เปิดตัวเลข “คดีฟ้องปิดปาก” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แค่ 9 ปี โดนฟ้องพุ่ง 570 คดี ส่วนใหญ่โดนจากบริษัทเหมืองแร่ บริษัทปาล์มน้ำมัน ไม่เว้นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติก็ฟ้องประชาชนด้วย ด้าน รมว.ยุติธรรม เผยรัฐบาลหวังฟื้นหลักนิตธรรม พร้อมรับปากเข้าไปให้ความยุติธรรมทุกคดีที่เข้าข่าย “ฟ้องปิดปาก - ละเมิดปกป้องสิทธิฯ”
เมื่อเวลา 10.30 น.วันเสาร์ที่ 9 ก.ย.66 ที่ห้องประชุม Trophy room ชั้น 1 โรงแรมไอบิส รัชดา องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชันเเนล (พีไอ) ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ข้อเสนอจากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถึงรัฐบาลใหม่ ทำอย่างไรจะยุติฟ้องปิดปากประชาชน” พร้อมเปิดรายงานตัวเลขและสถิติของผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากคดีฟ้องปิดปาก ในชื่อรายงาน “ปิดปากความยุติธรรม การต่อสู้กับการฟ้องคดีปิดปาก และการโจมตีอย่างเป็นระบบต่อผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”
@@ ชำแหละ 570 คดีฟ้องปิดปาก “ขับไล่-ทวงคืนผืนป่า” แชมป์!
จากรายงานการเก็บข้อมูลขององค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชันเเนล (พีไอ) หลังจากรัฐประหาร 2557 – 2565 มีคดีฟ้องปิดปากและใช้กระบวนการยุติธรรมคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ รวมทั้งหมดที่ถูกฟ้อง 570 คดี แยกตามภูมิภาคเป็น
ภาคเหนือ 142 คดี
ภาคอีสาน 130 คดี
ภาคกลาง 278 คดี
และภาคใต้ 20 คดี
แยกตามฐานความผิด ได้ 11 ฐานความผิด ประกอบด้วย
- ความผิดฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย คดีขับไล่ จำนวน 217 คดี
- ความผิดฐานบุกรุกและความผิดเกี่ยวกับคดีป่าไม้ อุทยาน และนโยบายทวงคืนผืนป่า จำนวน 159 คดี
- ความผิดคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 47 คดี
- ความผิดฐานหมิ่นประมาท หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา พ.ร.บ.คอมพ์ฯ จำนวน 41 คดี
- ความผิดฐานขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3 /2558 จำนวน 33 คดี
- ความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จำนวน 33 คดี
- ความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น จำนวน 16 คดี
- ความผิดฐานสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ จำนวน 11 คดี
- ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ จำนวน 8 คดี
- คดีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 3 คดี
- ความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำนวน 2 คดี
น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชันเเนล (พีไอ) กล่าวว่า ตั้งแต่ที่มีการรัฐประหาร เราเห็นว่ามีการใช้ระบบยุติธรรมมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับฝ่ายต่อต้านผู้มีอำนาจ โดยส่วนใหญ่ก็เป็นธุรกิจและกิจกรรมของรัฐบาล ซึ่งมีการฟ้องปิดปากที่เพิ่มมากขึ้น สังเกตได้ว่าการฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะฯ หรือ คดี SLAPP คือการฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นไม่ให้มีส่วนร่วมทางสาธารณะ ที่ผ่านมามีการใช้มาตลอดโดยหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง และภาคธุรกิจที่มีเป้าหมายโจมตีไปที่ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯ ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนตนเอง และการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อจะให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่น
“ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ที่ตกเป็นเป้าหมายที่เราเก็บข้อมูลส่วนใหญ่ จะเป็นผู้หญิงที่ทำงานในการคุ้มครองสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคนที่ต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น โดยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เรามีตัวเลขที่แน่นอนว่ามีถึง 570 คดี ซึ่งคดีส่วนใหญ่เป็นการฟ้องโดยบริษัทเหมืองแร่ บริษัทปาล์มน้ำมัน และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ซึ่งจะเป็นทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เพราะมีกรณีของการไล่ที่ในพื้นที่อุทยาน ทั้งๆ ที่ชุมชนอยู่มาก่อน”
@@ จี้ผลักดันแผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน - วอนศาลช่วยใช้อำนาจ
น.ส.ปรานม กล่าวถึงการทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ของกระทรวงยุติธรรมว่า ขณะนี้ยังไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย อยากให้กระทรวงยุติธรรมทำให้มีสถานะทางกฎหมาย และต้องมีตัวชี้วัดว่าใครเป็นผู้เข้าร่วม มีระดับในการตัดสินใจในนโยบายอย่างไร และทำอย่างไรให้มีการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ
ขณะนี้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ 165/2 ที่ให้ศาลสามารถยกฟ้องคดีและห้ามการฟ้องซ้ำได้ คือ มีข้อความในกฎหมายที่เปลี่ยนว่า “ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย” ซึ่งศาลสามารถยุติได้ แต่ที่ผ่านมาทุกคดีที่ขอให้ศาลใช้อำนาจในส่วนนี้ แต่ศาลก็ไม่ใช่
“เพราะฉะนั้นเรามองว่า การที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่รับลูก ก็น่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของการฟ้องปิดปาก ถ้าเราปล่อยให้การฟ้องปิดปากมีขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีการตรวจสอบ มันจะส่งผลกระทบทั้งภาคธุรกิจ และสิทธิของประชาชนทั่วไป เราหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น จะหันมาสนใจและหาแนวทางที่ชัดเจนในการที่จะยุติการคุกคามในคดีเหล่านี้” ตัวแทนองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชันเเนล ระบุ
@@ แฉประสบการณ์โดน “ฟ้องทิพย์” เสียเวลาสู้ 4 ปี
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ กล่าวว่า คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องมานานแล้ว อย่างกรณีคดีที่ตนเองและอีก 22 คนถูกบริษัทฟาร์มไก่ฟ้อง ซึ่งกรณีนี้เกี่ยวพันโดยตรงเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ ซึ่งคดีนี้ส่วนตัวมองว่าเป็น “คดีทิพย์” หรือ “ฟ้องทิพย์” คือผู้ฟ้องไม่ได้หวังผลที่จะได้รับความยุติธรรม แค่เพียงต้องการที่จะทำให้คนที่ตนเกลียดชัง หรือคนที่ออกมาพูดปกป้องคนอื่นหรือตรวจสอบการทำงานของตนถูกลดทอนความน่าเชื่อถือเท่านั้น
ส่วนตัวคิดว่าคดีแบบนี้ ศาลไม่น่ารับเลย ศาลเองก็รู้ว่ามันเป็นคดีทิพย์ คือ ไม่ได้ต้องการความยุติธรรม แต่ต้องการที่จะแกล้งคน ศาลน่าจะเอาเวลาและทรัพยากรของศาลไปใช้ในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนมากกว่าที่จะมาเสียเวลากับเรื่องแบบนี้ ในคดีที่โดนฟ้อง ใช้เวลา 4 ปีในการไต่สวนคดี เสียทั้งเวลา เสียทั้งค่าใช้จ่าย คิดว่าหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาทบทวน ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้คิดว่าสังคมไทยจะอยู่ไม่ได้
@@ ขอรัฐช่วยลดขั้นตอนการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม
น.ส.ภรณ์ทิพย์ สยมชัย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย กล่าวว่า จากที่เราต่อสู้คัดค้านเหมืองทองคำที่ส่งผลกระทบชุมชน ในหมู่บ้านมีชาวบ้านถูกฟ้อง 30 คดี 30 กว่าคน ต้องไปขึ้นศาลเกือบทุกอาทิตย์เป็นหลายเดือนหลายปี ทำมาหากินไม่ได้ และถูกรังเกียจจากคนที่สนับสนุนเหมือง การถูกฟ้องคดีเหมือนถูกกลั่นแกล้ง เพราะบางครั้งไปขึ้นศาลที่แม่สอด บางครั้งก็ต้องไปขึ้นศาลที่ภูเก็ต เป็นการเพิ่มภาระให้กับพวกเราที่เป็นเพียงชาวบ้าน เป็นเพียงเกษตรกร อยากเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ให้เร่งผลักดันยุติการฟ้องปิดปาก ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ รวมไปถึงนักสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ และให้ลดขั้นตอนในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ข้อเสนอเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ ป้องกันมิให้มีการคุกคามข่มขู่ และล่วงละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน หากเจ้าหน้าที่ของรัฐล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องมีการรับผิดชอบการละเมิดทางการเงิน ทางกระบวนการยุติธรรมและการเมือง รวมถึงให้รัฐบาลไทยจัดทำรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วย ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนด้านความโปรงใส่ เพื่อประกันให้เกิดการตรวจสอบและส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติที่จริงจัง
@@ วอนตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน
น.ส.สรารัตน์ เรืองศรี ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสหพันธ์เกษตรภาคใต้ กล่าวว่า เราต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และความมั่นคงทางอาหาร ที่ผ่านมาถูกเอกชนใช้กฎหมายข่มขู่คุกคามด้วยการฟ้องปิดปากพวกเรากว่า 12 คดี ใน 3 ชุมชน และมีอีก 1 ชุมชนก็ถูกคุกคามข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่ แต่ทุกคนก็อดทนและยืนหยัดต่อสู้ ให้เกิดสิทธิ ให้เข้าถึงที่ดินและผลักดันนโยบายให้รัฐจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน
ในการยุติการฟ้องปิดปาก ขอให้รัฐบาลใหม่ มีความจริงใจและจริงจัง ในการแก้ไขปัญหาโดยตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน พร้อมเสนอให้รัฐบาลไทยยุติการใช้ความรุนแรง และจับกุมผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในชุมชนโดยทันที สนับสนุนสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินของตนเอง รับผิดชอบนักปกป้องสิทธิฯ ที่ถูกฟ้องทั้งด้านการเงิน การเมือง และกระบวนการยุติธรรม
@@ รับปากให้ความเป็นธรรม 570 คดีฟ้องปิดปาก
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ซึ่งเข้าร่วมรับฟังในเวทีเสวนาตั้งแต่ต้น กล่าวว่า เมื่อวานตนได้เป็นประธานเปิดแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ถือเป็นการที่รัฐนำมติ ครม.มารับรอง
โดยในจำนวนแผนระยะที่ 1 เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาก ารประเมินที่เป็นรูปธรรมเรื่องสิทธิมนุษยชนยังไม่ได้เข้าไปดูแล แต่ในระยะที่ 2 จะมีประเด็น 4 ประเด็น คือ 1.ด้านแรงงาน ซึ่งก็ท้าทายว่า เราจะส่งเสริมแรงงานไปสู่มาตรฐานสากลได้อย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่เรายังไกลกับมาตรฐานสากล 2.ด้านชุมชนที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ 4.ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบริษัทข้ามชาติ
“ต้องเรียนว่าในปัจจุบันเรายังขาดกลไกในด้านการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นต้นว่าการมาให้ถ้อยคำ การมาให้ข้อมูลเบาะแส หรือการที่จะแสดงความบริสุทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรม จากที่ได้รับฟังข้อมูล ผมเป็นคนที่ทำงานในลักษณะอะไรที่เป็นปัญหา อย่าง 570 คดี เดี๋ยวจะลงไปดูแบบให้ความยุติธรรม ไม่ได้ลงไปดูแบบรายงาน ส่วนในการจะเข้าไปทำงานจริงๆ ก็หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายกับรัฐสภาในวันที่ 11 – 12 ส.ค.นี้”
“แต่สิ่งหนึ่งที่อย่างจะเรียนเรื่องที่รัฐบาลกำหนด คือว่าเราจะฟื้นฟูหลักนิติธรรม เพื่อให้มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ อันนี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ผู้เขียนร่างก็คือ World Justice Project เขาวัด Rule of Law (หลักนิติธรรม) ของเรา เราสอบตกค่อนข้างเยอะ เมื่อเรายกระดับอย่างน้อยที่สุด หลักนิติธรรมคือ 1.การจำกัดอำนาจของรัฐบาลก็ควรจะต้องมี 2.การปราศจากคอรัปชั่น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย 3.รัฐบาลต้องโปร่งใส 4.สิทธิพื้นฐานคนต้องเท่ากับคน 5.การบังคับใช้กฎหมายเป็นการทั่วไปทั้งหมดอย่างเท่าเทียม 6.กระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและทางอาญา อันนี้ไม่ใช่รัฐบาลมารับรอง แต่ผมคิดว่าถ้าเราจะไป Rule of Law ตรงนี้ต้องมี แม้เราจะอยู่ในลำดับที่ 40 แต่พอกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เราไปอยู่ที่ร้อยกว่า มันต่ำมาก โดยเฉพาะเรื่องผู้คุมขังอย่างเดียวเราก็ตกแล้ว”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า “จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ อยากจะเรียนว่า วันนี้ได้มาฟังนักปกป้องสิทธิฯ เหมือนเมื่อวานเราได้รับปากแล้วว่า เราจะมีแผนปฏิบัติการนักปกป้องสิทธิฯ อย่างน้อยที่สุด คุณอังคณา (อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) กับคณะในที่นี้ก็ผลักดันให้มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 นักปกป้องสิทธิฯในอดีตก็คือการถูกทรมาน และบังคับให้สูญหาย วันนี้เราต้องมีความเข้มแข็ง วันนี้ผมมารับฟังและอยากให้ส่งข้อมูลทั้งหมดเข้ามา ส่วนในเรื่องการปฏิบัติ ผมเชื่อว่ การจะให้ความยุติธรรมถ้วนหน้า ต้องให้ประชามีส่วนร่วม”