การขอความร่วมมือประชาชน ซึ่งพูดให้ตรงจุดคือ “พี่น้องไทยพุทธ” ไม่ให้เข้าไปหาของป่าและล่าสัตว์ในช่วงนี้ หลังจากมีเหตุยิงชาวบ้านหาของป่า 2 เหตุการณ์ใน 3 วัน คือ วันที่ 17 มิ.ย. กับ 20 มิ.ย.66 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บอีกหลายราย ซึ่งเป็นพี่น้องไทยพุทธทั้งหมดนั้น
มีคำถามว่า การขอความร่วมมือในลักษณะนี้ แก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ และการที่ฝ่ายความมั่นคง โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เตรียมเปิดปฏิบัติการในพื้นที่ป่าเขา เพราะเชื่อว่ามีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงซ่อนตัวอยู่ (ซึ่งจริงๆ ก็ซุ่มซ่อน ตั้งฐาน ตั้ง support site กันมานานแล้ว) และเป็นที่มาของการ “ยิงชาวบ้านหาของป่า” จะทำให้เกิดสถานการณ์อะไรตามมา
หนึ่ง การขอความร่วมมือไม่ให้ชาวบ้านหาของป่า หรือล่าสัตว์ แทบเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ เนื่องจากเป็นอาชีพของคนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อยางพาราราคาตกต่ำ ทำให้รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย หลายคนจึงต้องเข้าป่าเพื่อเก็บของป่าขาย และล่าสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ที่พี่น้องมุสลิมไม่อยากยุ่ง อย่างเช่น หมูป่า นำมาชำแหละขายบ้าง นำมาทำอาหารรับประทานบ้าง
ด้วยเหตุนี้ “ป่า” จึงเป็นแหล่งสร้างรายได้ เป็นอาชีพของคนจำนวนหนึ่ง การขอความร่วมมืองดหาของป่า จึงเป็นไปไม่ได้
สอง การเตรียมเปิดปฏิบัติการในพื้นที่ป่าเขาของฝ่ายความมั่นคง จะเกิดการยิงปะทะและวิสามัญฆาตกรรมตามมา จากนั้นอาจมีการแก้แค้นของฝ่ายก่อความไม่สงบ และเป้าหมายก็หนีไม่พ้น “เป้าหมายอ่อนแอ” เช่น ชาวบ้านไทยพุทธ คนแก่ตามชุมชน หรือแม้แต่ชาวบ้านที่ยังจำเป็นต้องเข้าไปหาของป่าอยู่นั่นเอง กลายเป็นปัญหาวนไปวนมาไม่รู้จบ
สถานการณ์คล้ายๆ กันนี้ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว คือ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.65 มีเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงประชาชนหาของป่าเสียชีวิต 2 ราย ในพื้นที่ ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
ต่อมาวันที่ 5 ส.ค. มีเพจเฟซบุ๊คที่อ้างว่าเป็นเพจของกลุ่มขบวนการ BRN ออกมาโพสต์ข้อความ “ขอความร่วมมือหน่วยกำลังภาคประชาชน งดเว้นล่าสัตว์หรือลาดตระเวนในพื้นที่ชาวมลายูมุสลิม เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ”
ครั้งนั้นฝ่ายที่ห้ามชาวบ้านเข้าไปหาของป่า คือฝ่ายที่อ้างว่าเป็น “บีอาร์เอ็น” หรือกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวใช้ความรุนแรงอยู่ในพื้นที่นั่นเอง
แต่ครั้งนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ออกแถลงการณ์ว่า คำเตือนของบีอาร์เอ็น ไม่ใช่เรื่องจริง และยังระบุว่าการหาของป่า ล่าสัตว์ของคนไทยพุทธ เป็นวิถีชีวิตปกติ ไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งกับพี่น้องมุสลิม และไม่ได้เป็น “กองกำลังภาคประชาชาชน” ตามคำกล่าวอ้างของเพจบีอาร์เอ็น ซึ่งฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าเป็น “เพจอวตาร”
น่าแปลกหรือไม่ที่วันนี้ ผ่านมา 10 เดือน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กลับเป็นฝ่ายที่แจ้งเตือนชาวบ้านในพื้นที่ว่า “งดเข้าป่า” เสียเอง ทั้งๆ ที่เคยอ้างว่าเป็นวิถีชีวิตปกติที่ไม่เคยมีปัญหาใดๆ
@@ พรานป่า-ชาวบ้านหาของป่า เป้าถูกฆ่าหมู่
จริงๆ แล้วชาวบ้านหาของป่า และกลุ่มพรานป่า เคยตกเป็นเป้าความรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง ตลอด 19 ปีไฟใต้ บางครั้งเป็นความสูญเสียขนาดใหญ่
เช่น เมื่อปี 54 มีการวางระเบิดรถของกลุ่มพรานป่า ใน อ.ยะหา จ.ยะลา จนรถขาดสองท่อน มีผู้เสียชีวิตถึง 9 รายในคราวเดียว บาดเจ็บอีก 2 ราย
ก่อนหน้านั้นในปี 53 มีคนร้ายซุ่มโจมตีกลุ่มพรานป่า เสียชีวิตอีก 6 ราย ในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
นี่คือความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นกับพรานป่า และชาวบ้านไทยพุทธที่ออกล่าสัตว์ จนเกิดความหวาดกลัวไปทั่ว มีพรานป่า หรือชาวบ้านที่ไปหาของป่าเสียชีวิตไปแล้วหลายสิบศพ อาจจะถึงกว่าครึ่งร้อย
3 ธ.ค.64 ชาวบ้าน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ถูกยิงเสียชีวิตขณะออกหาของป่า ทั้งๆ ที่ไปกันถึง 7 คน โดย 1 คนเสียชีวิต อีก 6 คนพยายามยิงสู้กับคนร้าย จึงรอดออกมาได้ เวลาผ่านมาอีกเป็นปี ที่ อ.ศรีสาครยังแทบไม่มีใครกล้าเข้าป่าไปหาของป่าอีก กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจระดับครัวเรือนที่กระทบถึงชาวบ้าน
@@ ปลุกระดม สร้างหวาดระแวง รัฐแก้ไม่ตก
ข้อมูลที่ทีมข่าวตรวจสอบได้เพิ่มเติมก็คือ ในอดีตการหาของป่าหรือล่าสัตว์ของคนพุทธในพื้นที่มุสลิมนั้น ไม่เคยมีปัญหา เนื่องจากสัตว์ป่าที่นิยมล่า คือ “หมูป่า” ซึ่งมุสลิมไม่ชอบอยู่แล้ว
แต่เมื่อมีสถานการณ์ไฟใต้ ก็มีการอ้างว่าคนหาของป่าเป็น “สายข่าว” ให้เจ้าหน้าที่ ใช้การหาของป่าบังหน้าเพื่อสอดแนม และมีการปลุกระดมว่ามีการนำสุนัขเข้าไปนำทาง หรือดมกลิ่น ซึ่งมุสลิมจะไม่จับสุนัข ทำให้เกิดความเกลียดชัง หวาดระแวง จากนั้นก็เกิดการฆ่าสังหารหลายครั้ง
และ “พรานป่า” ทั้ง “พรานอาชีพ” และ “พรานสมัครเล่น” ตลอดจน “ชาวบ้านหาของป่า” ก็ยังคงตกเป็นเป้าความรุนแรง โดยที่ฝ่ายความมั่นคงก็ยังแก้ปัญหาไม่ตกต่อไป