“ทวี สอดส่อง” ดับร้อน “ประชามติเอกราช” ลุยนราธิวาสเปิดเวทีรับฟังความเห็น “องค์กรพุทธชายแดนใต้” พี่น้องพุทธดีใจหนุนประชาชาตินั่งเก้าอี้รัฐมนตรีดับไฟความรุนแรง เสนอตั้งคณะทำงานดูแลกลุ่มคนพุทธปลายด้ามขวาน พร้อมจี้ฝ่ายความมั่นคงอัพเดตรายชื่อกลุ่มก่อความไม่สงบ ยอมรับตกใจมีการทำประชามติจำลอง
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.พัฒนวุฒิ อังคะนาวิน, นายธนาวิทย์ ไชยานุพงศ์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาชาติ เดินทางไปร่วมรับประทานอาหารเที่ยงที่วัดพรหมนิวาส ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น พร้อมร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้กับ “ผู้แทนองค์กรพุทธ” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอ จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี
บรรยากาศการพูดคุย ผู้แทนองค์กรพุทธกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า มีความดีใจที่พรรคประชาชาติเป็นพรรคการเมืองแรกลงมาพบองค์กรพุทธ หลังได้สนทนากันรู้สึกว่าทางพรรคมีความเข้าใจปัญหา และอยากร่วมทำงานกับพรรคประชาชาติ
นอกจากนี้ ยังเสนอให้พรรคประชาชาติตั้งคณะทำงาน 1 ชุดเพื่อพัฒนาความมั่นคงของพี่น้องไทยพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ตรวจสอบรายชื่อกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือกลุ่มก่อความไม่สงบที่หลบหนีตามบัญชีรายชื่อของหน่วยความมั่นคงที่มีอยู่ ให้ตรงกับปัจจุบัน (อัพเดตรายชื่อผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเสียใหม่) เพราะน้ำตาไม่ว่าของพุทธหรือมุสลิม เวลาร้องไห้ก็เหมือนกันหมด พบความลำบากเหมือนกัน
ผู้แทนองค์กรพุทธชายแดนใต้ ยังกล่าวถึงกิจกรรมการทำ “ประชามติจำลอง” สอบถามความเห็นเรื่องการทำประชามติเอกราชปาตานีให้ถูกกฎหมายด้วย โดยบอกว่า รู้สึกตกใจที่มีการจัดกิจกรรมแบบนี้ แต่ก็ยังตั้งความหวังกับพรรคประชาชาติที่จะมาแก้ปัญหาในภาคใต้ให้กับทุกคนได้ โดยขอให้พรรคประชาชาติได้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงที่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวในวงพูดคุยว่า ทุกพรรคจะส่งคนลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนจริงๆ ซึ่งคณะทำงานชุดใหญ่ (คณะทำงานสนองตอบปัญหาของประชาชน เรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) น่าจะมีการประชุมอีก 1-2 ครั้ง แล้วน่าจะนำคณะชุดใหญ่ลงมารับฟังในพื้นที่
“พรรคประชาชาติ ถ้าไม่แก้ปัญหาภาคใต้ แล้วไปแก้ปัญหาที่อื่น ก็ไม่ต้องมีพรรคประชาชาติ เราเชื่อว่าเราจะตั้งรัฐบาลได้ และผลักดันนโยบายที่รับปากกับประชาชน ไม่ว่าทางด้านเศรษฐ์กิจ การศึกษา สร้างความเจริญให้พื้นที่ต่างๆ ไม่ได้สร้างเฉพาะคนภาคใต้ ต้องสร้างให้คนทั้งประเทศ ในแง่ของศาสนา ต้องเรียนว่าคนพุทธต้องอยู่ได้ พระต้องอยู่ได้ วัดต้องอยู่ได้ ต้องอยู่ได้อย่างได้รับเกียรติ เช่นเดียวกับคนมุสลิมที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสามจังหวัด แต่คนมุสลิมจะต้องอยู่ในประเทศไทยได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน” เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ
ด้านเจ้าอาวาดวัดยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าวว่า เรื่องภาคใต้ ไม่มีเรื่องไหนสำคัญกว่าปัญหาความไม่สงบ และเชื่อว่าพรรคประชาชาติรู้ปัญหาดี สมมุติว่าพรรคประชาชาติได้เป็นรัฐบาล สมมุติว่าท่านทวีได้เป็นรัฐมนตรี อยากให้เป็นรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ในการแก้ปัญหาภาคใต้โดยตรง
“คนที่อยู่ในพื้นที่และเข้าใจปัญหาดีจะรู้ว่าจะต้องแก้อย่างไร เพราะถ้าท่านไปเป็นรัฐมนตรีเกษตร ใครก็เป็นได้ในประเทศนี้ และบางทีคนที่จะมาแก้ปัญหาในระดับนโยบายเรื่องภาคใต้ เกือบ 20 ปีมีคนบาดเจ็บ มีความเจ็บปวด ทุกคนอยากให้ปัญหานี้มันยุติไปในทางที่ควรจะเป็น อยากให้ ส.ส.ทุกคนที่เข้าไปในสภาอย่าไปคิดว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่มาร่วมคิดแก้ปัญหา เพราะปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาชาติ ไม่ใช่ปัญหาของพุทธ มุสลิม ไม่ใช่ปัญหาของใครเลย แต่มันเป็นปัญหาของพวกเราทั้งประเทศ และกระบวนการแก้ปัญหาโดยวิธีการแสวงหาทางออกทางการเมือง เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ขอให้กำลังใจ อยากให้มีรัฐบาลแก้ปัญหานี้ได้จริง” เจ้าอาวาสวัดยะหริ่ง กล่าว
@@ เปิดเวทีรับฟัง “องค์กรพุทธ” ดับร้อนประชามติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ผ่านมาพรรคประชาชาติถูกจับโยงกับกิจกรรม “ประชามติเอกราชปาตานี” เพราะมีบุคคลระดับรองหัวหน้าพรรคไปร่วมงานสัมนาที่ ม.อ.ปัตตานี ด้วย เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาทางพรรคก็ยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน แต่ก็ยังมีความพยายามจากบางฝ่ายไปยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบพฤติกรรมของพรรค
แต่การลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ พ.ต.อ.ทวี และคณะ โดยได้พบกับผู้แทนองค์พุทธชายแดนใต้ ทำให้ภาพลักษณ์และแรงกดดันที่มีต่อพรรคลดน้อยลง เพราะนับเป็นพรรคการเมืองแรกที่เปิดเวทีรับฟังพี่น้องชาวพุทธในพื้นที่ ตั้งแต่หลังเลือกตั้งเป็นต้นมา และทางพรรค โดยเฉพาะ พ.ต.อ.ทวี ก็ร่วมกิจกรรมกับพี่น้องไทยพุทธอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด
@@ ย้อนสำรวจท่าที 3 พรรคถูกโยง “ประชามติแยกใต้”
กิจกรรมประชามติจำลอง “เอกราชปาตานี” ของบรรดาขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ กลายเป็นเรื่องการเมืองแบบเต็มพิกัด เมื่อ “พี่ศรี” นายศรีสุวรรณ จรรยา จากองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เดินทางไปยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ไต่สวนเอาผิดพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ว่านี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา
แม้ “พี่ศรี” จะไม่ได้พูดชัดว่าพรรคการเมืองที่ไปยื่นให้ กกต.ไต่สวนความเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันกับกิจกรรม “ประชามติแยกดินแดน” มีพรรคใดบ้าง แต่เป็นที่รู้กันว่า เชื่อมโยงถึง 3 พราค ซึ่งตลอดเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ละพรรคแสดงท่าทีต่างกัน
1.พรรคก้าวไกล - ออกแนวลอยตัว เพราะ นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ซึ่งมีภาพในโปสเตอร์ รับเชิญเป็นวิทยากรหลัก กลับไม่ได้ไปร่วมงาน ทำให้พรรคโล่ง
ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็รีบตอกย้ำทันทีเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.66 (งานสัมนาจัดตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.) ว่าไม่มีคนของพรรคไปร่วมกิจกรรม และพรรคยึดมั่นแนวทาง “รัฐเดี่ยว” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ไม่มีแบ่งแยก
2.พรรคประชาชาติ - ผศ.วรวิทย์ บารู รองหัวหน้าพรรค ที่ไปปรากฏตัวร่วมกิจกรรม ยืนยันว่า ไปพูดเชิงวิชาการ ไม่ได้สนับสนุนให้ทำประชามติแยกดินแดน และไม่ได้ร่วมกิจกรรมทดลองทำประชามติ เนื่องจากไปคนละเวลา
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ชี้แจงว่า พรรคแค่ได้รับเชิญไปร่วมงาน ไม่ได้เป็นผู้จัดงานนี้
“อาจารย์วันนอร์” นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค ยืนยันว่าพรรคไม่สนับสนุนการทำประชามติแยกดินแดน ไม่ว่าจะทำแบบจำลอง หรือทำจริงก็ตาม
3.พรรคเป็นธรรม - หัวหน้าพรรค นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ และ เลขาธิการพรรค นายกัณวีร์ สืบแสง ออกมาประสานเสียง ไม่สนับสนุนประชามติแยกดินแดน
แต่แกนนำพรรคจากชายแดนใต้ แสดงอาการไม่พอใจท่าทีของแกนนำพรรคในส่วนกลาง มีการแสดงความคิดเห็นตอบโต้ค่อนข้างแรง ภายหลังจึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งทางหัวหน้าพรรคเป็นธรรมก็ยืนยันกับทีมข่าวว่า จำเป็นต้องทำ มิฉะนั้นพรรคอาจถูกร้องยุบพรรคได้
โดย 2 แกนนำพรรคจากชายแดนใต้ที่ถูกปลดจากตำแหน่ง คือ นายฮากิม พงติกอ อดีตรองเลขาธิการพรรค ซึ่งไปเป็นวิทยากรในงานสัมนาประชามติเอกราช อีกคนคือ นายยามารุดดิน ทรงศิริ รองโฆษกพรรค ที่ออกมาโพสต์ท้าดีเบตกับหัวหน้าพรรคเป็นธรรม
@@ หลากทัศนะ “ประชามติแยกใต้”
นอกจากพรรคการเมืองแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวของ “บุคคลในข่าว - บุคคลในเหตุการณ์” และผู้เกี่ยวข้อง ออกมาชี้แจงด้วยเช่นกัน
- หนึ่งใน “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” ให้สัมภาษณ์เปิดใจกับ “สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง” ยืนยันว่าจัดกิจกรรม “ประชามติเอกราชปาตานี” ในเชิงวิชาการจริงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เกิดการแบ่งแยก เพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิที่กำหนดไว้ในมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ คือ Self Determination หรือ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง” ของพลเมืองในดินแดนนั้นๆ จึงเป็นเรื่องที่สามารถศึกษาได้ เพราะอาจเป็นทางออกของปัญหาความไม่สงบ และความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
- นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส 4 สมัย บิดาของประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ที่นำอ่านแถลงการณ์ กล่าวว่า ได้พบกับกลุ่มนักศึกษาที่เป็นเพื่อนของลูกชายทั้งหมดแล้ว และเด็กๆ ก็ได้ชี้แจงถึงสิ่งที่ทำลงไป ยืนยันว่าเป็นเจตนาเพื่อหาทางออกให้กับพื้นที่ หลังมีปัญหามานานเกือบ 20 ปี ยืนยันว่าทุกคนยังอยู่ในพื้นที่ ไม่ได้หนีไปไหน ตอนไปเจอกลุ่มนักศึกษา ก็ไปพบปะพูดคุยกันที่ จ.ยะลา หลังจากนี้ตัวแทนนักศึกษาจะออกแถลงการณ์เพื่อสร้างความชัดเจนว่ากิจกรรมที่ได้กระทำ เป็นเพียงการ “จำลองการทำประชามติ” ไม่ใช่การทำประชามติแยกดินแดนแล้วจริงๆ
- สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม หรือ ส.น.ท. ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยหากหน่วยงานของรัฐจะดำเนินคดีกับขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ เนื่องจากเป็นการแสดงออกถึงความคิดเห็นทางวิชาการ การพูดคุยเป็นสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และกิจกรรมการดังกล่าวนั้น ก็ได้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยโดยมีภาคส่วนวิชาการเป็นผู้คอยดูแลและให้คำปรึกษาด้วยความรัดกุมและมีสติ
- ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ควรมองเรื่องนี้เป็นเหมือน “เสียงนาฬิกาปลุกทางความมั่นคง” ว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องทำ “ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ทั้งระบบ” อย่างจริงจัง เพราะ 19 ปีที่ผ่านมา แก้ปัญหาไม่สำเร็จ