กิจกรรมของ รมว.กลาโหมคนใหม่ นายสุทิน คลังแสง นอกจากเผยกับสื่อมวลชนว่าจะเดินสายพบ “อดีตทหารใหญ่” เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการทำงาน
โดยได้เริ่มเข้าพบ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีต รมว.กลาโหม ซึ่งเคยสังกัดพรรคเพื่อไทยแล้ว และยังมีคิวอดีตบิ๊กนายทหารที่เคยมีบทบาททางการเมืองอีกหลายคน ทั้ง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต หรือ “บิ๊กโอ๋” พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หรือ “บิ๊กเหวียง” และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือ “บิ๊กจิ๋ว” นั้น
ล่าสุดมีรายงานว่า นายสุทิน ได้ทาบทาม พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ให้ทำหน้าที่ “ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงกลาโหม” ซึ่งก็หมายถึงผู้ช่วยนายสุทิน ในฐานะ รมว.กลาโหมนั่นเอง
ส่วนตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี มีข่าวทาบทาม พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเคยมีข่าวเป็นแคนดิเดต รมว.กลาโหม ในรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยด้วย แต่ช่วงหลังชื่อหลุดไป
นอกจากนั้นยังอาจมีการตั้ง พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นที่ปรึกษา
มีรายงานว่า นายสุทิน ได้มอบหมายให้ พล.อ.นิพัทธ์ ร่างนโยบายในส่วนของกระทรวงกลาโหมที่เตรียมแถลงของที่ประชุมรัฐสภา และเป็นแนวทางการทำงานในระยะ 4 ปีข้างหน้า ทั้งนโยบายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่ง พล.อ.นิพัทธ์ ได้เตรียมการให้เกือบ 100% แล้ว
@@ เปิดประวัติ “บิ๊กแป๊ะ - นิพัทธ์” ทหารประชาธิปไตย
“ทีมข่าวอิศรา” เคยรายงานประวัติของ “บิ๊กแป๊ะ” เอาไว้ เพื่อทำความรู้อดีตบิ๊กสีเขียวที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “นายทหารประชาธิปไตย” รายนี้
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก หรือ “บิ๊กแป๊ะ” เป็นอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชื่อของ พล.อ.นิพัทธ์ ถือว่าได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางจากฟากฝั่งผู้สนับสนุนฝ่ายเสรีนิยม เพราะมีภาพลักษณ์เป็น “นายทหารประชาธิปไตย” เคยได้รับการคาดหมายว่าอาจได้ดำรงตำแหน่ง รมช.กลาโหม หากพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีแผนนั่งเก้าอี้นายกฯ ควบ รมว.กลาโหม
พล.อ.นิพัทธ์ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 หรือ ตท.14 และนักเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 25 ซึ่งนายทหารรุ่นนี้ก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ถึง 2 คน คือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร และ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช (เหมือนกับ ตท.6 ที่เป็น ผบ.ทบ. 2 คนต่อเนื่องกัน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อด้วย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน) ขณะที่ พล.อ.นิพัทธ์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในชีวิตราชการทางฝั่งปลัดกระทรวงกลาโหม
พล.อ.นิพัทธ์ เป็นนายทหารที่รักเรียน ศึกษาต่อปริญญาโทสาขาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ด้านการจัดการ จากมหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ และยังจบหลักสูตรทางทหารจากหลายประเทศ ทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เป็นนายทหารที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ผ่านงานทั้งหน่วยรบ หน่วยบริหาร และหน่วยธุรการ
กล่าวคือ ผ่านทั้ง ทบ. หรือกองทัพบก โดยเริ่มชีวิตราชการ ติดร้อยตรีครั้งแรกเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ ร.21 รอ. หน่วยเดียวกับ “3 ป.” ซึ่งก็คือ สายเลือด “ทหารเสือราชินี” เช่นเดียวกัน
นอกจากนั้นยังผ่านงาน “กองทัพไทย” เคยเป็น “เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร” อย่างยาวนานถึง 4 ปี ก่อนโยกเข้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นปลัดกลาโหมก่อนโดนรัฐประหาร
“บิ๊กแป๊ะ” ยังมีประสบการณ์จากอาเจะห์ เคยไปเป็นผู้สังเกตการณ์การวางอาวุธเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างอาเจะห์ กับอินโดนีเซีย กระทั่งได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงจากประธานาธิบดีแดนอิเหนา
และจากประสบการณ์ที่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของอาเจะห์ ซึ่งนักวิชาการหลายคนมองว่ามีส่วนคล้ายกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จึงเคยมีหลายเสียงสนับสนุนให้ พล.อ.นิพัทธ์ ข้ามห้วยไปเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเจรจาดับไฟใต้ แต่สุดท้ายไม่สามารถฝ่าด่านประเพณีของกองทัพบกไปได้ (แม่ทัพต้องมาจากสายคุมกำลัง และเป็นลูกหม้อ ทบ. แต่ พล.อ.นิพัทธ์ ไปเติบโตในสายกองทัพไทย)
แต่ พล.อ.นิพัทธ์ ก็ได้ร่วมกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้จริงๆ เมื่อปี 2556 รัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจเปิดโต๊ะพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น “แบบเปิดเผย-เป็นทางการ” ครั้งแรกตั้งแต่มีปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นต้นมา โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก “บิ๊กแป๊ะ” เป็น 1 ใน 3 ทหารเสือ แกนนำคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย ประกอบด้วย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ในขณะนั้น เพื่อน ตท.14 ของ พล.อ.นิพัทธ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ พล.อ.นิพัทธ์ เคยทำงานเคียงข้าง “อดีตนายกฯปู” ในช่วงเผชิญวิกฤติทางการเมือง จากการชุมนุมของกลุ่มนกหวีด “กปปส.”
ช่วงนั้น พล.อ.นิพัทธ์ ในฐานะปลัดกระทรวงกลาโหม สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2549 หลัง นายกฯยิ่งลักษณ์ ยุบสภา แต่ต่อมามีการชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส. จนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และการเมืองเดินสู่ทางตัน
นอกจากนั้น พล.อ.นิพัทธ์ ยังอยู่เบื้องหลังการวางแผนบังคับใช้กฎหมายพิเศษ คือ “พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ” แบบจำกัดพื้นที่ ในห้วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่ไม่กระทบสิทธิและไม่ละเมิดเสรีภาพการชุมนุม ทำให้คณะรัฐมนตรียุคนั้นรอดจากการถูกชี้มูลกล่าวโทษโดย ป.ป.ช.ในเวลาต่อมา
ห้วงเวลานั้นจะเรียกว่า “บิ๊กแป๊ะ” เป็นกุนซือและมันสมองในงานความมั่นคงให้กับรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ก็ไม่ผิด ที่สำคัญตนเองยังได้รับผลกระทบต่อชีวิตราชการ ถูกสั่งย้ายเข้ากรุ “ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 โดยคณะ คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทั่งต้องเกษียณอายุราชการไปอย่างเจ็บช้ำ
ฉะนั้นนอกจากภาพการทำงานเคียงข้างรัฐบาลประชาธิปไตย หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว พล.อ.นิพัทธ์ ยังเป็นนายทหารระดับสูงเพียงคนเดียวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการรัฐประหารปี 2557 และแสดงท่าที “ยืนตรงข้าม” กับคณะรัฐประหาร และการยึดอำนาจมาโดยตลอด จนได้รับฉายา “นายทหารประชาธิปไตย”