หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีลอบวางระเบิดป่วนกรุงเทพฯ ในพื้นที่ส่วนราชการและย่านเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นช่วงระหว่างวันที่ 13 ก.ค.62 - 2 ส.ค.62 (ตั้งแต่เตรียมวางแผน กระทั่งถึงวันลงมือ)
โดยศาลพิพากษาสั่งจำคุกตลอดชีวิต นายลูไอ แซแง จำเลยที่ 1 และ นายวิลดัน มาหะ จำเลยที่ 2 แต่ทั้งสองให้การเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีในชั้นซักถามโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงลดโทษเหลือคนละ 39 ปี 16 เดือน ส่วน นายมูฮัมหมัดอิลฮัม สะอิ ศาลพิพากษาสั่งจำคุก 164 ปี 72 เดือน 240 วัน แต่ลงโทษจำคุกจริงเป็นเวลา 50 ปีนั้น
คดีนี้มีประเด็นที่เป็นข้อสังเกตจากทนายความของฝ่ายจำเลย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม, อดีตคณะอนุกรรมการรณรงค์ต่อต้านการซ้อมทรมานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตประธานแอมเนสตี้ ประเทศไทย
@@ เปิดชัดๆ 4 ข้อสังเกต “ผิดปกติ”
ข้อสังเกตที่ว่านี้ น.ส.พรเพ็ญ บอกว่า เป็นสิ่งที่พบเจอในความไม่ปกติของการดำเนินการต่อจำเลยทั้งสาม มีหลายข้อด้วยกัน ได้แก่
1.จำเลยไม่ได้ถูกนำตัวไปดำเนินคดี ณ สถานีตำรวจของพื้นที่เกิดเหตุ (กรุงเทพมหานคร) แต่กลับนำตัวไปสืบสวนสอบสวนที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีกฎหมายพิเศษ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก ที่สามารถป้องกันการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ และควบคุมผู้ต้องหาได้ถึง 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายศาล
2.จำเลยถูกคุมขังในสภาพที่ไม่มีทนาย คนใกล้ชิดจากครอบครัว หรือคนที่สามารถไว้วางใจได้ขณะถูกสอบสวนและบันทึกปากคำรับสารภาพ
3.การทำบันทึกปากคำรับสารภาพจากวีดีโอของเจ้าหน้าที่ เป็นเพียงแค่ลักษณะอ่านให้ฟังโดยให้จำเลยพยักหน้าหรือยกมือหากมีส่วนไหนที่ต้องการค้านกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งการบันทึกปากคำโดยปกติ คือการซักแบบถามตอบ
4.ปรากฏบันทึกจากใบรับรองแพทย์ของจำเลยที่สามว่ามีแผลขนาดใหญ่ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร
@@ จนท.แจงเคยก่อเหตุที่ชายแดนใต้ ใช้อำนาจตาม ม.12
ข้อสังเกตของฝั่งทนายนับว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะการควบคุมตัวผู้ต้องหากลับไปซักถามและสอบปากคำในพื้นที่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษ คือ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่ส่งตัวให้พนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ คือ สน.ปทุมวัน
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบเรื่องนี้กับฝ่ายตำรวจ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ ได้รับคำชี้แจงว่า สืบเนื่องจากมีพยานหลักฐานที่เชื่อมโยงกลุ่มคนร้ายว่าเคยก่อเหตุที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ทำให้มีการขอออกหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาไปเข้าสู่กระบวนการซักถามตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้อำนาจควบคุมตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
มาตรา 12 “ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามประกาศในมาตรา 11 (1) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจหรือศาลอาญาเพื่อขออนุญาตดำเนินการ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน และต้องควบคุมไว้ในสถานที่ที่กำหนด ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถานหรือเรือนจำ โดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลเพื่อขยายระยะเวลาการควบคุมตัวต่อได้อีกคราวละ 7 วัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมตัวทั้งหมดต้องไม่เกินกว่า 30 วัน เมื่อครบกำหนดแล้ว หากจะต้องควบคุมตัวต่อไป ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำรายงานเกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลนั้นเสนอต่อศาลที่มีคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง และจัดสำเนารายงานนั้นไว้ ณ ที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ญาติของบุคคลนั้นสามารถขอดูรายงานดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาที่ควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้
การร้องขออนุญาตต่อศาลตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการขอออกหมายอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม”
มาตรา 11 (1) “ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่า จะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง”
@@ กฎหมายพิเศษ...ยาวิเศษหรือละเมิดสิทธิ์?
ขณะที่ข้อสังเกตจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่ ถึงความจำเป็นในการนำกฎหมายพิเศษมาใช้ในคดีบึ้มป่วนกรุง ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 3 คน มีดังนี้
1.พฤติการณ์ของกลุ่มจำเลย และแผนประทุษกรรมตามคำฟ้อง ชี้ชัดว่าคนกลุ่มนี้วางแผนมาเป็นอย่างดี ทำระเบิดเอง นำไปวางเอง มีจุดนัดพบรับ-ส่งระเบิด จุดพักจุดแวะเพื่อเปลี่ยนชุด เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ก่อนหนีต่อ และวางแผนหนีออกนอกพื้นที่ก่อเหตุอย่างรวดเร็ว
2.การวางแผน ไปประชุมวางแผนกันถึงประเทศเพื่อนบ้าน และมีกระบวนการจัดหาอุปกรณ์เพื่อนำมาประกอบระเบิด มีการแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระบบ แยกหน้าที่เป็นส่วนๆ และมีระบบตัดตอน หรือ คัตเอาต์ ไม่ให้เชื่อมโยงถึงกันหากคนใดคนหนึ่งถูกจับกุม
ข้อมูลเหล่านี้ สะท้อนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เจ้าหน้าที่จะสกัดหรือป้องกัน และติดตามตัวผู้ต้องหาได้ หากไม่มีปัจจัยแวดล้อมอื่นช่วย และไม่มี “กฎหมายพิเศษ” ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากกว่าคดีอาญาปกติ
3.ฮีโร่ที่ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ถูกวางระเบิดจนได้รับความเสียหาย คือ แม่ค้าขายไส้กรอกอีสาน ซึ่งเป็นทั้งคนแจ้งเจ้าหน้าที่ถึงความผิดปกติ และเป็นพยานปากเอกชี้ตัวคนร้าย
4.จำเลย 2 คนแรก โดนโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่เพราะคำให้การที่เป็นประโยชน์ในชั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นช่วงของการใช้กฎหมายพิเศษ 30 วันแรก นอกจากศาลจะรับฟังแล้ว ยังนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ถึง 1 ใน 3 จากจำคุกตลอดชีวิต เหลือลงโทษ 39 ปี 16 เดือน
ตรงนี้พอจะอธิบายคำถามว่า การใช้กฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่มุ่งแต่จะละเมิดสิทธิผู้ต้องหา หรือผู้ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่
@@ ได้เวลาทบทวน...ใครควรทบทวน?
“ทีมข่าวอิศรา” รายงานเพิ่มเติมว่า รายละเอียดของคดีนี้ น่าคิดว่าต้องมีการชั่งน้ำหนักถึงความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในคดีความมั่นคงลักษณะนี้ และพื้นที่ความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปหรือไม่ เพราะ “ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่” โดยเฉพาะคณะทำงานสันติภาพชายแดนใต้ ได้ประกาศนโยบายหาเสียง และเตรียมเสนอให้ทบทวนยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทันที
เรื่องนี้จะกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หรือไม่ และปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา ผู้ถูกดำเนินคดีได้จริงหรือเปล่า เป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป