ควบโฟร์วีลบุกพิสูจน์ “ต้นลองกองซีโป” อายุกว่า 250 ปี เก่าแก่และยืนยาวที่สุดในโลก สายพันธุ์สุดเลื่องชื่อของนราธิวาส ชาวบ้าน-เกษตรกรนำไปปลูกขยายพันธุ์ทั่วไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่บริเวณหน้าลานสนามฟุตบอล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เฉลิม บ้านลูโบะกาเยาะ หมู่ 5 อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ได้มีการจัดงาน “ของดีตำบลเฉลิม” รูปแบบงานยิ่งใหญ่ตระการตา มีการนำผลไม้ต่างๆ อาทิ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกองพื้นถิ่นมาจัดแสดง และเปิดให้ผู้ที่เข้าเที่ยวชมงานได้ลองลิ้มชิมรส
โดยเฉพาะลองกองซึ่งมีมากกว่า 1 ตัน ปรากฏว่าเมื่อนักท่องเที่ยวและคนที่ร่วมงานได้ลิ้มลอง ต่างพากันชื่นชมในรสชาติ และถูกปากในความหอมหวานของ “ลองกองซีโป” หลายคนอดใจไม่ไหว ถึงกับคว้าถุงใส่ลองกองที่ผู้จัดงานเตรียมไว้ถึง 1 ตัน เพื่อนำไปฝากสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้เดินทางมาเที่ยวงาน
ภายในงานมีวงสนทนา “ของดีตำบลเฉลิม” มีการเชิญชวนให้เดินทางไปดูต้นลองกองซีโป อายุกว่า 250 ปี ที่ถือว่าเป็นต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และมีการการันตีว่าเป็นต้นลองกองที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก ซึ่งชาวบ้านทั้งในอดีตและปัจจุบันทั่วประเทศได้นำเมล็ดลองกองจากต้นนี้ นำไปปลูกขยายพันธุ์เป็นทอดๆ จนปัจจุบันมีลองกองปลูกกันทั่วประเทศ
แต่ต้องยอมรับว่า การปลูกในแต่ละพื้นที่ ลองกองจะมีรสชาติแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะผลลองกองที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวผลผลิตออกมาจำหน่ายตามท้องตลาด โดยเฉพาะพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกพื้นที่มักจะการันตีว่า เป็นลองกองตันหยงมัส ซึ่งถือว่าไม่ผิดเพี้ยน และไม่ได้มีการแอบอ้างชื่อของลองกองตันหยงมัส เพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้า เพราะข้อเท็จจริงแล้วลองกองทุกพื้นที่ทั่วไทยเป็นการขยายพันธุ์เป็นทอดๆ จากต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต้นหนึ่งเดียวต้นนี้
สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของต้นลองกองที่อายุยืนยาวที่สุด ซึ่งถือได้ว่ากลายเป็นตำนานแห่งลองกองซีโป คือ นายดอเลาะ โบสะอิ อายุ 82 ปี ปัจจุบันลองกองต้นนี้ยังให้ผลผลิตในทุกๆ ปีของช่วงฤดูกาล จะมีผู้หลักผู้ใหญ่สั่งจองเพื่อซื้อหาเป็นของฝาก ทำให้ลองกองที่ปลูกขยายพันธุ์ในสวนที่มีต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อายุกว่า 250 ปีแผ่กิ่งก้านสาขาอยู่ ได้ผลพลอยได้จากการสั่งซื้อไปด้วย แม้ราคาลองกองตามท้องตลาดในเกือบทุกๆ ปีจะตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละไม่กี่บาท แต่ลองกองสวนของนายดอเลาะ จะมีราคามาตรฐานจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 60 บาทขึ้นไป
ต้นลองกองพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์สายพันธุ์ซีโปตันหยงมัสแท้ๆ ที่สวนของนายดอเลาะ ตั้งอยู่บนเทือกเขาโต๊ะเจ๊ะนิ อยู่บริเวณเดียวกับเทือกเขาเมาะแต บ้านซีโป หมู่ 3 ต.เฉลิม ช่วงงานของดีตำบลเฉลิม มีกิจกรรมพาเดินทางไปชมต้นลองกองที่อายุยืนยาวที่สุดในโลก เป็นความร่วมมือของ นายอับดุลฮาเล็ง มะรูดี กำนัน ต.เฉลิม นายฮัจซันบาซอรี ดอเลาะ ผู้ใหญ่บ้านซีโป พ.อ.ทวีรัตน์ เบญจาทิกุล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 (ผบ.ฉก.ทพ.45) และชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่ง
การเดินทางค่อนข้างลำบากและทุลักทุเล ต้องใช้ยานพาหนะเป็นรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อยกสูงเท่านั้น ต้องขับฝ่าหนามฝ่าดงไปตามถนนลูกรังระหว่างร่องสวนยางพาราของชาวบ้านประมาณ 4-5 กิโลเมตร หลังจากนั้นต้องเดินเท้าลัดเลาะไปตามร่องสวนยางที่เป็นทางลาดชันและคดเคี้ยว ผ่านเนินเขาสูงต่ำประมาณ 3-4 เนิน โดยจะพบกันแอ่งน้ำเล็กๆ ทอดยาวนเทือกเขา สามารถนั่งพักผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ก่อนจะเดินต่อเพื่อให้ถึงจุดหมาย ระยะทางช่วงสุดท้ายยาวกว่า 500 เมตร เป็นพื้นที่ลาดชันสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 93 เมตร
จุดหมายปลายทางคือต้นลองกองที่กลายเป็นตำนาน มีอายุกว่า 250 ปี เมื่อทุกคนได้พบเห็น ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางก็หายเป็นปลิดทิ้ง
สำหรับต้นลองกองในตำนานต้นนี้ หลายคนคงคิดว่าจะต้องตั้งตระหง่านอยู่กลางป่าบนเทือกเขาเพียงต้นเดียว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะมีต้นลองกองที่กลายเป็นตำนานขึ้น 2 ต้นเคียงคู่กัน ต้นใหญ่สุดจะมีขนาดลำต้นประมาณ 2 คน โอบ สูงประมาณ 25 เมตร มีกิ่ง ก้าน ใบ แผ่เป็นเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เมตร ส่วนต้นเล็กมีขนาดลำต้น ความสูง และมีกิ่ง ก้าน ใบ แผ่เป็นวงกว้างลดหลั่นลงมาเล็กน้อย
จากการสังเกตที่บริเวณโคนต้นลองกองที่กลายเป็นตำนานทั้ง 2 ต้น เราจะสังเกตเห็นว่าทั้ง 2 ต้นได้แตกแขนงออกมาจากรากของต้นลองกองต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่คาดว่าถ้าไม่ล้มตายไปเสียก่อน จะมีอายุยืนยาวเกือบ 500 ปีเลยทีเดียว
ต่อมาทางคณะผู้เดินทางได้เห็นลูกลองกองจำนวนหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่บนต้น จึงได้ขึ้นไปเก็บลงมาพิสูจน์รสชาติว่า ต้นลองกองซีโปในตำนานจะมีรสชาติหอมหวานตามที่กล่าวขานหรือไม่ เมื่อลิ้มลองแล้วทุกคนต่างยกนิ้วให้ว่าอร่อย หอมหวาน ถือว่าครั้งหนึ่งในชีวิตได้ลิ้มรสชาติผลลองกองในตำนานของจริง
นายดอเลาะ เจ้าของต้นลองกอง พร้อม นายฮัจซันบาซอรี ผู้ใหญ่บ้านซีโป และ พ.อ.ทวีรัตน์ ได้ร่วมกันเปิดเผยเกี่ยวกับตำนานของชื่อเรียกต้นลองกอง โดยนายดอเลาะ ได้เล่าเป็นภาษายาวีท้องถิ่น ส่วนนายฮัจซันบาซอรี และ พ.อ.ทวีรัตน์ ได้ช่วยกันเป็นล่ามแปล มีใจความว่า
“สมัยก่อนมีเจ้าเมืองของระแงะให้ควาญช้างไปเลี้ยงช้างบนภูเขา ไปเจอกับลูกลองกอง เห็นเป็นลูกของผลไม้ที่แปลก จึงขึ้นไปตัดแล้วอุ้มไปถวายให้กับเจ้าเมือง ซึ่งคำว่า ‘อุ้ม’ ภาษายาวีท้องถิ่น คือ คำว่า ‘ดูกง’ หลังจากนั้น คำว่า ‘ดูกง’ ก็ได้เพี้ยนจากคำพูดของชาวบ้าน ซึ่งเป็นมุสลิมในท้องถิ่น มักจะพูดภาษาไทยไม่ชัด จึงเพี้ยนเป็นคำว่า ‘ลองกอง’ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน”