เป็นประเด็นขึ้นมาอีกแล้ว สำหรับกิจกรรมเดินพาเหรดของนักเรียนโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
คราวนี้โซเชียลฯแชร์สนั่น มีเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ แต่งกายด้วยชุดมลายู ถือรูปผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่เสียชีวิตจากการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ พูดง่ายๆ คือ “ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฯ” เดินอยู่ในขบวนพาเหรด เหมือนเชิดชูเป็นฮีโร่ โดยที่เด็กอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบุคคลในรูปที่ตัวเองถือนั้นเป็นใคร
ภาพที่แชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์ชายแดนใต้ เป็นกิจกรรมขบวนพาเหรดของโรงเรียนสอนศาสนาแห่งหนึ่งในพื้นที่ ปรากฏว่าเด็กๆ ที่ร่วมในขบวนพาเหรด แต่งชุดมลายูสวยงาม น่ารัก แต่ที่หลายคนสะดุดตาและตกใจคือ ในมือเล็กๆ ของเด็กๆ กลับถือรูปผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฯ นับรวมแล้วประมาณ 9 รูป
เรื่องนี้เกิดเป็นกระแสวิจารณ์อย่างมาก มีการนำภาพไปแชร์ต่อ และพิมพ์ตั้งคำถามบนภาพ เช่น สถานศึกษาหรือแหล่งผลิตผู้ก่อการร้าย? นี่เป็นตัวอย่างข้อความที่โลกโซเชียลฯแชร์กัน สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนที่เห็นภาพเหล่านี้
@@ งานกีฬา “ตาดีกาสัมพันธ์” ที่ปะนาเระ
หลังมีกระแสฮือฮาและวิจารณ์กันสนั่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจึงเข้าไปตรวจสอบ พบว่าเป็นภาพจากกิจกรรมพิธีเปิดกีฬา “ตาดีกาสัมพันธ์” ที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมานี้เอง โดยกิจกรรมนี้ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.ในพื้นที่ ร่วมกับทางโรงเรียน ช่วยกันจัดขึ้น
เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง บอกกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ได้สอบถามไปยังนายก อบต.ในพื้นที่ เชื่อว่าไม่น่าจะมีส่วนรู้เห็น แต่เป็นการจัดฉากจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีกลุ่มหนึ่ง หลอกให้เด็กนักเรียนถือภาพ เพื่อนำมาเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์
“เด็กโดนคนกลุ่มนี้หลอกให้ถือภาพ ตอนนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลและประวัติผู้ต้องสงสัย อาจมีบางรายมีบทบาทในโรงเรียนด้วย จึงบอกเด็กให้ถือภาพได้” เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบเรื่องนี้ เผยกับทีมข่าว
@@ เปิดประวัติ 2 ใน 4 ภาพแกนนำป่วนใต้
สำหรับรูปผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่เสียชีวิตจากการปะทะ และมีการนำมาให้เด็กถือในขบวนพาเหรด ประกอบด้วย นายอาแดร์ เจ๊ะมุ, นายมะรอโซ จันทรวดี, นายสาการียา สาอิ และ นายอับดุลฮากัม เจะมะ
โดย นายมะรอโซ ถูกวิสามัญฯพร้อมพวกรวม 16 ศพ ในเหตุการณ์บุกโจมตีฐานทหารในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2556 เป็นเหตุการณ์ยิงปะทะที่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิตมากที่สุดตลอด 19 ปีไฟใต้ และนายมะรอโซ มีประวัติเป็นผู้ก่อความไม่สงบคนสำคัญ ก่อคดีอาญาและก่อเหตุรุนแรงมามากมายก่อนเสียชีวิต
ขณะที่ นายสาการียา สาอิ เพิ่งเสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ที่นำกำลังเข้าปิดล้อมบ้านหลังหนึ่งในตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมานี้เอง โดยหลังเกิดเหตุ มีวัยรุ่นและเยาวชนแห่ไปรับศพ รวมทั้งไปร่วมแห่ศพไปฝังที่กุโบร์ หรือสุสาน มีภาพออกมาไม่ต่างจากวีรบุรุษ
ทั้งๆ ที่ในเหตุการณ์เดียวกันมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพลีชีพอีก 1 ราย ทิ้งลูกน้อยเป็นกำพร้า และภรรยาเป็นหม้าย ขาดเสาหลักของครอบครัว แต่กลับไม่มีกลุ่มเยาวชนไปเชิดชู ยังดีที่หน่วยงานรัฐ และกองทัพภาคที่ 4 กับประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ให้ความสำคัญ และให้ความช่วยเหลือตามสิทธิอย่างเต็มที่ เพราะถือว่าช่วยเหลือทางราชการ
นี่คือตัวอย่าง 2 คนที่อยู่ในภาพ ซึ่งมีผู้ไม่หวังดีนำรูปไปให้เด็กถือในขบวนพาเหรด เกิดคำถามว่าสมควรให้เด็กถือภาพแบบนี้หรือไม่
@@ จี้โรงเรียน - อปท. สอบหาที่มา
สำหรับกระแสวิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย ค่อนข้างเห็นตรงกันว่า โรงเรียนหรือครูในโรงเรียน และองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ควรตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะถือว่าไม่เหมาะสม ถือเป็นการใช้เด็กเป็นเครื่องมือ กระทบต่อภาพลักษณ์โรงเรียน เหมือนไปสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ
ขณะเดียวกันก็ต้องเห็นใจญาติของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเหล่านั้นที่ถูกวิสามัญฯ เพราะคงไม่มีใครอยากให้เรื่องราวของพวกเขาถูกนำมาพูดถึงอีก เนื่องจากเจ้าตัวก็เสียชีวิตไปแล้ว
นางแมะแย (ขอสงวนนามสกุล) ชาวบ้านในอำเภอปะนาเระ ซึ่งไปร่วมกิจกรรมขบวนพาเหรดกีฬาตาดีกาสัมพันธ์ บอกว่า กิจกรรมสนุกดี ได้เห็นเด็กๆ แต่งตัวสวยงาม แต่ตนไม่ได้สังเกตว่ามีการถือภาพผู้ก่อความไม่สงบในงานตามที่มีการแชร์ภาพออกมา
“ทีมข่าวอิศรา” สอบถามไปยัง บุษยมาส อิศดุลย์ ประธานกลุ่มบ้านบุญเต็ม ซึ่งทำงานดูแลคุ้มครองสิทธิของเยาวชนที่โดนดำเนินคดีอาญา บุษยมาส บอกว่า ไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเลย ข้อมูลข่าวสารถูกบิดเบือน เป็นการเสี้ยมสอนให้เด็กเข้าใจในทางที่ผิดเพี้ยนหรือเปล่า ชุดข้อมูลที่โปรแกรมใส่ลงไปในชุมชน คือฝีมือใครกันแน่ เจ้าหน้าที่รัฐจะตั้งรับหรือทำงานเชิงรุก จะแก้ไขอย่างไรต้องรีบดำเนินการ ผู้นำชุมชนว่าอย่างไร สถานศึกษามีวัตถุประสงค์อะไรแอบแฝงหรือไม่
“รู้สึกคำถามมันมากมาย” บุษยมาส กล่าว