“กล้วยขี้ช้าง” ผลไม้พื้นถิ่นที่ราบเชิงเขาชายแดนใต้ ออกผลตลอดทั้งปี เนื้อแน่น รสชาติหอมหวาน ปลูกขายสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร จ่อดันเป็นพืชอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นยะลา
ในสวนผลไม้เกษตรแบบผสมผสานของ ลุงสาและ ดือราแม หรือ เบาะลง วัย 65 ปี เจ้าของสวนบนพื้นที่ 5 ไร่ หมู่ 2 บ้านปาแตรายอ ต.เกะรอ อ.รามัน จ.ยะลา มีการปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ตามแบบที่เรียกกันว่า “สวนดุซง” สวนแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น
สวนของลุงสาและ มีทั้งทุเรียน ยางพารา และผลไม้ โดยหนึ่งในผลไม้ขึ้นชื่อที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่ดของที่นี่ คือ “กล้วยขี้ช้าง”
กล้วยชื่อประหลาดนี้ซึ่งเป็นกล้วยพื้นถิ่นของ จ.ยละา ลุงสาและปลูกแซมในสวน ปรากฏว่าให้ผลผลิตตลอดทั้งปี มีรสชาติอร่อย หอมหวาน รับประทานได้สดๆ ในแบบ “ปอกกล้วยเข้าปาก” หรือจะนำมากินกับข้าวเหนียวนึ่งก็ชวนให้ลิ้มลองไม่แพ้กัน
ลุงสาและ เล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มที่มาของกล้วยขี้ช้าง เกิดจากพื้นที่บริเวณนี้ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา อยู่ติดกับเขากูโต แนวเทือกเขาบูโด รอยต่อระหว่าง อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี และ อ.รามัน จ.ยะลา ทอดยาวไปยัง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
เล่ากันว่าในสมัยก่อนชาวบ้านที่นี่นิยมเลี้ยงช้าง จุดเริ่มต้นพบกล้วยงอกขึ้นมาบริเวณที่ชาวบ้านนำช้างไปผูกกับต้นไม้ และได้นำหน่อกล้วยมาปลูก จึงเป็นที่มาของชื่อ “กล้วยขี้ช้าง”
ลักษณะของ “กล้วยขี้ช้าง” ลำต้น กาบ และใบ จะออกสีน้ำตาลอมแดง ผลมีขนาดเล็กกลมเหมือนไข่ไก่ ผลกล้วยเล็กกว่ากล้วยน้ำว้า ให้ผลติดชิดกัน ในหนึ่งเครือจะติดผล 8-10 หวี เมื่อสุกจะเป็นสีหลืองนวลทองทั้งหวี เอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ รสชาติของกล้วย อร่อยคล้ายกล้วยไข่ผสมกับกล้วยหอมทอง เนื้อแน่น ไม่มีเมล็ด
ปัจจุบัน “กล้วยขี้ช้าง” เป็นที่ต้องการของตลาดในละแวกใกล้เคียง ซื้อขายกันในราคากิโลกรัมละ 30 บาท กล้วย 1 เครือ ก็มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 8-10 กิโลกรัม ราคาก็อยู่ที่ 250-300 บาท สร้างรายได้เสริมจากการทำสวนผลไม้ จึงมีการขยายพันธุ์ด้วยการนำหน่อไปปลูก
ลุมัน หะสีแม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ประจำตำบลเกะรอ เผยว่า การส่งเสริมอนุรักษ์การปลูกกล้วยขี้ช้างของพื้นที่นี้ ทางเกษตรอำเภอมีโครงการขยายเพิ่มพื้นที่ปลูกจำนวน 15 ไร่ โดยมีสมาชิกเกษตรกรเข้าร่วม 15 ราย มีการจัดการให้ความรู้ ส่งเสริมกระบวนการผลิต พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับโรค โดยเฉพาะโรคเหี่ยวในกล้วยหินที่กำลังระบาดในขณะนี้
อีกด้านหนึ่ง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของ จ.ยะลา เตรียมผลักดันให้ “กล้วยขี้ช้าง” เป็นพืชอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น หรือ GI ในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดแสดงตามงานมหกรรมเกษตรต่างๆ ทั้งในระดับจังหวัดและในระดับอำเภอ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
สำหรับประชาชนที่สนใจการปลูกกล้วยขี้ช้าง หรือจะสั่งจองกล้วย สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอรามัน