โยธาจังหวัดปัตตานีแจง เสาไฟไฮแมส 28 ต้น 18 ล้าน ไร้ทุจริต ไม่มีอะไรผิดปกติเลยแม้แต่ประเด็นเดียว
จากกรณีผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการติดตั้ง “เสาไฟไฮแมส” เพิ่มเติม หลังสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดปัตตานี ลงพื้นที่จริง เพราะประชาชนร้องเรียนว่า เสาไฟ 28 ต้น ดับสนิทมืดทั้งหมด ใช้การไม่ได้ โดยสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัด พบความผิดปกติ สร้างเสาไฟ 10 ต้นนอกแปลน และโครงการถูกทิ้งร้าง อุปกรณ์ถูกขโมยเรียบ
ต่อมาเจ้าหน้าที่ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี ได้ติดต่อผู้สื่อข่าว ขอชี้แจงรายละเอียดโครงการเสาไฟไฮแมส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะปากแม่น้ำปัตตานี พร้อมงานปรับภูมิทัศน์ หมู่ 6 บ้านสวนสมเด็จ 9 ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี
ล่าสุดวันนี้( 5 ก.ย.66) โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี ได้แถลงข่าวโดยขอให้ผู้สื่อข่าวไม่เปิดเผยชื่อ-นามสกุลของตน แต่เปิดหน้าได้ โดยชี้แจงเรียงประเด็น ดังนี้
-เสาไฟฟ้าไฮแมส ไม่ได้ติดตั้งนอกพื้นที่โครงการปากแม่น้ำปัตตานี โดยเขื่อนที่สร้างใหม่เป็นเขื่อนที่ก่อสร้างต่อเนื่องจากเขื่อนเดิม มีความยาว 480 เมตร ในส่วนนี้มีสองกิจกรรมหลัก คือ เขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กความยาว 500 เมตร เสาไฟไฮแมส 24 ต้น ค่าก่อสร้าง 75 ล้านบาท บริษัท ภรณ์เพียร จำกัด เป็นผู้รับจ้างทั้งหมด
จุดประสงค์ของการสร้างเสาไฟฟ้าไฮแมส เพื่อสามารถปรับและควบคุมการส่องสว่างของโคมไฟไปในทิศทางของแม่น้ำปัตตานี และส่องไปในทิศทางสถานที่ราชการ หรือแนวถนน จำนวนด้านละ 4 ดวง โดยมี ระยะห่างกัน ต้นละ 50 เมตร
โดยข้อกำหนดของผู้ผลิตเสาไฟ บริษัท ฉื่อจินฮั้ว จำกัด กำหนดไว้ว่า ระยะห่างแต่ละต้น จะต้องมากกว่าสองเท่าของความสูงเสาไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 26 ก.พ.66 คณะกรรมการตรวจการจ้างมีมติเห็นชอบให้ย้ายตำแหน่งเสาไฟฟ้า เนื่องจากมีการติดตั้งเสาไฟฟ้าริมถนนในโครงการถนนของกรมทางหลวงชนบทจังหวัดปัตตานี โดยมีข้อสังเกตว่า ถ้ายังติดตั้งที่เดิม ความสว่างจะมากเกินความจำเป็น สิ้นเปลืองงบประมาณ คณะกรรมการฯ จึงให้ย้ายเสาไฟฟ้าจำนวน 6 ต้น มาบริเวณริมถนนทางหลวงชนบท ซึ่งกำหนดสัญลักษณ์ในแบบแปลน
และย้ายเสาไฟฟ้า จำนวน 8 ต้น บริเวณตามแนวเขื่อนเดิม ซึ่งไม่ได้มีกำหนดตำแหน่งไว้ในรูปแบบแปลน แต่กำหนดด้วยข้อความที่หมายเหตุในแบบแปลนว่า "เสาไฟฟ้าเพิ่มจากแนวเขื่อนเดิม จำนวน 8 ต้น รวมทั้งหมด จำนวน 28 ต้น และ ตำแหน่งเสาไฟฟ้าสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยอยู่ในดุลยพินิจของช่างควบคุมงาน และคณะกรรมการตรวจการจ้าง"
ฉะนั้นจึงไม่มีเสาไฟฟ้าสร้างนอกแปลน
@@ ยันไม่แพง ต่ำกว่าราคากลางต้นละ 8 พัน
ทั้งยังยืนยันว่า เสาไฟฟ้าราคาไม่แพง ราคากลาง ค่างานต้นทุน เฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ไม่รวมงานโครงสร้างฐานรากเสาไฟ ราคา 552,383 บาทต่อต้น ราคารวม 15,466,724 บาท ต่อ จำนวน 28 ต้น
ราคาในสัญญา ค่างานต้นทุน เฉพาะงานที่เกี่ยวซ้องกับไฟฟ้าไม่รวมงานโครงสร้างฐานรากเสาไฟ ราคา 543,917 บาทต่อต้น ราคารวม 15,229,676 บาท ต่อจำนวน 28 ต้น คิดเป็นราคาในสัญญาจ้าง ต่ำกว่าราคากลาง 8,466 บาทต่อต้น คิดเป็นราคาในสัญญาจ้าง ต่ำกว่า ราคากลาง 237,048 บาท ต่อจำนวน 28 ต้น
@@ แจงไฟดับเพราะอุปกรณ์ถูกขโมย - ซ่อมแล้วใช้ได้ 2 ต้น
ในส่วนของเสาไฟที่ดับ เพราะสายไฟถูกขโมย ตลอดเวลาที่ผ่านมา เสาไฟไฮแมส ทั้ง 28 ต้น ไฟไม่ติด มีการขโมยสายไฟและอุปกรณ์ ไม่ใช่ไม่ติดตั้งแต่เสร็จงาน ซึ่งมีการส่งงานงวดสุดท้ายปลายเดือน ก.ย.62 ตั้งแต่เดือน ต.ค.62 ถึงเดือน ก.ค.63 มีเอกสารแสดงการจ่ายค่าไฟฟ้า
ในส่วนของ ป.ป.ช. ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบเอกสาร และหากมีความต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ทาง ป.ป.ช.จะแจ้งเข้ามาอีกครั้ง ตอนนี้ยังไม่ได้แจ้งมา ล่าสุดมีการซ่อมไฟใช้การได้แล้วจำนวน 2 ต้น และในวันที่ 20 ก.ย.นี้ จะใช้การได้อีกส่วนหนึ่ง
@@ อ้างระบบผิด ชื่อบริษัทชนะประมูลโผล่ 2 แห่ง
มีประเด็นที่ "ทีมข่าวอิศรา" เคยตรวจสอบข้อมูลในระบบค้นหาข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า มีชื่ออีกบริษัท คือ บริษัท แล็บมาสเตอร์ แอ๊ดวานซ์ จำกัด ชนะการประมูลโครงการนี้ด้วย
ประเด็นนี้ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี ชี้แจงว่า ไม่ทราบว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน ยืนยันว่าโครงการชื่อเดียวกัน แค่คาดว่า น่าจะเกิดจากระบบมีปัญหา เพราะโครงการนี้ บริษัท ภรณ์เพียร จำกัด รับงานทั้งหมดเพียงบริษัทเดียว
ส่วนกรณีที่ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปหาพนักงานบริษัทแล้วได้รับข้อมูลที่ไม่ชัดเจนนั้น ต้องเข้าใจว่า บางทีบริษัทรับเหมาพวกนี้ ตัวบริษัทจริงเป็นออฟฟิศเล็กๆ เท่านั้น เพราะทุกส่วนจะอยู่หน้างานกันหมด ไม่แปลกที่พนักงานไม่ทราบ