แม่ทัพภาค 4 เชื่อการทำประชามติแบ่งแยกดินแดนของนักศึกษา มีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง เผยรวบรวมหลักฐานได้มากพอสมควร เชื่อมโยงถึงกลุ่มไหนก็ดำเนินการให้ถึงจุดนั้น พร้อมเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน เยาวชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน
พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องที่จัดกิจกรรม “ประชามติเอกราชปาตานี” ว่า ขณะนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ ได้มากพอสมควร ซึ่งการดำเนินการนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะทำให้ดีที่สุด เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินการกับกลุ่มบุคคลหรือทีมงานต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังได้ เพราะการที่นักศึกษาออกมาพูด ก็คาดว่าต้องมีผู้ที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเยาวชนอาจจะหลงผิดไปบ้าง จึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
“การรวบรวมข้อมูลต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดความรัดกุม รอบคอบ มั่นใจอย่างที่บอกว่าไม่ใช่แค่นักศึกษา ต้องมีมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอะไรก็ตามที่มีความเชื่อมโยง หลักฐานถึงไหน ทางเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงก็จะดำเนินการให้ถึงจุดๆ นั้นให้ได้ เพราะคนไทยกว่า 70 ล้านคนจับตาดูอยู่ หากมีการสัมมนาต้องการจะแบ่งแยกทุกภาคของประเทศไทยคงเป็นไปไม่ได้” แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
และว่าเรื่องการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ ขณะนี้กำลังดำเนินการให้ครอบคลุมอย่างเร่งด่วน
พล.ท.ศานติ บอกด้วยว่า การก่อเหตุรุนแรงกับคนพุทธในห้วง 2-3 วันที่ผ่านมา (ยิงชาวบ้านหาของป่า) นั้น ตนได้ลงพื้นที่พร้อมสอบถามถึงเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อหาสาเหตุและรีบแก้ไข พร้อมทั้งได้มีการเน้นย้ำกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้เพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น
@@ “ฐิติวุฒิ” ชงผ่าทางตัน “ประชามติดับไฟใต้”
รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอว่า เรื่อง “ประชามติเอกราช” หรือ “ประชามติแยกดินแดน” เป็นประเด็นอ่อนไหวและสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายตามที่หลายฝ่ายออกมาระบุ แต่การขับเคลื่อนเรื่องประชามติ ยังสามารถกระทำได้ และอาจเป็น “ทางออก” สำหรับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
นั่นก็คือ “การลงประชามติรับรองแผนกระบวนการสันติภาพ” ซึ่งจะเกิดขึ้นจาก “โต๊ะเจรจา” ที่ทุกฝ่ายซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งมีส่วนร่วมอีกทีหนึ่ง
ความหมายก็คือ “โต๊ะเจรจา” ต้องเป็นกระบวนการที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันเป็นแผนกระบวนการสันติภาพแล้ว ก็เปิดให้ทำประชามติ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างแท้จริง
แต่สิ่งที่ยากและท้าทายก็คือ ประชาชนต้องเข้าใจแผนสันติภาพอย่างละเอียด และต้องรู้ว่าตัวเองได้หรือสูญเสียอะไร เพราะหากไม่เข้าใจ จะกลายเป็นกรณีแบบโคลัมเบีย คือฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านยอมรับกระบวนการสันติภาพ แต่ฝ่ายประชาชนลงประชามติปฏิเสธแผนสันติภาพ ซึ่งจะทำให้กระบวนการทั้งหมดย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น