ชาวบ้านซึ้งใจ “รมว.ยุติธรรมคนใหม่” รุดให้กำลังใจครอบครัว “อับดุลรอนิง” จำเลยคดี “คาร์บอมบ์สมุย” เสียชีวิตที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ ระหว่างถูกคุมขังยาว ไม่ได้ประกัน เตรียมหาแนวทางดูแลกลุ่มผู้ต้องขังที่คดียังไม่สิ้นสุด แต่กลับต้องอยู่ในคุก ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่ได้ชี้ว่าเป็นคนผิด ขณะที่ผู้ว่าฯปัตตานีประสาน พม.ดูแลคุณภาพชีวิตบุตร-ภรรยา
ภายหลังทราบข่าวผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ซึ่งเป็นจำเลยในคดีคาร์บอมบ์ ห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เสียชีวิตที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ระหว่างถูกคุมขัง ไม่ได้ประกันตัว แม้จะมีอาการป่วย โดยเป็นการเสียชีวิตก่อนถึงวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเพียง 12 วันนั้น
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาพอดี (16-17 ก.ย.66) ได้เดินทางไปที่ภูมิลำเนาของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงรายนี้ ที่บ้านบือติง อำเภอเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี
ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่เสียชีวิต คือ นายอับดุลรอนิง ดือราแม อายุ 59 ปี เป็นจำเลยในคดีก่อให้เกิดระเบิด “คาร์บอมบ์” ที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล เกาะสมุย เมื่อวันที่ 10 เม.ย.58 ศาลล่างพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ถูกคุมขังระหว่างรอฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 27 ก.ย.ที่จะถึงนี้ แต่เจ้าตัวมีอาการป่วย และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.65 แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง และเข้ารักษาตัวเป็นครั้งคราวเรื่อยมารวมกว่า 30 ครั้ง
ต่อมาวันที่ 14 ก.ย.66 ได้เข้ารักษาตัวและพักที่โรงพยาบาลด้วยอาการของโรคมะเร็งลำไส้ และมะเร็งปอด กระทั่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 15 ก.ย. และทางครอบครัวได้รับศพไปประกอบพิธีตามหลักศาสนาอิสลามที่บ้านบือติง เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 16 ก.ย. จากนั้นในช่วงค่ำ เมื่อ พ.ต.อ.ทวี เสร็จจากภารกิจและการปฏิบัติราชการ จึงได้เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัว และร่วมในพิธีศพ
บรรยากาศที่บ้านของนายอับดุลรอนิง ผู้ตาย มี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรอให้การต้อนรับ รวมถึงภรรยาและลูกๆ ทั้ง 6 คนของผู้ตาย ทั้งยังมีญาติ เพื่อนบ้าน และเยาวชนหญิงชายจำนวนมากมารอพบคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วย ท่ามกลางความซาบซึ้งประทับใจที่รัฐมนตรีให้เกียรติไปเยี่ยมถึงบ้าน และไม่ทอดทิ้งคนเดือดร้อน แมัจะเป็นผู้ต้องขังคดีความมั่นคงก็ตาม
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า “บาบออับดุลรอนิง ถูกคุมขังที่เรือนจำระหว่างพิจารณาคดี ท่านก็ป่วยเป็นมะเร็ง ถ้าดูจากประวัติที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ส่งมา มีการส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลถึง 31 ครั้ง และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งพอเสียชีวิตญาติก็ไม่ติดใจ เพราะเป็นเรื่องของการเจ็บป่วย
แต่สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะต้องนำมาพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม ก็คือการคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ต้องถือว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ตราบที่ศาลยังไม่ตัดสิน คดีนี้เขาขอฎีกาอยู่ แล้วปัญหาที่สำคัญคือ จริงๆ แล้วหลักการของการคุมขังในเรือนจำ มีเป้าหมายเพื่อไม่ให้หลบหนี หรือก่อเหตุร้ายซ้ำอีก ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูว่าผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดี มีพฤติการณ์หลบหนีหรือก่อเหตุร้ายอีกหรือไม่ ถ้าไม่มีพฤติการณ์ดังกล่าว โดยหลักต้องปล่อยชั่วคราว ก็ต้องดูว่าคดีลักษณะนี้ยังมีอีกเยอะ ทำให้เรือนจำเรามีนักโทษล้นคุก”
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวถึงนายอับดุลรอนิง ผู้ตายว่า “วันนี้เท่าที่เห็น เขาเป็นที่รักของชาวบ้าน ของมวลชน เมื่อชาวบ้านทราบว่าเสียชีวิต ก็มาให้กำลังใจ มารอ และมีความเศร้า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นทำให้ครอบครัวเปราะบาง จากครอบครัวที่มีความเข้มแข็ง พอผู้นำครอบครัวต้องไปอยู่ในเรือนจำ สถาพชีวิตของครอบครัวก็เหมือนไม่มีทางไป แต่พวกเราต้องมาให้กำลังใจ แล้วก็มีความรู้สึกว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ต้องแก้ไข
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บอกด้วยว่า หลังจากนี้จะต้องดูคำพิพากษาของศาล เพื่อพิจารณาสิทธิ์ของผู้ตายและครอบครัว อาจจะได้รับการเยียวยา เพราะเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุม ส่วนเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกในครอบครัว ผู้ว่าฯปัตตานี บอกว่าจะให้ พม. (พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) เข้าไปดูแล
@@ ขึ้นทะเบียนช่วยเหลือเดือนละ 3 พัน - ซ่อมบ้านอีก 4 หมื่น
นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่งเดินทางลงพื้นที่พร้อมกับ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สิ่งแรกที่จะดูแลครอบครัวนี้ได้ คือเรื่องสวัสดิการ กรณีกลุ่มผู้ยากไร้หรือยากจน จะมีการสนับสนุนเป็นเงินประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน จะขึ้นทะเบียนไว้ เมื่อถึงปี 2567 งบประมาณมาถึง ครอบครัวนี้ก็จะเป็นหนึ่งในผู้ได้รับเงินส่วนนี้
นอกจากนั้นก็จะมีการดูแลเรื่องของการศึกษาของลูกๆ และอาชีพของภรรยา ซึ่งเบื้องต้นภรรยาทำอาชีพค้าขาย ก็จะเป็นเรื่องของการสร้างโอกาส
ขณะเดียวกันก็จะมีทีมของ พม. หรือพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ซึ่งเป็น “ทีมสหวิชาชีพ” เข้าไปคุยเยียวยาจิตใจและดูแลคุณภาพชีวิต เบื้องต้นมีการขอสนับสนุนเงินซ่อมบ้าน ตามกรอบการช่วยเหลือส่วนนี้ไม่เกิน 40,000 บาท เพื่อให้เป็นที่อยู่ของลูกๆ อีก 3 คนที่ยังอยู่ในวัยเรียน ส่วนลูกคนโต 3 คนแต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว
ผู้ว่าฯปัตตานี ยืนยันด้วยว่า การช่วยเหลือไม่ได้คำนึงถึงคนที่เสียชีวิตว่ามีสถานะอะไร แต่ต้องคำนึงถึงครอบครัวที่ยังอยู่ ที่เราจะดูแล เช่น ลูก ภรรยา เขาไม่ได้ทำอะไรผิด เมื่อเขาสูญเสียก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องดูแล