“เจ๊ะกูแม กูเต๊ะ” สิ้นชื่อ หลังป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เสียชีวิตอย่างสงบในโรงพยาบาลที่ตรังกานู มาเลเซีย เผยพื้นเพเป็นชาวยะรัง ปัตตานี เรียนจบปริญญาจากอินโดฯ ก่อนกลับมาเป็นครูสอนศาสนา และย้ายไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งขบวนการต่อสู้กับรัฐไทย เน้นใช้ความรุนแรง เรียกค่าคุ้มครอง ก่อนร่วมวง “มารา ปาตานี” พูดคุยสันติสุข แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
วันอังคารที่ 11 ก.ค.66 นายกัสตูรี มะห์โกตา ประธานองค์การปลดปล่อยสหปัตตานี หรือ พูโล (PULO-MKP) เปิดเผยว่า นายเจ๊ะกูแม กูเตะ หัวหน้าขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (Gerakan Mujahideen Islam Patani) หรือ G.M.I.P ได้กลับสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์แล้ว ด้วยวัย 70 ปี
สาเหตุของการเสียชีวิตมาจาก “โรคหลอดเลือดสมอง” หรือ สโตรก โดยก่อนที่เจ๊ะกูแมจะจากไป ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย และเมื่อเสียชีวิต ครอบครัว ญาติมิตรได้ทำพิธีฝังที่สุสาน (กุโบร์) ในท้องที่ดังกล่าวด้วย
จากการตรวจสอบข้อมูลในแฟ้มประวัติของฝ่ายความมั่นคง พบว่า นายเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ มีชื่อและนามสกุลจริงว่า “ดอรอแม กูเต๊ะ” มีชื่อจัดตั้งที่ 1 คือ เจ๊ะกูแม โต๊ะอาเยาะ ชื่อจัดตั้งที่ 2 เจ๊ะกูแม กูเต๊ะ ชื่อจัดตั้งที่ 3 เจ๊ะกูแม อาหะหมัด และชื่อจัดตั้งที่ 4 เจ๊ะกูแม อับดุลเราะมัน
นอกจากนี้ยังมีชื่อในมาเลเซียว่า “อับบัส บิน อาหมัด” ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่หมู่ 4 บ้านยือราแป ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ส่วนสถานที่พำนักในมาเลเซีย อยู่ในเขตบาตูโระ อำเภอกัวลาตรังกานู รัฐตรังกานู มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี หรือ G.M.I.P
เจ๊ะกูแม จบการศึกษาทางด้านศาสนา ชั้น 5 จากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาภาษาอังกฤษ-อาหรับ จากวิทยาลัยเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย
หลังจบการศึกษาจากอินโดนีเซีย ได้กลับมาสอนด้านศาสนาที่โรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่ จ.ปัตตานี ก่อนจะไปอาศัยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย และร่วมกิจกรรมกับกลุ่มขบวนการมูจาฮีดีนปัตตานี (Gerakan Mujahideen Patani) หรือ G.M.P ในห้วงที่มี นายวายุดดิน มูฮัมหมัด เป็นหัวหน้า
ข้อมูลจากแฟ้มประวัติระบุว่า หลังจากร่วมกลุ่ม G.M.P ได้ไม่นาน ก็เกิดความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ด้านการเงิน ทำให้นายเจ๊ะกูแมแยกตัวออกมาจากกลุ่ม G.M.P และมาตั้งกลุ่มของตนขึ้นใหม่ ใช้ชื่อว่า ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (Gerakan Mujahideen Islam Patani) หรือ G.M.I.P โดยเพิ่มคำว่า Islam เข้าไปในชื่อ พร้อมทั้งรวบรวมสมัครพรรคพวกซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นเข้าเป็นสมาชิก
ข้อมูลบางแหล่งระบุว่า กลุ่มวัยรุ่นที่สมัครเข้าร่วมในขบวนการ ส่วนใหญ่ว่างงาน และบางส่วนแอบแฝงเป็นมิจฉาชีพ
อย่างไรก็ดี เจ๊ะกูแมได้พยายามขยายแนวคิดการต่อสู้ของกลุ่มตนไปยังบรรดาบุคคลและแนวร่วมที่มีแนวคิดทำนองเดียวกัน เมื่อหาสมาชิกได้ก็ได้จัดทำบัตรประจำตัวสมาชิก G.M.I.P ที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะที่รัฐตรังกานู ช่วงหนึ่งมีสมาชิกจำนวนมาก โดยบัตรสมาชิก G.M.I.P มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นมากกว่าบัตรของพูโลเก่าหรือพูโลใหม่
สำหรับแนวคิดของขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี มักใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติการ โดยเน้นการข่มขู่กรรโชกทรัพย์ประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อหารายได้ให้กับขบวนการ ซึ่งในอดีตกลุ่ม G.M.I.P ได้ก่อเหตุสร้างสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายครั้ง และ นายเจ๊ะกูแม ได้นัดประชุมหารือร่วมกับแกนนำของขบวนการอื่นๆ ทั้งพูโลเก่า พูโลใหม่ เพื่อสร้างเอกภาพในการต่อสู้กับรัฐบาลไทย
สาเหตุที่ นายเจ๊ะกูแม ได้รับความเชื่อถือค่อนข้างมาก เพราะพื้นเพเป็นคนมีความรู้ จบการศึกษาสูง และเคยเป็นครูบาอาจารย์
อิทธิพลของขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี แผ่กว้างช่วงก่อนเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬารจากค่ายทหารใน อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 หลังจากปล้นปืนก็มีเหตุรุนแรงรายวันต่อเนื่องมา แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า นายเจ๊ะกูแม และขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการปล้นปืน และน่าจะหมดอิทธิพลไปตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2547 ด้วยซ้ำ โดยตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา กลุ่มขบวนการที่มีอิทธิพลสูงสุดคือ “บีอาร์เอ็น”
กระทั่งถึงช่วงที่มีการเปิดโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุข ระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทย ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับกลุ่ม “มารา ปาตานี” นายเจ๊ะกูแมได้ปรากฏตัวเป็นหนึ่งในกลุ่มขบวนการที่อยู่ใน “มารา ปาตานี” ซึ่งเสมือนเป็น “องค์กรร่ม” หรือ umbrella organization ของกลุ่มที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนจำนวน 6 กลุ่ม แต่การพูดคุยกับกลุ่มมารา ปาตานี ก็ไม่ยั่งยืน และล้มเลิกไปในที่สุด
นายเจ๊ะกูแม เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบางแขนงว่า พร้อมเข้าร่วมพูดคุยกับฝ่ายไทยอีกครั้ง เมื่อไทยมีรัฐบาลใหม่และมีดำเนินนโยบายกระบวนการสันติภาพในอนาคต แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ร่วมโต๊ะพูดคุยโต๊ะไหนอีก และได้เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 11 ก.ค.66