหลายแห่ง ได้แก่ เทือกเขาสกูปา เทือกเขากูนุงจอนอง เทือกเขาไอร์กาวะ เทือกเขาจูโจ๊ะ เทือกเขาละโอ และเทือกเขาไอร์ตุย
@@ กำนันบอกชาวบ้านไม่สนใจ พ.ร.ก.
“ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่อำเภอศรีสาคร สอบถามความรู้สึกจากพี่น้องประชาชนและผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ หลังจากอำเภอบ้านตนถูกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงครั้งใหม่ หลังจากห่างหายไปนานกว่า 4 ปี
กำนันรายหนึ่งในพื้นที่ (ขอสงวนนาม) บอกว่า “ชาวบ้านไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก ถ้าถามถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะเขาไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าหน้าตาของ พ.ร.ก.คืออะไร แต่สิ่งที่ชาวบ้านสนใจ คือ ทุกๆ วันเขาสามารถไปกรีดยางได้หรือเปล่า เขาไปตลาดได้หรือเปล่า ยางราคาสูงหรือลดลง เขาจะมีเงินให้ลูกๆ ไปโรงเรียนไหม คนที่สนใจ พ.ร.ก.คือคนบางกลุ่มที่ประสบปัญหากับตัวเองเท่านั้น เช่น ถูกจับ”
“การต่อ พ.ร.ก.ในมุมชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่จะได้ประโยชน์กับเจ้าหน้าที่มากกว่าและมากที่สุด เพราะ พ.ร.ก.ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมหรือสงสัยใครก็ได้ จะตั้งด่านตอนไหน ค้นบ้านตอนไหนก็ได้ ชาวบ้านบางกลุ่มเสียประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะจะตกเป็นผู้ต้องสงสัย ที่ผ่านมาก็โดนกันหลายคน ทั้งที่ไม่ใช่คนร้าย”
กำนันรายนี้บอกว่า ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่มาสอบถามบ้างเหมือนกันว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดีหรือไม่ดี ตนก็ตอบไปตรงๆ แบบนี้ เพราะมันคือความจริง
@@ ไม่รู้ด้วยซ้ำเคยเลิก พ.ร.ก. เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยน!
นายอับดุลรอแม (ขอสงวนนามสกุล) ชาวศรีสาคร อายุ 43 ปี บอกว่า “การใช้ชีวิตของพวกเราถูกปล้นมานานมาก หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก. เพราะมีกำลังทหารนอนหลังบ้านบ้าง นอนในสวนยางเวลาจะไปกรีดยางบ้าง ช่วงหลังก็หายไปบ้าง แต่ก็ยังเดินเจอทุกพื้นที่ จนทุกวันนี้รู้สึกว่าการใช้ชีวิตแบบนี้มันปกติไปแล้ว บางคนก็บอกว่าดี บางคนก็บอกว่าไม่ดี”
“ส่วนตัวมองว่าไม่ถึงขนาดไม่ดี เพราะเราไม่ใช่โจร เราไม่ใช่คนร้าย แต่บางคนที่เห็นไม่ใช่คนร้าย ทหารก็สงสัยว่าเขาเป็นคนร้าย ทำให้หลายคนไม่ชอบ มันกระทบกับการใช้ชีวิต ถ้าทหาร ตำรวจคิดให้มาก หาหลักฐานให้เยอะๆ ในการที่จะจับใคร การที่จะสงสัยใคร คิดว่าไม่น่าเป็นปัญหา”
“ผมก็เคยถูกจับนะ สุดท้ายไม่มีอะไรเขาก็ปล่อย โดนตรวจค้นระหว่างทาง มีการตั้งด่านตรวจ จนรู้สึกขัดใจบางครั้ง แต่หลายครั้งเกิดเหตุระเบิด เกิดเหตุยิง ก็รู้สึกเข้าใจ ถามว่าอยากให้เลิกไหม ก็อยากให้เลิกทั้งหมด ทั้งสามจังหวัด ไม่อยากให้เลิกเป็นบางพื้นที่ ขนาดสื่อบอกว่าที่นี่เคยประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ชาวบ้านยังไม่ค่อยรู้เลย ผมเองก็แทบจะไม่รู้ว่า พ.ร.ก.เลิกไปแล้ว เพราะมันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”
นางตีเมาะ สาและ อายุ 67 ปี ชาวศรีสาคร บอกว่า “จะประกาศใช้ พ.ร.ก.หรือยกเลิกก็รู้สึกเฉยๆ เพราะเราอยู่แบบนี้เป็นปกติมานานหลายสิบปี วันหนึ่งได้ข่าวว่าทหารมาจับลูกของคนนั้น บางวันได้ข่าวว่าทหารปล่อยกลับมา หรือไม่บางทีก็มีทหารมาที่บ้าน ภาพแบบนี้เห็นเป็นปกติ จะไปไหนมาไหนเห็นทหารอาศัยอยู่ในพื้นที่กับพวกเรามาตลอด จะ 20 ปีแล้ว มันก็ชิน”
“ไม่เคยรู้เลยว่าบ้านเราเคยมีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ด้วย ถ้ามีการประกาศใหม่ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนที่นี่ ชาวบ้านจะไปค้านอะไรได้ ถ้าเป็นไปได้อยากใช้ชีวิตที่มีความสุขแบบก่อนปี 47 บรรยากาศในพื้นที่เราจะเห็นอีกแบบ คงเป็นไปได้ยาก แต่ก็ช่างเถอะ พูดไปเผื่อว่าจะมีคนได้ยิน”
@@ ไทยพุทธอุ่นใจหวนใช้ พ.ร.ก.
นางจันทร์ (ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล) ชาวบ้านไทยพุทธในศรีสาคร กล่าวว่า “ก็รู้สึกดีใจที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับมาใหม่ ถามว่าที่ยกเลิกไปบรรยากาศในพื้นที่เป็นอย่างไร ความเป็นอยู่ของชาวบ้านรู้สึกปลอดภัยไหม ขอบอกว่าความรู้สึกก็ไม่ต่างกัน แต่การที่มี พ.ร.ก.จะรู้สึกดีขึ้นมาเล็กน้อย คิดว่าสำหรับบางคนอาจไม่ชอบ เพราะมีการตั้งด่าน มีกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากในพื้นที่ แต่สำหรับเรารู้สึกอุ่นใจ”