การเจรจาเกี่ยวกับตำแหน่ง “ประธานสภา” ระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยยังไม่ลงตัว แม้กำลังจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาคนใหม่ในวันที่ 4 ก.ค.ที่จะถึงนี้แล้วก็ตาม
สถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่เหลืออีก 6 พรรค พากันลุ้นกันใจหายใจคว่ำ แต่พรรคที่แสดงท่าทีโดดเด่นมากที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่พูดให้กำลังใจ คือ “พรรคประชาชาติ” ภายใต้การนำของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค
เพราะทั้งสองคนยืนยันว่า พรรคประชาชาติพร้อมขจัดทุกเงื่อนไข โดยเฉพาะหากเกี่ยวข้องกับพรรคประชาชาติเอง เนื่องจากเป้าหมายสุดท้ายคือต้องการตั้งรัฐบาลของฝ่ายประชาธิปไตยให้ประสบความสำเร็จโดยเร็วที่สุด
เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาชาติ ก็คือ ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 โดยธรรมเนียมเป็นโควต้าของพรรคอันดับ 3 ซึ่งใน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล คือ พรรคประชาชาติ ซึ่งมีอยู่ 9 เสียง
ที่ผ่านมามีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยอาจยอมสละตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับพรรคก้าวไกลตามที่พรรคอันดับ 1 ต้องการ แต่ต้องแลกด้วยการให้พรรคเพื่อไทยได้ตำแหน่งรองประธานสภาฯ ทั้ง 2 ตำแหน่งที่เหลือ
เรื่องนี้กระทบกับพรรคประชาชาติโดยตรง เพราะจะทำให้พรรคเสียโควต้ารองประธานสภาคนที่ 2 ซึ่งโดยศักดิ์ศรีแล้วอาจเทียบเท่าตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ระหว่างทางของการเจรจาเพื่อจบปัญหาเกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภา ยังมีข้อเสนอจากบางฝ่ายให้ “ผ่าทางตัน” โดยให้ นายวันมูหะหมัดนอร์ มะนา รับตำแหน่งประธานสภาไปเลย ในฐานะคน “คนกลาง” แล้วให้พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยได้ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนละ 1 ตำแหน่งแทน
ข้อเสนอทั้ง 2 ประเด็นนี้ กระทบกับพรรคประชาชาติค่อนข้างมาก แม้ตำแหน่งประธานสภาจะมีเกียรติและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยสูงสุดของประเทศ
แต่การรับตำแหน่งประธานสภา ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าพรรคประชาชาติต้องเสียโควต้ารัฐมนตรีไปหรือไม่ และยิ่งไปกว่านั้น หาก นายวันมูหะมัดนอร์ รับเป็นประธานสภา จะไม่สามารถลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อให้ผู้สมัครลำดับ 3 เลื่อนลำดับขึ้นมาเป็น ส.ส.ได้
พลิกดูรายชื่อในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาชาติ ได้เป็น ส.ส. 2 คน คือ นายวันมูหะมัดนอร์ ลำดับที่ 1 และ พ.ต.อ.ทวี เลขาธิการพรรค ลำดับที่ 2 ส่วนลำดับที่ 3 นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ไม่ได้เป็น ส.ส.
นายสมบูรณ์เป็นใคร สำคัญกับพรรคประชาชาติขนาดไหน ลองย้อนดูปูมประวัติและการงานที่ทำในระยะหลังได้ ก็จะทราบเป็นอย่างดี
ฉะนั้นเรื่องนี้จึงตัดสินใจยากอย่างยิ่ง แม้หัวหน้าพรรคประชาชาติจะมีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์ทางการเมืองก็ตาม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็น ส.ส.มาแล้ว 9 สมัย เคยเป็นประธานสภามาแล้ว 1 สมัย และเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือรัฐบาลพรรคความหวังใหม่ เมื่อปี 2539 ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ ถือเป็นประธานสภาที่เป็นมุสลิมคนแรกของประเทศไทย และปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
ที่สำคัญ ในปี 2540 พล.อ.ชวลิต ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้านในขณะนั้น พลิกขั้วกลับมาเป็นรัฐบาล แต่ นายวันมูหะมัดนอร์ ก็ยังทำหน้าที่ประธานสภาต่อไป ทั้งๆ ที่พรรคความหวังใหม่ที่ตนสังกัด ไม่ได้เป็นแกนนำรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว กลายเป็นฝ่ายค้านแทน สะท้อนว่านายวันมูหะมัดนอร์ ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ไม่มีข้อครหา สมดังบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ว่า “ประธานรัฐสภาต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่” (รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อยู่ในมาตรา 80)
ล่าสุด 2 ก.ค. ในการพบปะกันของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งสุดท้ายก่อนมีรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาในวันรุ่งขึ้น การเจรจาเรื่องตำแหน่งประธานสภาระหว่าง 2 พรรคแกนนำ อย่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยยังหาจุดลงตัวไม่ได้ ทำให้มีการพูดถึงเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาชาติขึ้นมา ทั้งเรื่องตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 2 และการให้นายวันมูหะมัดนอร์ ผ่าทางตัน นั่งเก้าอี้ประธานสภา เพื่อยุติปัญหาทั้งมวล
ข่าวการให้หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็น “ประธานสภาคนกลาง” มีหลายฝ่ายออกมาปฏิเสธแล้วว่าเป็นเพียงข่าวปล่อย แต่เงื่อนไขเกี่ยวกับพรรคประชาชาติก็ยังเป็นที่พูดถึงกันอยู่ เพราะการตัดสินใจใดๆ อาจกระทบกับ “สิทธิอันชอบธรรม” ของพรรคประชาชาติในฐานะพรรคอันดับ 3 ในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวที่พรรคก้าวไกล ในวันที่ 2 ก.ค. โดยประกาศจุดยืน “เสียสละ” พร้อมยอมทุกเงื่อนไข ขอเพียงให้ตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยได้เท่านั้น
“พรรคประชาชาติไม่มีเงื่อนไขใดๆ และต้องการให้ 8 พรรคร่วมฯ จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จึงยินดีเสียสละเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยสำเร็จโดยเร็ว และหวังว่าทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ 40 กว่าชั่วโมงขณะนี้ สร้างชัยชนะให้ประชาชน ในการได้รัฐบาลประชาธิปไตยได้ เพื่อไม่ให้โอกาสตกไปกับฝ่ายที่รออยู่”
“ประเทศเสียเวลาไป 8-9 ปี เพื่อรอประชาธิปไตยกลับสู่ประชาชน จึงหวังว่า ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จะเข้าใจ เพื่อให้ชัยชนะเป็นของประชาชนที่รอคอยรัฐบาลใหม่อยู่ ซึ่งหากทำพลาด ประชาชนที่ยังเชียร์อยู่อาจจะไม่ให้อภัยในความผิดหวังครั้งนี้”