รัฐบาลกำลังสร้างระบบ “แจ้งเตือน” ในแบบที่เรียกว่า Emergency Alert ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแบบไม่คาดฝัน ดังเช่นเหตุกราดยิงในห้างสยามพารากอน
โดยระบบที่ว่านี้จะไม่ใช่แค่ SMS หรือข้อความสั้นทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนให้ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น มั่นใจ และป้องกันความปลอดภัยสาธารณะ ส่งผลโดยตรงต่อภาพลักษณ์ประเทศ และการท่องเที่ยว
ถือเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการพัฒนาและยกระดับ “ระบบแจ้งเตือน” ซึ่งประเทศไทยเสียเวลารอมาเนิ่นนาน ทั้งๆ ที่เคยเกิดภัยพิบัติใหญ่อย่าง “สึนามิ” มาแล้ว
แต่การแจ้งเตือนในลักษณะนี้ จะเกิดขึ้นหลังเกิดเหตุภัยพิบัติแล้ว เป็นความพยายามลดความสูญเสียและสับสนอลหม่าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องควบคุมสถานการณ์ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าการป้องกันก่อนเกิดเหตุทำได้ยากอย่างยิ่ง ฉะนั้นการรับมือหลังเกิดเหตุจึงไม่ควรมีแค่การแจ้งเตือน
รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์จากสำนักวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งศึกษาเรื่องการก่อการร้ายหรือก่อเหตุร้ายในเมือง การก่อเหตุในลักษณะ Lone Wolf หรือ “หมาป่าเดียวดาย” ซึ่งหมายถึงปฏิบัติการรุนแรงที่กระทำเพียงลำพัง
อาจารย์มองเหตุการณ์กราดยิงที่สยามพารากอนในมิติทางความมั่นคง ซึ่งกระทบกับการท่องเที่ยว และความปลอดภัยสาธารณะ
1.การกราดยิง ไม่ได้เป็นภัยพิบัติหรือวิกฤติที่สามารถแจ้งเตือนได้ ซึ่งแตกต่างจากภัยพิบัติหรือวิกฤติที่เกิดจากธรรมชาติ
วิธีการที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือ การอพยพโยกย้ายประชาชนและการระงับเหตุ
จากเหตุการณ์ล่าสุดที่ผ่านมาจะพบว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่มีทักษะในการรับมือ และระงับเหตุได้อย่างเป็นมืออาชีพแล้ว
สิ่งที่จะต้องพัฒนาและตระหนักต่อไปในอนาคต คือเจ้าของร้านสถานประกอบการต่างๆ ที่มีประชาชนพลุกพล่าน จะต้องมีการเตรียมแผนคนอพยพออกจากพื้นที่ หรือแม้กระทั่งสามารถพัฒนาเป็นแผนประจำปีได้ จะเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมาก
2.ผู้ก่อเหตุในสถานการณ์กราดยิง มีเหตุจูงใจที่หลากหลายเป็นอย่างยิ่ง
สิ่งที่สังคมไทยต้องตระหนักคือ ทุกคนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะกลายเป็นฆาตกรในเหตุกราดยิงได้
ฉะนั้นการดูแลสุขภาพจิต ทั้งที่เกิดจากแรงกดดันจากสังคมรอบข้าง ครอบครัว หรือแม้แต่กระทั่งการใช้สารเสพติด เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่ครอบครัวและองค์กรที่รายล้อมจะต้องตระหนักและให้ความสนใจ
3.การเข้าถึงอาวุธปืน ในปัจจุบันจะพบว่าภายหลังที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภูมีมาตรการในการตรวจสอบปืนเถื่อนอยู่พักใหญ่ คล้ายกับ “ไฟไหม้ฟาง” แต่สังคมไทยยังไม่สามารถจัดการปัญหาเรื่องอาวุธปืนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเฉพาะ “สิ่งเทียมอาวุธปืน” ที่ขายผ่านระบบออนไลน์
เรื่องนี้ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าไปตรวจสอบ เพราะหากเยาชนเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย ความยับยั้งชั่งใจจะมีน้อย และอาจกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดอาชญากรรมร้ายแรงมากขึ้น
4.การรับมือกับเหตุกราดยิงที่ดีที่สุด คือการฝึกฝนที่ทำให้คนตระหนักว่าภัยลักษณะนี้สามารถมาถึงตัวเองได้ตลอดเวลา
ฉะนั้น รูปแบบการฝึกจะต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะ...
00 รับมือเหตุการณ์กราดยิงเฉพาะหน้าของคนที่อยู่ในสถานการณ์
00 หลักการหลบหนี
00 หลักการต่อสู้
00 การเจรจาต่อรองในกรณีที่มีการใช้ตัวประกันเป็นเครื่องมือ
00 เพิ่มโจทย์ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน
ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพิ่งร่วมมือจัดการฝึกอบรมในโจทย์ที่หลากหลายเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหตุกราดยิง หรือ Active Shooter โดยเป็นโครงการที่ทำกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 5 เมื่อเดือน ก.ย.66 นี้เอง