4 พรรคถกกลางสภา เสนอตั้ง กมธ.วิสามัญส่งเสริมสันติภาพชายแดนใต้ "รอมฎอน - ก้าวไกล" ชี้ต้องร่วมกระตุ้นเตือนรัฐ เดินหน้าโต๊ะพูดคุยกลุ่มเห็นต่างฯ ด้าน สส.ประชาชาติ-ภูมิใจไทย-เพื่อไทย เสนอญัตติประกบ เห็นพ้องหนุนดับไฟความรุนแรง เน้นช่องทางเจรจา ลดปราบปราม-กฎหมายพิเศษ
วันที่ 11 ต.ค.66 ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมได้มีการพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี ที่นายรอมฎอน ปันจอร์ เป็นผู้เสนอ
โดยประธานสภาฯ กำหนดให้รวมพิจารณากับญัตติทำนองเดียวกันอีกสองฉบับ คือ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและเสนอแนวทางกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.พรรคประชาชาติ เป็นผู้เสนอ และเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษากระบวนการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นายซาการียา สะอิ สส.พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ รวมถึงญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและติดตามการเจรจาสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ที่นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ
นายรอมฎอน ได้อภิปรายเสนอญัตติว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีหลายพรรคการเมืองเสนอญัตติดังกล่าวเข้ามาร่วมกัน แต่ในสมัยประชุมที่แล้วก็มีหลายพรรคการเมืองเสนอญัตตินี้มาถึง 6 ญัตติ แต่ก็ไม่ได้มีการพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญนี้แต่อย่างใด โดยข้อเสนอดังกล่าวมีมาเนิ่นนานตั้งแต่นอกรัฐสภา ซึ่งประชาชนเห็นว่า เรื่องสันติภาพถูกผูกอยู่กับระบบราชการ จึงเห็นว่า รัฐสภาควรมีบทบาท
ทั้งนี้สาระของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องใหญ่เกินระดับหน่วยงานและฝ่ายบริหาร เพราะมีความเกี่ยวข้องกับอธิปไตยและมีเชื่อมโยงกันหลายประเด็น ปัญหาดังกล่าวปรากฏชัดขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 บทบาทในการแก้ไขปัญหาก็มีความเหลื่อมซ้อนกันในหลายคณะกรรมาธิการ จึงควรตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาสำหรับประเด็นนี้โดยเฉพาะ
ที่ผ่านมาการพูดคุยสันติภาพ จะดำเนินไปกับมาตรการอื่นๆ ของภาครัฐ แต่ยังมีการจัดวางความสำคัญที่ไม่ชัดเจน รัฐสภาจึงต้องช่วยเน้นให้เห็นความสำคัญของการเจรจา พร้อมยกผลลัพธ์ของการเจรจาสันติภาพ ที่ยังเป็นที่รับรู้กันน้อย ประกอบด้วย เอกสารฉันทามติทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพ ในปี 2556 ช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเอกสารหลักการทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพ ในปี 2565 ที่ได้มีการลงนาม ถือเป็นผลลัพธ์จากการร่วมงานกันของหลากฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลไทยและขบวนการต่อสู้ปาตานี
อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่า กระบวนการสันติภาพอาจหยุดชะงัก จึงเป็นหน้าที่ของรัฐสภาต้องกระตุ้นเตือนและสนับสนุนให้เดินหน้าต่อ หากรัฐสภามีคณะกรรมาธิการที่เดินคู่ไปกับการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร และจะเป็นหลักประกันสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในพื้นที่ รวมถึงผู้เห็นต่างที่จะสามารถบรรลุข้อตกลง และสร้างฉันทามติที่จะอยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทยอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรี
นายรอมฎอน ยังได้ยกเรื่องที่รับฟังจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหวังว่า จะมีความปลอดภัยจากความรุนแรงและความปลอดภัยในการแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับปัญหาที่เผชิญอยู่ ในสภาแห่งนี้น่าจะเป็นการขยายโอกาสในการสร้างสันติภาพ ที่ผ่านมาจากการขัดแย้งกันอย่างสร้างสรรค์ พร้อมเรียกร้องสมาชิกจะร่วมกันสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติภาพโดยรวมของประเทศ
ด้านนายกมลศักดิ์ กล่าวสนับสนุนญัตติโดยชี้ว่า ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความยืดเยื้อมายาวนาน หลายรัฐบาลพยายามทุ่มงบประมาณแก้ไข แต่ปัญหายังคงอยู่ อย่างไรก็ตาม สภาฯ ได้ศึกษาเรื่องนี้ในภาพรวม รอบนี้จะเป็นเจาะลึกเพื่อให้ทุกฝ่ายหาทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งไม่ใช่การปราบปรามหรือออกกฎหมายพิเศษบังคับใช้ แต่เป็นการเจรจากับคู่ขัดแย้ง
ที่ผ่านมาการตั้งโต๊ะเจรจาโดยเปิดเผย ได้มีการพยายามมา 3 ครั้ง แต่ก็ถูกล้มเลิกทุกครั้ง สภาต้องมีส่วนร่วมในการศึกษาว่า บกพร่องอย่างไรจึงไม่สำเร็จ และทางออกในรัฐบาลชุดนี้ควรมีกรอบอย่างไร ใครเป็นผู้เจรจา ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร หรือต้องมีกฎหมายรองรับหรือไม่ โดยใช้บทเรียนจากประสบการณ์ที่ผ่านมา
ขณะที่นายซาการียา กล่าวสนับสนุนญัตติพร้อมยกเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อ 4 ม.ค.2547 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ที่ต่อมาน้าชายของตนที่เป็นครู ถูกออกหมายจับในข้อหาแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่ไม่เคยมีปืน ไม่เคยยิงใคร วันที่ได้รับอิสรภาพ เป็นวันเดียวหลังยายของตนเสียชีวิต ทำให้น้าชายไม่สามารถดูแลแม่ที่เจ็บป่วยได้ ตนจึงได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดและสูญเสียของประชาชนในพื้นที่
โดยนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สามารถยุติเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่นโยบายดังกล่าวเป็นนามธรรมที่ยังนำสู่การปฏิบัติไม่ได้ และมีปัญหาหลัก ประกอบด้วย เศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวของจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่รั้งท้ายของประเทศ จึงต้องยกระดับเศรษฐกิจชายแดน รวมถึงพัฒนาศักยภาพครู เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษา
ด้านนายศรัณย์ กล่าวอภิปรายสนับสนุนญัตติด่วนของพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ผ่านมากว่า 19 ปี ปัญหาชายแดนภาคใต้ยังไม่ยุติลง แม้จะมีความพยายามจากหลายรัฐบาล แต่ก็ยังมีผู้สูญเสียจำนวนมาก แม้ภายหลังจำนวนเหตุการณ์จะน้อยลง แต่ยังไม่เห็นว่าความขัดแย้งจะคลี่คลายลง ที่ผ่านมาทุกคณะกรรมาธิการ ตัวแทนภาคประชาชนยังมีส่วนร่วมน้อย และอาจเป็นเหตุให้ความพยายามที่ผ่านมาไม่สำเร็จ
รัฐสภาจึงต้องเข้ามามีบทบาทในฐานะนิติบัญญัติ เพื่อสร้างกฎหมายที่เป็นธรรม ความจริงแล้วในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน มีทรัพยากรธรรมชาติและบุคคากรที่จะสามารถพัฒนาประเทศได้อีกมาก แต่สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นไม่ได้เพราะปัญหาความขัดแย้ง จึงหวังว่ารัฐบาลและรัฐสภาสมัยนี้ จะสามารถสร้างความแตกต่าง ให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืนในพื้นที่ดังกล่าวได้