“ศรีสุวรรณ” ไม่แผ่ว! เตรียมยื่นหลักฐานเพิ่มให้ กกต.ไต่สวนปม “ประชามติแยกใต้” จันทร์นี้ หลังส่งคำร้องเอาผิด 3 พรรคการเมืองร่วมกิจกรรมสัมมนา “เอกราชปาตานี” มั่นใจเอาผิดได้ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง
นายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะประชาชนผู้รักชาติ รักแผ่นดิน กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า วันจันทร์ที่ 26 มิ.ย.นี้ หรือภายในสัปดาห์หน้า จะเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นหลักฐานเพิ่มเติม เอาผิดพรรคการเมืองที่ร่วมกิจกรรมประชามติแบ่งแยกดินแดน ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตนได้ไปยื่นคำร้องให้ กกต.ไต่สวนเรื่องนี้แล้ว
สำหรับการยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้เอาผิดกับพรรคการเมือง 3 พรรค สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2566 ได้มีการจัดกิจกรรมเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ซึ่งภายในงานปรากฏว่า มีกิจกรรมรณรงค์และทำประชามติจำลองเกี่ยวกับการแบ่งแยกรัฐปัตตานี ให้เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ปรากฏว่ากิจกรรมดังกล่าว ถูกแม่ทัพภาคที่ 4 และเลขาธิการ สมช.ออกมาแถลงว่าเข้าข่ายกระทำความผิดตามกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กระทบต่อความมั่นคง และมีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังการจัดกิจกรรม
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลายคนรับทราบมาโดยตลอดว่า มีพรรคการเมือง ซึ่งไม่จำเป็นต้องระบุชื่อ เกี่ยวข้องด้วย โดยปรากฏตามพฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายสนับสนุนการกระทำดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของ กกต. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 โดยเฉพาะในมาตรา 22 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องรีบดำเนินการแจ้งให้พรรคการเมือง หรือผู้บริหารพรรคการเมืองยุติการกระทำดังกล่าว และเมื่อตรวจสอบ วินิจฉัยว่าความปรากฏตามข้อเท็จจริง ก็สามารถเสนอศาลรัฐธรรมนูญได้ต่อไป
@@ ย้อนบทบาท “พี่ศรี” ลุยเอาผิด “อาญา-การเมือง”
การเดินหน้า “จัดหนัก” ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับกิจกรรม “ประชามติเอกราช” ทั้งตัวบุคคลและ “กลุ่มการเมือง” ย่อมส่งผลต่อสถานการณ์การเมืองในช่วงไคลแม็กซ์ เข้าไต้เข้าไฟ ทั้งการเลือกประธานสภา และการเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะการเขี่ยลูกครั้งนี้ จะไปสอดรับกับคดีที่เปิดเอาไว้แล้ว ทั้งในส่วนของ “คดีอาญา” และ “คดีการเมือง” ที่มีการแจ้งและส่งหลักฐานกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบไปก่อนแล้ว
คดีอาญา “พี่ศรี” ศรีสุวรรณ จรรยา จากองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หรือ บช.ก. เอาไว้แล้ว โดยตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญาเอาไว้หลายมาตรา
มาตรา 113 - กบฏ (โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต)
มาตรา 114 - ตระเตรียมก่อกบฏ (โทษจำคุก 3-15 ปี)
มาตรา 116 - ยุยงปลุกปั่น (โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี)
มาตรา 119 - กระทำการให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป (โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต)
คดีการเมือง “พี่ศรี” ไปยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ไต่สวนความผิดพรรคการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรม “ประชามติเอกราชปาตานี” โดยชี้ช่องเอาไว้หลายมาตรา ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
มาตรา 22 กรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่ละเลย ไม่ควบคุมกำกับดูแลสมาชิก ปล่อยให้กระทำการฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
**กกต.มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้
มาตรา 92 พรรคการเมืองที่มีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
**กกต.ชงเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้ - ลามตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค
นี่คือผลสะเทือนทางการเมือง ไม่ว่าสุดท้ายปลายทางพรรคจะถูกยุบหรือไม่ เพราะ
-พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีอย่างน้อย 3 พรรค ล้วนเป็น “พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล” ทั้งสิ้น
-แม้คดียุบพรรคจะยังไม่ยุติ แต่ ส.ว.จะใช้เป็นข้ออ้างไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกฯจากพรรคก้าวไกล
-ถึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่คดีจะติดตัว เป็นชะนักติดหลังพรรคนั้นต่อไป ทำให้ไม่มีความแน่นอนทางการเมือง เพราะถ้าพรรคถูกยุบ จะมีการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค อาจทำให้เสียง ส.ส.ในสภาเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการสลับขั้วการเมืองได้เหมือนกัน
@@ จับตา กอ.รมน.เขี่ยลูกหวังผลการเมือง?
มีประเด็นน่าสังเกตอยู่ 2 ประเด็น ว่าเรื่อง “ประชามติเอกราช” จะส่งผลสะเทือนอย่างแรงในทางการเมือง
ประเด็นแรก หลักฐานที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รวบรวมเอาไว้ ไม่ได้มีเฉพาะหลักฐานในวันสัมมนาและจำลองทำประชามติ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ซึ่งพรรคก้าวไกลลอยตัว เพราะคนของพรรคไม่ได้ไปร่วม แม้จะได้รับเชิญและมีภาพประชาสัมพันธ์ในโปสเตอร์ของงานก็ตาม
แต่หลักฐานที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เก็บรวบรวมเอาไว้ มีย้อนไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน และการปราศรัยหาเสียง ประกาศนโยบายของพรรคการเมืองช่วงก่อนเลือกตั้งด้วย ซึ่งหลักฐานพวกนี้อาจพันไปถึงพรรคก้าวไกล ที่คิดว่าจะลอยตัว อาจไม่ลอยตัว และพรรคที่หาเสียงอย่างร้อนแรงเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ ล้วนเป็นพรรคที่อยู่ในกลุ่ม “8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล” ทั้งสิ้น
ประเด็นที่ 2 กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า น่าจะมีหลักฐานในมือครบถ้วนนานแล้ว แต่เพิ่งไปแจ้งความดำเนินคดี โดยอ้างเรื่องความรอบคอบรัดกุม
แต่ในทางการเมือง ทำให้มีการคาดเดาและวิเคราะห์กันว่า อาจเป็นการดึงเกม รอเวลา ให้คดีมีความชัดเจนในช่วงใกล้ๆ โหวตเลือกประธานสภา และโหวตเลือกนายกฯ เพื่อหวังผลทางการเมืองบางอย่างหรือไม่
ผลทางการเมืองจึงสะเทือนแรง จึงไม่แปลกที่พรรคที่อยู่ในข่ายถูกสอย ถูกเล่นงาน จะออกอาการ และเรียงหน้าโต้กันรายวัน