ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานความมั่นคงของไทยระดมสมองวิเคราะห์สถานการณ์ตึงเครียดล่าสุดในตะวันออกกลาง เพื่อรายงานต่อรัฐบาล และผู้มีอำนาจหน้าที่ในการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
“ทีมข่าว” สรุปสาระสำคัญมานำเสนอ...
“กลุ่มฮามาส” ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งอิหร่านถือว่าอิสราเอลและสหรัฐเป็นศัตรู
ก่อนหน้านี้ ผบ.กองกำลังพิทักษ์อิสลามของอิหร่าน (นายพล กาเซม สุไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ ผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการทางทหารของอิหร่านในตะวันออกกลาง) ก็ถูกอิสราเอลโจมตีด้วยโดรนเสียชีวิต และอิหร่านประกาศจะตอบโต้ล้างแค้น
ช่วงที่ผ่านมาอิหร่านต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว กระทั่งเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน รัสเซียกระชับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน และได้สั่งซื้อโดรนจากอิหร่าน รวมทั้งช่วยโน้มน้าวให้ซาอุดีอาระเบียและประเทศในตะวันออกกลางปรับปรุงความสัมพันธ์กับอิหร่าน
ขณะเดียวกัน รัสเซียก็ให้การสนับสนุนซีเรีย ซึ่งพื้นที่บางส่วนเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่ถูกกองกำลังสหรัฐเข้ายึดครอง โดยอ้างการเข้าไปกวาดล้างกลุ่มไอเอส
การโจมตีอิสราเอลของฮามาส โดยเฉพาะการโจมตีด้วยขีปนาวุธที่สามารถหลบหลีกระบบป้องกันของอิสราเอลได้ รวมทั้งการส่งกองกำลังรุกเข้าไปในดินแดนอิสราเอล ไม่น่าจะเป็นฝีมือของฮามาสโดยลำพัง เพราะเป็นการวางแผนล่วงหน้าที่ต้องใช้อาวุธ และกองกำลังที่มากกว่าขีดความสามารถของฮามาสจะจัดหาและลงมือปฏิบัติการได้เอง
กล่าวโดยสรุปคาดว่าการโจมตีต่ออิสราเอลครั้งนี้ กลุ่มฮามาสน่าจะได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายที่สาม ฝั่งตะวันตกวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นอิหร่าน รวมทั้งได้รับอาวุธบางส่วนจากรัสเซีย
พิจารณาในส่วนของรัสเซียยังอาจหวังผลให้สหรัฐ และนาโต้ (สมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) ต้องหันมาสนใจภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น หรือเป็นการบีบให้สหรัฐและนาโต้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ถึง 3 สนามรบพร้อมกัน คือ รัสเซีย-ยูเครน, อินโด-แปซิฟิก (สกัดอิทธิพลจีน) และตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ หากอิสราเอลที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากสหรัฐ และปฏิบัติการตอบโต้อย่างรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์ หรือปฏิบัติการทางทหารออกนอกพื้นที่ยึดครองในเขตเวสต์แบงค์ จะมีผลทำให้ประเทศในตะวันออกกลาง (นอกเหนือจากอิหร่าน เลบานอน และซีเรีย) เช่น ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และกลุ่มประเทศรอบอ่าวอาหรับที่เคยเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐ เริ่มผละออกห่างจากสหรัฐมากขึ้น โดยอาจเอนเอียงไปพึ่งพารัสเซียและจีนแทน
@@ “ฮามาส” มีสปอนเซอร์?
อาจารย์กฤษฎา บุญเรือง นักวิเคราะห์และนักวิชาการอิสระ จากแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ประเมินสถานการณ์การสู้รบระหว่างฮามาสกับอิสราเอล ซึ่งมีบางส่วนสอดคล้องกับมุมมองของฝ่ายความมั่นคงไทย
-อิสราเอลกำลังช็อคเรื่องนี้ เพราะไม่น่าเชื่อว่าหน่วยสืบรัฐการลับและฝ่ายความมั่นคงของตนเองซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดระดับต้นของโลกนั้น ผิดพลาดเรื่องนี้ได้อย่างไร
-ผลกระทบจะสะเทือนถึงอุตสาหกรรมทางด้านไซเบอร์ และเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัลทางความมั่นคงต่างๆ ซึ่งอิสราเอลเป็นแนวหน้าในการค้นคว้าวิจัยและจำหน่ายซอฟต์แวร์ให้กับรัฐบาลทั่วโลก รวมทั้งฝ่ายมั่นคงของไทยด้วย
ข้อสังเกต 2 ประเด็น
1.ตัวประกันชาวอิสราเอล - ในวิดีโอหนึ่งมีทหารอิสราเอลโดนฆ่า 2 นาย และทหารหญิงถูกจับไปเป็นตัวประกัน 6 นาย ซึ่งจำนวนผู้ถูกจับจริงนั้นอาจมีจำนวนมาก แต่ยังไม่รู้ว่าเท่าไหร่
และเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากเพราะตัวประกันถูกกระจายไปหลายแห่งทั่วเขตฉนวนกาซาแล้ว
ทุกครั้งที่มีการจับตัวประกันไปทางอิสราเอลจะต้องจ่ายค่าตอบแทนสูงมาก เรื่องนี้จึงกลายเป็นข้อขัดแย้งภายในอิสราเอลอีก
ในอดีตเมื่อปี ค.ศ.2006 ฮามาสเจรจาขอแลกเปลี่ยนนักโทษชาวปาเลสไตน์ 1,027 คน ต่อทหารอิสราเอลหนึ่งคน ถึงแม้อิสราเอลปฏิเสธ แต่ในที่สุด 5 ปีให้หลังก็ยินยอม
2.มีชาติใดอยู่เบื้องหลังฝ่ายฮามาส หรือไม่ - อิหร่านถูกตั้งข้อสงสัยโดยนักการเมืองบางคนในอเมริกา
ถ้าเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศในภูมิภาค ก็จะเป็นปัญหากระเทือนความมั่นคงและเศรษฐกิจไปทั่วโลก