ปฏิบัติการบุกจับยาบ้าใน “แหล่งพักยา” ที่นครปฐม ซึ่งเป็นผลงานแรกของ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในค่ำคืนของวันที่ 27 ก.ย.66 หลังได้รับแต่งตั้งจาก ก.ตร.เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่นั้น
ปฏิบัติการหนนี้กลายเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์การบุกทลายเครือข่ายค้ายาที่ต้องบันทึกไว้ และยังเป็นการร่วมงานกันอย่างบูรณาการระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน ป.ป.ส. สังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ร่วมทีมไปตรวจสอบของกลาง และแถลงข่าวร่วมกัน
ข้อมูลที่ต้องบันทึกไว้ก็คือ
1.คดีจับยึดยาบ้าที่ จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ยึดของกลางได้ถึง 15 ล้านเม็ดเศษ และวันต่อมา 28 ก.ย. ก็ขยายผลยึดได้อีกเกือบ 7 ล้านเม็ด รวมเป็น 22 ล้านเม็ดเศษ เป็นจำนวนยาเสพติดที่ยึดได้ใน 1 คดีที่ถือว่ามากที่สุด ไม่เคยมีการจับยึดคดีใดที่มีปริมาณหรือจำนวนของกลางมากเท่ากับคดีนี้มาก่อน
สถิติที่เคยจับยึดยาบ้าได้สูงสุด คือ ปี 2563 จำนวน 14 ล้านเม็ด ในพื้นที่ สภ.ฝาง จ.เชียงใหม่
2.สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ จ.นครปฐม ข้อมูลการสืบสวนและจับกุมพบว่าเป็นแหล่งพักยาที่สำคัญของพื้นที่ภาค 7 (กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7) และเป็นแหล่งกระจายยาเสพติดที่สำคัญแห่งหนึ่งลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ และผ่านไปยังประเทศมาเลเซียด้วย ในรูปแบบของไอซ์
นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่แพร่ระบาดของยาเสพติด “กลุ่ม Club Drugs” ของกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่ จ.นครปฐมและพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย
นี่คือสถิติที่ต้องบันทึก แต่ไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจ เพราะสะท้อนว่ายาเสพติดระบาดหนักจริงๆ ในประเทศไทย ทั้งเสพทั้งค้ากันเองภายในประเทศ และเป็นทางผ่านส่งออกไปยังประเทศที่สาม
@@ ยอดจับยาบ้า 6 ประเทศรวมไทย พุ่งกว่า 500 ล้านเม็ด/ปี
วันที่ 28 ก.ย. มี สส.เพื่อไทยยื่นกระทู้ถามในสภา เกี่ยวกับปัญหายาเสพติด และการขาดแคลนสถานบำบัดฟื้นฟูระดับชุมชน
พ.ต.อ.ทวี ในฐานะ รมว.ยุติธรรม กำกับดูแลสำนักงาน ป.ป.ส. ลุกขึ้นตอบกระทู้และชี้แจง มีการนำข้อมูลสถิติตัวเลขต่างๆ มาเปิดเผย ซึ่งล้วนเป็นประเด็นน่าสนใจ
“ทีมข่าว” สรุปข้อมูลจากเอกสารตอบกระทู้ในสภามานำเสนอ
สถานการณ์ปัญหายาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทยทุกวันนี้ ทั้งหมดเป็นยาเสพติดที่มีการผลิตนอกประเทศ จากกระบวนการตรวจพิสูจน์ของสำนักงาน ป.ป.ส.และหน่วยงานตรวจพิสูจน์ยาบ้าที่จับยึดได้ทั่วประเทศและในต่างประเทศ ยืนยันได้ว่า ประเทศไทยไม่มีแหล่งผลิตยาบ้าในประเทศ โดยแหล่งผลิตหลักจะอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและถูกลักลอบลำเลียงเข้ามาทางชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยเฉพาะยาบ้ามีความรุนแรงและมีการแพร่ระบาดมากขึ้น จากสถิติการจับยึดยาบ้าที่ผ่านมา ซึ่งเป็นยอดรวมของ 6 ประเทศรอบสามเหลี่ยมทองคำ รวมทั้งไทย พบว่า ตั้งแต่ปี 2561–2566 มีการจับยึดยาบ้าได้ปีละประมาณ 300–500 ล้านเม็ด
ปี 2561 - 454 ล้านเม็ด
ปี 2562 - 521 ล้านเม็ด
ปี 2563 - 327 ล้านเม็ด
ปี 2564 - 580 ล้านเม็ด
ปี 2565 - 504 ล้านเม็ด
ปี 2566 - 460 ล้านเม็ด (นับถึง 31 ส.ค.66)
จากตัวเลขสถิติสะท้อนได้ถึงความรุนแรงของปัญหายาบ้าที่เพิ่มขึ้น แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะพยายามปราบปรามกันอย่างหนัก
ปัญหายาบ้า ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เผชิญอยู่ แต่ยังมีประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ สามเหลี่ยมทองคำ อย่าง จีน เวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชา ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทำให้ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ได้มีการร่วมมือของ 6 ประเทศในการร่วมกันสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดจากสามเหลี่ยมทองคำมากขึ้น เรียกว่า “ความร่วมมือในการปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย”
โดยทั้ง 6 ประเทศได้มีข้อตกลงร่วมกันที่จะขยายการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การสืบสวนปราบปราม การสกัดกั้นเส้นทางลำเลียง การสกัดกั้นเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้น และการเปิดยุทธการปราบปรามร่วมกัน จนเกิดผลในการจับกุมยาเสพติดเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
สำหรับมาตรการในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 25 ก.ย.66 ได้มีการประชุมทวิภาคีไทย-ลาว เรื่องความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 19 เพื่อยกระดับให้การปก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระนานาชาติ รวมถึงมีการประสานการปฏิบัติการและสืบสวนขยายผลด้านการข่าว ตลอดจนการจับกุมและส่งตัวผู้ต้องหายาเสพติดที่ตามหมายจับของไทยที่หลบหนีอยู่ใน ประเทศลาว จำนวน 54 ราย
ขณะเดียวกันก็ได้มีการยกระดับการสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่เร่งด่วนตามแนวชายแดน ลด Supply ยาเสพติดมิให้เข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยการกำหนดให้พื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการสกัดกั้นยาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 5 (10) ซึ่งไม่เคยมีการใช้มาก่อน แต่ต้องนำมาใช้ในครั้งนี้ เพื่อยกระดับเป็น “พื้นที่ยาเสพติดระดับสูงสุด” รวมถึงการนำมาตรการทางทรัพย์สิน ตัดวงจรการเงินให้มากที่สุด มาใช้กับเครือข่ายนักค้ายาเสพติด
@@ ข้อมูล ป.ป.ส. คนติดยา 1.9 ล้าน ทาสยาบ้า 83%
ด้านแนวทางในการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด ที่อาศัยอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในสังคมนั้น
จากข้อมูลเครือข่ายวิชาการสารเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ประมาณการผู้เสพยาเสพติดอยู่ที่ 1.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 2.87 ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้เป็นผู้เสพยาบ้าถึงร้อยละ 83 มีอายุระหว่าง 15-29 ปีมากที่สุดถึงร้อยละ 37 เป็นผู้เสพรายใหม่ร้อยละ 57 ผู้เสพรายเก่าร้อยละ 43 ซึ่งผู้เสพส่วนใหญ่ร้อยละ 85 มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท
หากพิจารณาจากสถิติการจับกุมและการบำบัดรักษายาเสพติด อยู่ที่ 250,000 -300,000 คนต่อปี แสดงว่ามีอีกประมาณอีก 1.5 ล้านคนที่ยังเป็นผู้เสพ และยังอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น
จำนวนผู้เสพที่เข้ารับการบำบัดรักษาโดยรวมย้อนหลัง 5 ปี มีสถิติเฉลี่ยปีละ 185,000 คน เป็นผู้ใช้ร้อยละ 5 ผู้เสพร้อยละ 65 โดยมีผู้ติดร้อยละ 25 และผู้ติดรุนแรงเรื้อรัง (Hardcore) ร้อยละ 2 ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มหลังนี้นับว่าเป็นกลุ่มที่สร้างผลกระทบกับสังคม และอาจก่อให้เกิดความรุนแรงได้
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขสามารถรองรับผู้เสพเข้ารับการบำบัดในการกำกับดูแลจำนวน 500,000 คน โดยใช้กลไกสถานบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ได้จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ดังนี้
1.ศูนย์คัดกรอง จำนวน 9,789 แห่ง
2.สถานพยาบาลยาเสพติด จำนวน 1,078 แห่ง
3.สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จำนวน 60 แห่ง
4.ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม จำนวน 3,023 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยาเสพติดส่วนใหญ่ยังคงไม่ตระหนักว่าตนเองเป็นผู้ป่วย และจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดรักษา ทำให้บางส่วนยังคงอยู่ในชุมชนและมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นผู้ติดยาเสพติดและเกิดอาการทางจิตต่อไป
@@ ผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดกว่าครึ่งแสน - พื้นที่สีแดง 249 อำเภอ
จากข้อมูลการดำเนินงานโครงการค้นหาผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ผู้มีอาการทางจิตและผู้ป่วยจิตเวช เพื่อนำเข้าสู่การบำบัดรักษา ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบผู้เสพในชุมชนจำนวนทั้งสิ้น 520,365 คน เป็นผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด จำนวน 53,685 คน หรือร้อยละ 10.32 โดยผู้เสพที่ยังไม่เข้ารับการบำบัดรักษามีจำนวน 231,473 คน ในจำนวนผู้เสพเหล่านี้อยู่อาศัยรวมกันเป็นจำนวนมากถึง 249 อำเภอ กระจายทั่วประเทศ
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายการดำเนินงานเร่งด่วนที่เน้นการจัดการต่อผู้เสพยาเสพติดในพื้นที่ โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนและพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีปัญหาทางจิต โดยดำเนินงานเข้มข้นในพื้นที่ที่มีผู้เสพเป็นจำนวนมาก 249 อำเภอ
โดยสำนักงาน ป.ป.ส.ร่วมกับ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และสาธารณสุข จัดตั้ง “ศูนย์รักษ์ใจ ใกล้ชุมชน” เพื่อรองรับผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตในชุมชนที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงในการกลับมาติดยาเสพติดหรือมีอาการทางจิต