พบคนร้ายใช้ “บอลบอมบ์” ปาใส่ฐาน ชคต.บันนังสาเรง อ.เมืองยะลา เป็นระเบิดขว้างแสวงเครื่องทรงกลมพัฒนามาจากไปป์บอมบ์ รูปทรงใกล้เคียงระเบิดมาตรฐาน ทั้งยังใช้ PETN สารระเบิดอานุภาพสูงเป็นดินระเบิดหลัก
จากเหตุการณ์กลุ่มคนร้ายโจมตีโดยใช้อาวุธสงครามยิงใส่ และขว้างระเบิดถล่มฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) บันนังสาเรง อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อช่วงค่ำของวันพุธที่ 11 ต.ค.66 ที่ผ่านมา โดยทางเจ้าหน้าที่ อส.และกองกำลังภาคประชาชนในฐาน ได้ปักหลักยิงตอบโต้จนกลุ่มคนร้ายล่าถอยไป ส่งผลให้กำลังพลปลอดภัยทุกนาย ไม่มีใครได้รับอันตราย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดตรวจที่เกิดเหตุได้เข้าตรวจสอบอย่างละเอียด พบหลุมระเบิดบริเวณบังเกอร์ด้านนอกฐาน 3 จุด และมีระเบิดตกอยู่ภายในฐาน 1 ลูก เป็นระเบิดด้าน ยังไม่ระเบิด เจ้าหน้าที่ชุดทำลายวัตถุระเบิดอโณทัย จึงเข้าทำการเก็บกู้เอาไว้ได้อย่างปลอดภัยนั้น
ในเวลาต่อมามีการนำระเบิดแสวงเครื่องที่เก็บกู้ได้ ไปตรวจสอบอย่างละเอียด พบเป็นระเบิดแบบขว้างทรงกลม หรือ “บอลบอมบ์” โดยบรรจุดินระเบิดและอุปกรณ์จุดระเบิดในภาชนะโลหะกลม จุดชนวนด้วยระบบ IC Timer หน่วงเวลา ใช้ดินระเบิดหลัก PETN และใช้ลูกเหล็กทรงกลม หรือ บอลแบริ่ง ขนาด 6 มิลลิเมตร เป็นส่วนสังหาร (สะเก็ดระเบิด)
มีการจ่ายพลังงานด้วยแบตเตอร์รี่ลิเธี่ยม ขนาด 3.7 โวลต์ และยังพบกระเดื่องนิรภัยสีฟ้า, เรือนชนวนสีดำ, เชื้อประทุไฟฟ้าแสวงเครื่อง และฝาจุกเกลียวพลาสติก
@@ รู้จัก “บอลบอมบ์” พัฒนาต่อยอด “ไปป์บอมบ์”
สำหรับระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้างทรงกลม หรือ “บอลบอมบ์” (เรียกตามรูปทรงเหมือนไปป์บอมบ์) เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์ที่เป็นระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้างทรงกระบอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขว้างให้ดีขึ้น พกพาง่ายกว่าไปป์บอมบ์ มีขนาดที่เล็กลง ใกล้เคียงระเบิดขว้างแบบมาตรฐานที่จับถนัดมือ
โดยระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้างทรงกลมนี้ พบมีการนำมาใช้ก่อเหตุครั้งแรก ในเหตุการณ์ขว้างระเบิดใส่ฐานหมวดเฉพาะกิจตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ในพื้นที่บ้านลางา หมู่ 5 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 28 ก.ย.65 ซึ่งในครั้งนั้นระเบิดทำงานไม่สมบูรณ์และไม่เกิดระเบิด เช่นเดียวกับครั้งต่อๆ มาอีกหลายครั้ง และครั้งล่าสุดนี้ที่พบระเบิดบางลูกไม่ทำงานเช่นกัน
@@ ตามรอย PETN ดินระเบิดแรงสูง
ส่วนดินระเบิดหลัก PETN ที่พบใช้ใน “บอลบอมบ์” นั้น จากข้อมูลพบว่า สารระเบิด PETN หรือ Pentaerythritol Tetranitrate เป็นวัตถุระเบิดทางทหารที่จัดอยู่ในกลุ่ม "ดินระเบิดแรงสูง" คือ มีอำนาจในการทำลายล้างรุนแรงมาก ทำให้สิ่งที่อยู่ในรัศมีขณะเกิดระเบิดฉีกขาดและแหลกเป็นชิ้นเล็กๆ ได้ ความแรงพอๆ กับ อาร์ดีเอ็กซ์ (RDX) และยังมีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ สามารถใช้ใต้น้ำได้ โดยมากจะถูกใช้เป็นดินขยายการระเบิด ไม่ค่อยถูกใช้เป็นดินระเบิดหลัก ส่วนใหญ่พบถูกนำไปบรรจุใน "ชนวนฝักแคระเบิด" หรือ "เชื้อปะทุไฟฟ้า" ซึ่งใช้ในการจุดระเบิด
จากข้อมูลสถิติหน่วยงานด้านความมั่นคง พบว่า มีการใช้ PETN ในการประกอบระเบิดครั้งแรกในปี 2554 แล้วก็หายไป จนในช่วงปี 61 เริ่มถูกนำมาใช้ในการทำไปป์บอมบ์ โดยเมื่อกลางเดือน ธ.ค.62 เจ้าหน้าที่ได้บุกค้นแหล่งพักพิงของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ป่าเขา บ้านตะโล๊ะสโตร์ ต.สะเอะ อ.กรงปืนัง จ.ยะลา ตรวจยึดอาวุธปืนและอุปกรณ์ประกอบระเบิดหลายรายการ และมีดินระเบิดแรงสูง PETN จำนวน 4 กิโลกรัมด้วย โดยเป็นดินระเบิดที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงนำมาใช้ประกอบระเบิดขว้างแบบไปป์บอมบ์
เหตุที่ดินระเบิดแรงสูง PETN ถูกนำมาใช้ในระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้าง ทั้ง “ไปป์บอมบ์” และ “บอลบอมบ์” นั้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากคุณสมบัติที่เป็นดินระเบิดแรงสูง มีอานุภาพแรงระเบิดสูงกว่าดินระเบิดแบบอื่นเมื่อเทียบในปริมาณเดียวกัน
เมื่อเป็นระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้างทรงกลมที่มีขนาดเล็กลง ปริมาตรความจุน้อยลงกว่าไปป์บอมบ์ การใช้ PETN เป็นดินระเบิดหลักจึงลงตัวที่สุด อีกทั้งคุณสมบัติเรื่องการไม่ละลายน้ำ และใช้ใต้น้ำได้ จึงเหมาะกับระเบิดที่ประกอบเสร็จแล้วเก็บไว้ใช้เมื่อใดก็ได้ ไม่ต้องห่วงปัญหาเรื่องความชื้นที่ทำให้ดินระเบิดเสื่อมสภาพ หรือระเบิดทำงานไม่สมบูรณ์เมื่อนำมาใช้งาน